แบงก์อ่วม! รายได้การค้า-FXร่วง ค่าต๋ง วูบ

06 มิ.ย. 2562 | 07:30 น.

ธปท.ประเมินรายได้ค่าธรรมเนียมธนาคารพาณิชย์หดตัวน้อยลง จากไตรมาส 1 รายได้ติดลบ 6.1% ชี้เริ่มเห็นธุรกรรมฟรีโอนเงินทรงตัว-ค่านายหน้าแบงก์เริ่มปรับตัวได้ ด้าน“ไทยพาณิชย์”ลั่นธุรกรรมการเงินเริ่มนิ่ง แต่รายได้จากการค้า-FX ร่วงต่อ เหตุการค้าโลกชะลอกระทบยอดธุรกรรมหาย ยํ้าพยายามรักษาเป้าทั้งปีอยู่ในกรอบ 0-5% สอดคล้อง “ทีเอ็มบี” มอง แบงก์ยังเหนื่อย รายได้ค่าธรรมเนียมอื่นถูกกดต่อ แม้โอนเงินเริ่มทรงตัว

นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แนวโน้มรายได้ค่าธรรมเนียมระบบธนาคารพาณิชย์ครึ่งปีหลัง คาดว่าจะเห็นการหดตัวน้อยลงและสามารถกลับเข้าสู่ระดับปกติได้ในระยะข้างหน้า แม้ไตรมาส 1/2562 จะยังหดตัวต่อเนื่อง โดยติดลบ 6.1% จากไตรมาส 4/2561 ที่ติดลบ 3.3% ส่วนหนึ่งมาจากการปรับฐานเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่ฐานค่อนข้างสูง ทำให้เห็นการติดลบค่อนข้างลึก โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมโอนเงิน ซึ่งเป็นผลจาก Promptpay รวมถึงการยกเลิกค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางดิจิทัลใช้มาระยะหนึ่งแล้วทำให้ฐานลูกค้าค่อนข้างนิ่ง จึงทำให้รายได้เริ่มทรงตัว ขณะที่ค่าธรรมเนียมนายหน้า ธนาคารเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากนโยบายการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) มากขึ้น

อย่างไรก็ดี หากดูตัวเลขรายได้ค่าธรรมเนียมไตรมาส 1/2562 ที่ 4.84 หมื่นล้านบาท อัตราเติบโตติดลบ 6.1% นั้นการหดตัวมาจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัลและรายได้ค่าธรรมเนียมนายหน้าที่ลดลง โดยจะเห็นว่า รายได้ค่าธรรมเนียมบริการโอนเงินและเรียกเก็บเงิน มีอัตราการเติบโตติดลบ 21.4% คิดเป็นรายได้ที่ 4,986 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 4 ของปี 2561 ที่มีรายได้ที่ 5,519 ล้านบาท ขณะที่รายได้ค่านายหน้ามีอัตราการเติบโตติดลบอยู่ที่ 20.2% คิดเป็นรายได้อยู่ที่ 8,988 ล้านบาท ซึ่งปรับลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2561 ที่มีรายได้ที่ 9,259 ล้านบาท 

 

ทั้งนี้ หากดูสัดส่วนรายได้รวมของธนาคารพาณิชย์ จะเห็นว่ารายได้จากค่าธรรมเนียมมีสัดส่วนเพียง 18% และรายได้ดอกเบี้ย 70% และอื่นๆ อีก 12% ซึ่งหากดูสัดส่วนรายได้ค่าธรรม เนียมการโอนเงินมีสัดส่วนเพียง 1.9% และรายได้ค่านายหน้ามีสัดส่วน 3% ของรายได้รวมเท่านั้น จึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานและกำไร นอกจากนี้ ธนาคารเริ่มหาช่องทางบริการใหม่ๆ เพื่อหารายได้ใหม่ๆมาชดเชย เช่น การปล่อยสินเชื่อผ่านออนไลน์ (Digital Lending) แม้ในระยะสั้นจะยังไม่มีผลมากนัก แต่ในระยะยาวจะทยอยสร้างรายได้

นายอารักษ์ สุธีวงศ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิศทางรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารปีนี้ มีโอกาสทรงตัวหรือเติบโตเล็กน้อย หรืออาจจะหดตัวได้ เนื่องจากช่วงครึ่งปีหลัง มีตัวแปรค่อนข้างเยอะ ทั้งความไม่แน่นอนของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนรวมถึงการเมืองในประเทศ การจัดตั้งรัฐบาล หากสถานการณ์เหล่านี้ไม่คลี่คลาย อาจเป็นแรงกดดันต่อรายได้ค่าธรรมเนียมบางส่วนให้ปรับลดลง อย่างไรก็ดี ธนาคารพยายามรักษาให้อยู่ในกรอบเป้าหมายที่ตั้งไว้ 0-5% ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งบวกและลบ เพราะไตรมาสแรกรายได้ค่าธรรมเนียมยังลดลงอยู่

แบงก์อ่วม! รายได้การค้า-FXร่วง ค่าต๋ง วูบ

ทั้งนี้ ภาพรวมรายได้ค่าธรรมเนียม จะเห็นว่ามีทั้งในส่วนที่ปรับขึ้นและปรับลง เช่น รายได้จากธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยน (FX Fee) ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าที่กระทบการส่งออกและนำเข้าของไทย ทำให้เห็นรายได้ค่าธรรมเนียมในส่วนนี้หายไปได้ ขณะที่รายได้จากประกันและกองทุน เริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนที่ดีขึ้น คนหันมาลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนที่มากขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมรายได้จากประกันและกองทุนปรับตัวดีขึ้น ส่วนรายได้จากธุรกรรมทางการเงิน-ชำระเงิน ธนาคารเริ่มมีฐานลูกค้ามากขึ้น และเริ่มมีกิจกรรม จะเริ่มเห็นรายได้ทรงตัว

 

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics ธนาคาร ทหารไทย จำกัด(มหาชน)หรือทีเอ็มบีกล่าวว่า ธนาคารทั้งระบบยังมีแรงกดดันรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลง แต่ไตรมาส 2 จะเห็นค่าธรรมเนียมการโอนเงินหดตัวน้อยลง แต่รายได้ค่าธรรมเนียมอื่นยังหดตัวอยู่ เช่น รายได้ค่าธรรมเนียมจากการตั้งวงเงินสินเชื่อ(Credit Related Fee) เพราะจะขึ้นกับการปล่อยสินเชื่อใหม่ ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันประกอบกับทิศทางสินเชื่อปีนี้ ที่คาดว่าจะขยายตัว 4.5% จากเดิม 5.5-5.6% ทำให้รายได้จากการตั้งวงเงินจะทำได้ยากมากขึ้น

นอกจากนั้น รายได้ค่านายหน้าทั้งในส่วนของประกันและกองทุนรวมจะยังถูกแรงกระทบจากภาวะตลาดที่ไม่ค่อยดีนัก โดยไตรมาส 1 ตัวเลขประกันในส่วนของผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non Bank) เติบโตลดลง 10% เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ก็ลดลงค่อนข้างเยอะ รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ(Trade Finance)และอัตราแลกเปลี่ยน (FX) ที่ลดลงตามปริมาณการค้าโลกที่ลดลง ซึ่งจากปีก่อนที่การส่งออกนำเข้าขยายตัว 20% ปีนี้คาดว่าจะไม่เติบโตเลย 

หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3476 ระหว่างวันที่ 6-8 มิถุนายน 2562