พีบีไอซี มธ. ปรับโมเดลการเรียนรู้ ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน – ไลฟ์สไตล์ผู้เรียนยุคใหม่

03 มิ.ย. 2562 | 05:20 น.

พีบีไอซี มธ. ปรับตัวรับแนวทางการเปลี่ยนแปลงตลาดการศึกษา พร้อมสนองตอบความต้องการตลาดแรงงาน ผลักดันโมเดลการเรียนรู้ระดับโลก ผ่าน 3 หลักสูตรอินเตอร์ ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน – ไลฟ์สไตล์ผู้เรียนยุคใหม่

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับตัว รองรับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป เทรนด์การเรียนรู้แบบ “ตลาดวิชา” หรือความเข้าใจศาสตร์ที่หลากหลาย ตอบโจทย์โลกการทำงานและตรงตามความสนใจของผู้เรียน โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เปิดคณะ วิทยาลัยใหม่ๆ ที่มีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบไม่ได้มุ่งเน้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจหลากหลายศาสตร์ไปพร้อมกัน ซึ่งเทรนด์การเรียนรู้ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วในมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างประเทศ อาทิ หลักสูตรโลกและอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด หลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา โซแอส มหาวิทยาลัยลอนดอน เป็นต้น หลักสูตรเหล่านี้ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้อย่างบูรณาการ ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ของอาณาบริเวณศึกษานั้นๆ  ต่างจากการเรียนการสอนในอดีต ที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนเพียงแค่ด้านใดด้านหนึ่ง ตามสังกัดของคณะ อาจกล่าวได้ว่าการปรับตัวของธรรมศาสตร์ กำลังกลับไปสู่การเรียนรู้แบบหลากหลาย หรือ “ธรรมศาสตรบัณฑิต” อีกครั้ง ในขณะเดียวกัน ก็กำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ด้วยพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่อยู่เสมอ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิธินันท์ วิศเวศวร คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (Pridi Banomyong International College: PBIC) เป็นอีกหนึ่งในก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการปรับตัวสู่การเรียนรู้ยุคใหม่ ด้วยการเรียนการสอนแบบสหวิทยาการการเรียนรู้ เชื่อมโยงการทำความเข้าใจศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา ภาษา และวัฒนธรรม ของอาณาบริเวณศึกษา (Area Studies) ที่น่าจับตามอง ได้แก่ จีน อินเดีย และไทย  ซึ่งจัดหลักสูตร จีนศึกษา อินเดียศึกษา และไทยศึกษา เจาะลึกทั้งด้านสังคมวิทยา รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ศิลปศาสตร์ รวมถึงภาษา วัฒนธรรม และการนำข้อมูลศาสตร์ต่างๆ ด้านอาณาบริเวณศึกษามาใช้อย่างเป็นระบบ โดยหลักสูตรมุ่งเน้นการเรียนการสอนรูปแบบอาณาบริเวณศึกษาที่กำลังมาแรงทั้งจีน อินเดีย และไทย ตอบรับโอกาสการทำงานที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญรอบด้านในแต่ละอาณาบริเวณศึกษา

นอกจากนี้ การเรียนการสอนแบบที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในหลากหลายศาสตร์ ยังเป็นการสืบสานเจตนารมณ์ของอาจารย์ปรีดี ในแง่ของความต้องการผลักดันการเรียนรู้ที่หลากหลายตามความตั้งใจในการก่อตั้งมหาวิทยาลัย “ตลาดวิชา” แห่งแรกของประเทศไทย

“นอกจากนี้ยังมีความท้าทายใหม่ๆ สำหรับภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะจำนวนผู้สมัครเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง พีบีไอซี ในฐานะวิทยาลัยนานาชาติที่มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เล็งเห็นโอกาสที่จะได้ทุ่มเทงบประมาณ ทรัพยากร ความสามารถของบุคลากร เพื่อปลุกปั้นบัณฑิตทุกคนอย่างมีคุณภาพ อีกทั้งพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศ เพื่อดึงนักศึกษาต่างชาติ เข้ามาเรียนที่พีบีไอซีมากขึ้น พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้นักศึกษาพีบีไอซี ได้เรียนรู้มากกว่าในห้องเรียน ผ่านโอกาสการศึกษาในมหาวิทยาลัยคู่สัญญาชั้นนำในต่างประเทศ และจะมุ่งมั่นพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนต่อไป รับความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป สังคมยุคอุตสาหกรรมเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี ภาคธุรกิจต่างๆ สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานได้ ความต้องการแรงงานในภาคธุรกิจจึงไม่เพียงต้องการคนที่มีความสามารถด้านใดด้านหนึ่ง แต่ต้องการคนที่มีความสามารถรอบด้าน เหนือกว่า AI หน้าที่ของมหาวิทยาลัยจึงต้องดึงศักยภาพในตัวนักศึกษาแต่ละคนออกมาให้ได้ โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน ที่ไม่ใช่เพียงแค่การให้ความรู้ หรือการป้อนข้อมูลให้แก่ผู้เรียน ในยุคที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องทำให้ผู้เรียนเป็นนักคิด วิเคราะห์ รวมทั้งทำให้มหาวิทยาลัย กลายเป็นที่ที่ผู้เรียนสามารถเตรียมพร้อมทักษะต่างๆ (Up - skill) ก่อนเข้าสู่โลกการทำงาน อาทิ การเข้าสังคม การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ความเป็นผู้นำ ความสามารถในการประนีประนอม อีกทั้งผลักดันความสามารถในการปรับตัว (Re – skill) ให้สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 พีบีไอซี มธ. ปรับโมเดลการเรียนรู้ ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน – ไลฟ์สไตล์ผู้เรียนยุคใหม่