‘ไทย’ประกาศจุดยืนต้านประมงผิดกฎหมาย

05 มิ.ย. 2562 | 06:15 น.

ไทยโชว์ศักยภาพปลดใบเหลืองสำเร็จ ยังแสดงศักยภาพความยิ่งใหญ่ผนึกอาเซียน-ญี่ปุ่น ต้านประมงผิดกฎหมาย เล็งอนาคตป้องกันปัญหาด้านทรัพยากร เศรษฐกิจ และสังคมทางทะเล ชูภาพลักษณ์ทีดีต่ออุตสาหกรรมประมงก้าวไปสู่ระดับสากล

 

‘ไทย’ประกาศจุดยืนต้านประมงผิดกฎหมาย

วันที่ 5 มิ.ย.62  พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันสากลในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม International Day for the Fight Against Illegal, Unreported and Unregulated Fishing หรือ IUU DAY กล่าวว่า จากการที่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (The United Nations General Assembly) ได้ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี  เป็นวันสากลในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ  IUU DAY  นับเป็นเกียรติของประเทศไทยอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ในการเป็นเจ้าภาพจัดงานในครั้งนี้  ซึ่งในโอกาสนี้ประเทศไทยจะได้ประกาศความสำเร็จในการขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หลังจากที่ได้

‘ไทย’ประกาศจุดยืนต้านประมงผิดกฎหมาย

“ยืนหยัดในการต่อต้านการทำประมงแบบ IUU อย่างเต็มความสามารถมาตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี จนสามารถพัฒนากลไกเพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ  พร้อมแสดงบทบาทและความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ในการดำเนินการตามกฎระเบียบสากล และสามารถปลดใบเหลืองการทำประมง IUU ได้สำเร็จเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา” 

‘ไทย’ประกาศจุดยืนต้านประมงผิดกฎหมาย
ปัจจุบันไทยได้ผลักดันการแก้ไขปัญหา IUU ของประเทศจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ อาทิ การผลักดันนโยบายประมงร่วมอาเซียน (ASEAN General Fisheries Policy) การเข้าร่วมเป็นภาคีความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น ข้อตกลงว่าด้วยการปฏิบัติตามบทบัญญัติของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการบริหารจัดการมวลปลาที่ย้ายถิ่น (UNFSA)  ข้อตกลงตามมาตรการของรัฐเจ้าท่า (PSM) ข้อตกลงว่าด้วยการทำประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (SIOFA)  รวมถึงการลงนามความร่วมมือในการต่อต้านปัญหาการทำประมง IUU กับประเทศฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น  การลงนามความร่วมมือทางด้านประมงกับประเทศเมียนมาร์ เป็นต้น

‘ไทย’ประกาศจุดยืนต้านประมงผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ ยังได้วางรากฐานการแก้ไขปัญหาการทำประมงของประเทศไปสู่การประมงอย่างยั่งยืน ทั้งด้านกฎหมาย  การบริหารจัดการทรัพยากรประมงและกองเรือ  การติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) การตรวจสอบย้อนกลับ รวมถึงด้านแรงงาน  เรียกได้ว่าไทยได้ปฏิรูปภาคการประมงทั้งระบบซึ่งเปลี่ยนแปลงจากอดีตไปอย่างสิ้นเชิง และพร้อมจับมือกับประชาคมโลกในการร่วมรักษาทรัพยากรทางทะเล และนำพาการประมงของประเทศและโลกไปสู่ความยั่งยืนเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้แก่ประชากรของโลกต่อไป

‘ไทย’ประกาศจุดยืนต้านประมงผิดกฎหมาย

ด้านนายกฤษฎา บุญราช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงาน IUU DAY มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความตระหนักถึงความพยายามในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับสากล และแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและสามารถยกระดับอุตสาหกรรมการประมงของไทยทั้งระบบให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการใช้ประโยชน์ทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน

‘ไทย’ประกาศจุดยืนต้านประมงผิดกฎหมาย

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติถือเป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขจัดปัญหา IUU ทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคมาโดยตลอด  โดยในการจัดงานครั้งนี้องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ  องค์การแรงงานระหว่างประเทศ  องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่น และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ประเทศไทย  ยังได้ร่วมกันกล่าวคำแถลงการณ์ถึงความสำคัญต่อการขจัดการทำประมง IUU และความร่วมมือในอนาคตระหว่างหน่วยงานเพื่อป้องกันปัญหาด้านทรัพยากร เศรษฐกิจ และสังคมอีกด้วย  

‘ไทย’ประกาศจุดยืนต้านประมงผิดกฎหมาย

ประเทศไทยโดยกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่เป็นเจ้าภาพการจัดงานจึงได้ใช้โอกาสนี้ในการประชาสัมพันธ์ถึงศักยภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาทั้งระดับประเทศและระดับสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ  อีกทั้งยังได้แบ่งปันประสบการณ์การแก้ไขปัญหา IUU ของประเทศในช่วงเวลาที่ผ่านมา  และยังเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในด้านการประมงซึ่งจะส่งผลต่อการค้าการลงทุนที่เกี่ยวข้องอีกด้วย