พปชร.-ปชป. ประลองกำลังอีกหลายยก

31 พ.ค. 2562 | 12:54 น.

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3475 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 2-5 มิ.ย.2562 โดย...กระบี่เดียวดาย

 

พปชร.-ปชป.

ประลองกำลังอีกหลายยก

 

                ยังไม่ทันตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ สนับสนุนนายกฯลุงตู่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหรือไม่ พรรคประชาธิปัตย์ก็โชว์ความเก๋าทางการเมืองออกมาให้เห็นอีกคำรบหนึ่ง ด้วยการเลื่อนวงประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา ออกไปโดยไม่มีกำหนด โดยอ้างพรรคพลังประชารัฐ ยังไม่ตอบรับเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นให้พิจารณา พร้อมกระแสข่าวการขอเปลี่ยนโควตากระทรวงของกลุ่ม 3 มิตร

                เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็น การประลองกำลังครั้งสำคัญระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชารัฐ สร้างแรงกระเพื่อมตามมาอีกหลายระลอก จน “สมศักดิ์ เทพสุทิน” แกนนำกลุ่ม 3 มิตร ต้องตั้งโต๊ะแถลงปฏิเสธกระแสข่าวหอบส.ส. 60 คนออกจากพรรคพลังประชารัฐ ไปซบพรรคเพื่อไทย เนื่องจากไม่พอใจที่มีการจัดสรรโควตารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้กับพรรคประชาธิปัตย์

                หลังจากนี้จึงต้องจับตาอย่างไม่กะพริบว่าถ้าพรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐแล้วจะไม้เด็ดอะไรออกมาให้ชมกันอีก เพราะได้ประกาศเงื่อนไขเข้าร่วมรัฐบาลไว้ชัดเจนต่อสาธารณชนในวันที่ “อุตตม สาวนายน” “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” ยกขันหมากไปสู่ขอใน 4 ข้อ

                ประกอบด้วย 1. การยึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้งภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.นโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ ประกันรายได้ เรื่องการเกษตร นโยบายแก้จนสร้างคนสร้างชาติ และ3.เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนที่ชัดเจนตั้งแต่เมื่อครั้งการลงประชามติ และ 4. การป้องกันและปราบปรามการทุจริต

                ถ้าดูจากไทม์ไลน์การจัดตั้งรัฐบาลภายหลังเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว ในขั้นตอนต่อจากนั้นคือการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ถ้าหากเป็นไปตามโผที่มีการแบ่งโควตากันชัดเจนแล้วว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะได้ 3 เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กับอีก 4 เก้าอี้รัฐมนตรีช่วย ก็ไม่น่าจะมีแรงกระเพื่อมใดๆจากซีกประชาธิปัตย์

                   หลังจากจัดตั้งครม.เรียบร้อย ก็จะเป็นช่วงของการจัดทำนโยบายรัฐบาลแถลงต่อสภาก่อนปฏิบัติหน้าที่ ตรงนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่ประชา ธิปัตย์จะประลองกำลังกับพลังประชารัฐอีกรอบเพราะต้องไม่ลืมว่าในการหาเสียงเลือกตั้ง ประชาธิปัตย์ชูนโยบาย “ประกันรายได้สินค้าเกษตร” ให้ครอบคลุมพืชทุกชนิด สร้างความมั่นคงรายได้ให้เกษตรกรไทยทุกคนได้มีหลักประกันรายได้ขั้นตํ่าการทำอาชีพเกษตรกรรม ข้าว ราคาไม่ตํ่ากว่าเกวียนละ 10,000 บาท ยางพารา ราคาไม่ตํ่ากว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม ปาล์ม ราคา 4 บาทต่อกิโลกรัม

                ขณะที่พรรคพลังประชารัฐมีนโยบายเพิ่มค่าชดเชยสินค้าเกษตร โดยเฉพาะค่าเกี่ยวข้าวจากเดิม 12 ไร่ เป็น 20 ไร่ และเพิ่มจากไร่ละ 1,500 บาท เป็น 2,000 บาท เกี่ยวปุ๊บรับเงิน 40,000 บาทต่อครัวเรือน และยังให้ค่าเก็บเพิ่มอีก 30,000 บาท รวมเป็น 70,000 บาท

                ความแตกต่างของนโยบายจุดนี้จึงเป็นอีกเรื่องที่ประชาธิปัตย์ต้องงัดกลยุทธ์ทางการเมืองมาสร้างอำนาจต่อรองเพื่อผลักดันนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงออกไปสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะนโยบายประกันราคาสินค้าเกษตรที่ประชาธิปัตย์หมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้

                เมื่อจัดทำร่างนโยบายเสร็จ ภารกิจสำคัญอีกเรื่องที่รัฐบาลต้องรีบผลักดันคือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งครม.ชุดพล.อ.ประยุทธ์ อนุมัติกรอบวงเงินไว้ 3.2 ล้านล้านบาท แต่เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามา แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการรื้อคำเสนอขอใช้งบประมาณของแต่ละกระทรวงเพื่อให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลใหม่ จึงอย่าตกใจที่หากการจัดทำงบประมาณของรัฐบาลจะมีแรงกระเพื่อมทางการเมืองเกิดขึ้นอีกครั้ง

                ทั้งหมดนี้คือแรงกระเพื่อมทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในช่วงแรกๆของรัฐบาลชุดใหม่ ที่ยังไม่นับรวมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ