สนง.ทรัพยากรน้ำฯเร่งบริหารน้ำฤดูฝน ปรับเงื่อนไขปัจจัยเสี่ยงทุกทาง

06 มิ.ย. 2562 | 04:17 น.

รายงานข่าวจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ  เผยว่า  สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ  ในฐานะองค์กรกลางด้านน้ำของประเทศ พยายามบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพ ผ่านสมดุลน้ำ 2 ฝั่ง ทั้งฝั่งปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ (Supply) และปริมาณความต้องการ (Demand)

  สนง.ทรัพยากรน้ำฯเร่งบริหารน้ำฤดูฝน ปรับเงื่อนไขปัจจัยเสี่ยงทุกทาง               

สถานการณ์การปลูกข้าวรอบที่ 2 (นาปรัง) ในฤดูแล้งที่ผ่านมา (1 พฤศจิกายน 2561-30 เมษายน 2562) ยังเป็นจุดที่ สทนช. ต้องกลับไปทบทวนกรณีมีการใช้น้ำเกินไปจากแผนจัดสรรน้ำ

               

ตัวเลขของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร รายงานเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2562 ว่า พื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทานทั้งประเทศ 8.76 ล้านไร่ จากแผน 8.03 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 2.69 ล้านไร่ จากแผน 3.18 ล้านไร่

               

เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปลูกข้าวในเขตชลประทาน 5.86 ล้านไร่ จากแผน 5.30 ล้านไร่ และ
ปลูกนอกเขตชลประทาน 1.68  ล้านไร่ จากแผน 1.88 ล้านไร่

 

โดยสรุป คือ ปลูกข้าวเกินจากแผนในเขตชลประทาน 36 จังหวัด จำนวน 1.32 ล้านไร่ และปลูกข้าวเกินแผนนอกเขตฯ 10 จังหวัด 0.15 ล้านไร่  

               

นอกจากนั้น ยังมีการเริ่มปลูกข้าวรอบที่ 1 (นาปี) ในเขตฯ 7 จังหวัดอีก  0.18 ล้านไร่

    สนง.ทรัพยากรน้ำฯเร่งบริหารน้ำฤดูฝน ปรับเงื่อนไขปัจจัยเสี่ยงทุกทาง             

พื้นที่ส่วนเกินในเขตชลประทานนี้เอง ที่ทำให้สมการน้ำไม่สมดุลลงตัว ทำให้น้ำต้นทุนในเขื่อน
หดหายไปมาก อาจมีผลกระทบต้นฤดูนาปีหรือ นารอบที่ 1 กรณีเกิดฝนทิ้งช่วง

               

นี่เอง ทำให้ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. จึงต้องขอให้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการข้าวตรวจสอบพื้นที่ปลูกข้าวนาปี และสร้างความเข้าใจในพื้นที่ปลูกข้าวก่อนกำหนดที่อาจได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง

                       

พร้อมกับขอความร่วมมือกรมการฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงกรกฎาคมที่ฝนอาจทิ้งช่วง

               

ดังนั้น แผนการปลูกข้าวนาปีในช่วงฤดูฝน (1 พฤษภาคม -30 ตุลาคม2562) ที่กรมการข้าวระบุว่า
มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีในเขตฯ 58.99 ล้านไร่ จึงมีข้อสังเกตจากเลขาธิการ สทนช. ให้หน่วยงานรับผิดชอบบริหารจัดการแหล่งน้ำจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ โดยให้ระบุขอบเขตพื้นที่จัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรให้ชัดเจน เพื่อสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรป้องกันปัญหาความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ

 

เป็นการปรับแก้สมการในการบริหารจัดการน้ำที่ผิดไปจากแผนในฤดูแล้งที่ผ่านมานั่นเอง

สนง.ทรัพยากรน้ำฯเร่งบริหารน้ำฤดูฝน ปรับเงื่อนไขปัจจัยเสี่ยงทุกทาง

สิ่งที่เป็นกังวลของการทำนาปีรอบนี้คือฝนมีแนวโน้มทิ้งช่วงในเดือนกรกฎาคม กระทบทั้งเกษตรกรที่ทำนาปีตามฤดู

 

ฝนทิ้งช่วง น้ำต้นทุนก็น้อย โอกาสข้าวเสียหายก็มากตาม

 

ฝนตกกันช่วงนี้จึงหลงเพลิดเพลินไม่ได้ กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนมาแล้วว่า 3 เดือนแรกของฤดู (พฤษภาคม-กรกฎาคม) ฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะตอนกลางของประเทศ และยังมีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งในบางพื้นที่ของ จ.เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย แพร่ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร ตาก นครราชสีมา บุรีรัมย์ ราชบุรี ชลบุรี และเพชรบุรี 

 

ในขณะที่สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์สมดุลน้ำล่วงหน้าว่า ภาคอีสานเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำมากที่สุดของประเทศ 10 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย หนองบัวลำภู และอุดรธานี ซึ่งก็สอดคล้องกับปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางของภาคอีสาน ที่ส่วนใหญ่มีน้ำต่ำกว่า 30% ของความจุเมื่อสิ้นฤดูแล้ง

 

รวมทั้งตรงกับข้อเสนอใช้งบกลางปี 2562 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเร็วๆ นี้ ในการพัฒนาแหล่งน้ำ เพี่มปริมาณน้ำ และฝายชะลอน้ำ โดยหวังเก็บน้ำท่าฤดูฝนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ รองรับโจทย์ใหญ่ขาดแคลนน้ำที่รออยู่เบื้องหน้า