โกศกุดั่นน้อย เกียรติยศสูงสุดแด่..รัฐบุรุษไทย

04 มิ.ย. 2562 | 03:25 น.

กว่าจะมาเป็นประเทศไทยในทุกวันนี้ ฉิวเฉียดต่อการรุกรานของระบอบคอมมิวนิสต์...เหล่าทหารหาญ ชาวบ้านในพื้นที่สีแดงต้องสละเลือดเนื้อไปเท่าไหร่  เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินสีทองเอาไว้ให้ลูกหลานไทยได้เหยียบย่ำ อีกทั้งการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาลืมตาอ้าปากได้เป็นพี่ใหญ่ในเอเชีย สิ่งที่ไทยผ่านพ้นวิกฤติมาได้ สามารถพูดได้เต็มปาก นั่นคือ ความชาญฉลาดของนายกรัฐมนตรีในยุคนั้น ซึ่งก็คือ “พลเอกเปรม ติณสูลานนท์” หลายต่อหลายครั้งที่คุณูปการที่ท่านได้กระทำทิ้งไว้ให้ได้จารึก นับเป็นบุณคุณต่อประชาชนคนไทยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการกระทำความดี  ซื่อสัตย์ สุจริต เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เปรียบเสมือน “ขุนพลคู่บัลลังก์”  ท่านไม่เพียงพูดพร่ำสั่งสอนเท่านั้น แต่ท่านปฏิบัติให้คนรอบข้างได้เห็นได้ประจักษ์ เป็น “ป๋าเปรมของลูกๆ” ที่แสดงถึงความนอบน้อมถ่อมตน จนเป็นที่เคารพของทุกคนที่ได้รู้จักท่าน  

โกศกุดั่นน้อย เกียรติยศสูงสุดแด่..รัฐบุรุษไทย

แต่ภายหลังจากที่ สำนักพระราชวังออกประกาศ เรื่อง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมานั้น  พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานโกศกุดั่นน้อย  ฉัตรเครื่องตั้งประดับ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่กลองชนะประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ  และทรงรับศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์  มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืนกำหนด 7 คืน คือ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม -วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน 2562

WOW Day จึงอยากจะนำความเป็นมาของ พระโกศกุดั่นน้อย มาบอกกล่าวทำความรู้จักกัน ซึ่งเชื่อว่าหลายคนยังมีความฉงนไม่น้อยว่ามีความสำคัญอย่างไร?   จากข้อมูลของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย สถานอธิบายถึงความหมายของ “โกศ” ไว้ว่า สิ่งที่ทำขึ้นสำหรับประกอบนอกพระลองหรือลองที่ใส่พระบรมศพ พระศพ หรือศพ รูปทรงกระบอก ก้นสอบ ปากผาย มีฐาน และมีฝาครอบเป็นเครื่องยอด มีลักษณะแตกต่างกันไปตามอิสริยยศ ทั้งนี้โกศยังเป็นเครื่องแสดงฐานันดรศักดิ์ และถวายเกียรติ ให้เกียรติแก่ผู้เสียชีวิต

โกศกุดั่นน้อย เกียรติยศสูงสุดแด่..รัฐบุรุษไทย

 

14 ประเภทของพระโกศ

สำหรับประเภทของพระโกศ อาจแยกตามวัตถุประสงค์การใช้งานเป็น 2 ประเภทคือ พระโกศสำหรับทรงพระบรมศพหรือพระศพ และพระโกศพระบรมอัฐิหรือพระอัฐิ  โดยพระโกศแบ่งตามลำดับยศมีอยู่ 14 ประเภท คือ 1.พระโกศทองใหญ่ ใช้กับ พระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี พระยุพราช พระราชกุมารี 2.พระโกศทองรองทรง (นับเสมอพระโกศทองใหญ่) ใช้กับ พระอัครมเหสี พระยุพราช พระราชกุมารี  3.พระโกศทองเล็ก ใช้กับ สมเด็จเจ้าฟ้า (ชั้นเอก) 4.พระโกศทองน้อย ใช้กับ สมเด็จเจ้าฟ้า พระวรราชเทวี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า และสมเด็จพระนางเจ้า พระวรราชชายา    5.พระโกศกุดั่นใหญ่ ใช้กับสมเด็จพระสังฆราช 6.พระโกศกุดั่นน้อย ใช้กับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า เจ้าจอม เจ้านายทรงกรม ผู้สำเร็จราชการ และข้าราชการที่ได้รับตรานพรัตนราชวราภรณ์ โดยพล.อ.เปรม ได้รับพระราชทานพระโกศกุดั่นน้อย จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงศักดิ์ลำดับที่ 6 ยกชั้นฐานะขึ้น  ด้วยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ปฏิบัติงานสนองพระเดชพระคุณด้วยความวิริยะอุตสาหะและจงรักภักดี มาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก นายกรัฐมนตรี องคมนตรี รัฐบุรุษ และประธานองคมนตรี ทั้งได้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และประธานองคมนตรี ในรัชกาลปัจจุบัน เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้สนิท นับเป็นผู้ที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่แผ่นดินเป็นอเนกประการ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ซึ่งตามลำดับชั้นในตำแหน่งประธานองคมนตรี จะได้รับพระราชทานเป็น “พระโกศมณฑปน้อย”

โกศกุดั่นน้อย เกียรติยศสูงสุดแด่..รัฐบุรุษไทย

7.พระโกศมณฑปใหญ่ ใช้กับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าขึ้นไป หรือ ทรงกรม ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง 4 เหลี่ยม ฝายอดทรงมณฑปปิดทองประดับกระจกสี ลองในเป็น 4 เหลี่ยม 8. พระโกศมณฑปน้อย ใช้กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปฐมจุลจอมเกล้า ประธานองคมนตรี /องคมนตรี ที่เสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่ง  ขุนนางชั้น เจ้าพระยา (ชั้นสุพรรณบัฏ) หรือ เทียบเท่า ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง 4 เหลี่ยม ฝายอดทรงมณฑปปิดทองประดับกระจกสี 9. พระโกศไม้สิบสอง ใช้กับ พระองค์เจ้าฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล / สถานภิมุขรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่ง   สมเด็จพระราชาคณะ - ขุนนางชั้นเจ้าพระยา (ชั้นสัญญาบัฏ / หิรัญบัฏ) หรือเทียบเท่า  ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายย่อมุม ทรงพระศพหักเหลี่ยมทรงไม้สิบสอง ฝายอดทรงมงกุฎปิดทอง ประดับกระจกสี 

โกศกุดั่นน้อย เกียรติยศสูงสุดแด่..รัฐบุรุษไทย

10. พระโกศราชวงศ์ (มีอีกชื่อว่าพระโกศพระองค์เจ้าเดิมเรียกว่าโกศลังกา) ใช้กับ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า  หม่อมเจ้า ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ขึ้นไป / เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้า   ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง 4 เหลี่ยม ฝายอดทรงชฎาพอกปิดทองล่องชาดประดับ ลองในเป็น 4 เหลี่ยมสีขาวคล้ายหีบศพตั้งขึ้น มีฝาเป็นยอด 11. โกศราชนิกุล ใช้กับราชสกุล / ราชินิกุล ที่ได้รับพระราชทาน โกศโถ ให้เปลี่ยนมารับพระราชทาน โกศราชนิกุล แทน ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง 4 เหลี่ยม ตัดมุมผ่าทรงชฎาปิดทองประดับกระจกสี 12. โกศเกราะ ใช้กับผู้ที่ได้รับพระราชทานโกศโถ / โกศ 8 เหลี่ยม แต่ มีรูปร่างใหญ่มิสามารถลงลองสามัญได้ ก็ให้ใช้โกศเกราะ แทน  มีขนาดใหญ่ มีลวดลายเกราะรัด   13.โกศแปดเหลี่ยม ใช้กับพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรอง คุณท้าวนางสนองพระโอษฐ์  เจ้าจอมมารดา หม่อมเจ้าที่ไม่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ถ้าจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานโกศจะได้รับพระราชทาน โกศ 8 เหลี่ยม ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์ช้างเผือก ขึ้นไป/ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษขุนนางชั้น พระยาพานทอง หรือเทียบเท่า ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง 8 เหลี่ยม ฝายอดทรงมณฑป ปิดทองล่องชาด ประดับกระจกสี 14. โกศโถ  ใช้กับ พระราชาคณะชั้นธรรม  ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย/ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ / ทุติยจุลจอมเกล้า   ขุนนางชั้น พระยา หรือเทียบเท่า  ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายรูปกลม ฝายอดปริก ปิดทองประดับกระจก

 

โกศกุดั่นน้อย เกียรติยศสูงสุดแด่..รัฐบุรุษไทย

ความงดงามด้านศิลปะ 

พระโกศกุดั่นน้อยทำด้วยไม้แกะสลัก มีลักษณะลวดลายทรง 8 เหลี่ยม ฝายอดทรงมณฑป ปิดทองประดับกระจกสี สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ใช้สำหรับพระราชทาน ทรงพระศพ พระบรมวงศ์ที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดี และ พระเจ้าบรมวงศ์ ที่ทรงอิสริยศักดิ์เป็นกรมหลวง และ ศพเจ้าจอมมารดา ที่ธิดาเป็นพระอัครมเหสี ข้าราชการ ที่ได้รับพระราชทานตรานพรัตนราชวราภรณ์ และ ที่ดำรงตำแหน่งหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้านเครื่องประกอบเกียรติยศอื่นๆ ที่ควบคู่กับพระโกศกุดั่นน้อย ประกอบด้วย ฉัตรเครื่องตั้งประดับ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่กลองชนะ

  นอกจากในส่วนของพระโกศ คำว่า กุดั่น ตามความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานหมายถึง ทองแกมแก้ว คือ เครื่องประดับเพชรพลอยหรือกระจก เช่น ลายปั้นกุดั่น คือ ลายปั้นปิดทองประดับกระจก ดังนั้นกล่าวโดยสรุปได้ว่า กุดั่นคือการประดับด้วยพลอยหรือกระจก ทั้งนี้คำว่า กุดั่นยังมีความคล้ายคลึงกับกุนดาน (Kundan) ในภาษาท้องถิ่นอินเดีย โดยมีความหมายถึง ทองคำที่มีคุณภาพสูงหรือการประดับอัญมณีด้วยพลอยและทองคำเปลว  ซึ่งวิธีการทำกุนดานเริ่มจากการขึ้นลายบนชิ้นทองคำหรือโลหะ จากนั้นทำการฝังอัญมณีลงไปในช่องลายที่ขึ้นไว้และทำการขัดเงา โดยลวดลายกุดั่นของไทยอาจได้รับอิทธิพลมาจากกุนดานในอินเดีย  เพราะในอดีตโบราณราชสำนักไทยยังสั่งซื้อผ้าพิมพ์ลายจากอินเดียมาใช้ตั้งแต่สมัยอยุธยา

 

โกศกุดั่นน้อย เกียรติยศสูงสุดแด่..รัฐบุรุษไทย

รัฐบุรุษผู้ให้จนลมหายใจสุดท้าย

พล.อ.เปรม ทรงเป็นรัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ ดำเนินงานตอบแทนคุณแผ่นดินมาตลอดช่วงอายุ อยู่มา 5 แผ่นดินแต่ได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทถึง 2 แผ่นดิน  และหนึ่งในเรื่องราวที่ถูกเปิดเผยล่าสุดก่อนที่ท่านจะถึงแก่อสัญกรรม ท่านยังคำนึงถึงผู้ยากไร้ ก็คือเรื่อง การบริจาคทรัพย์สินทั้งหมดของท่านเพื่อช่วยเหลือคนจน  ถือเป็นแบบอย่างที่สำคัญในการน้อมนำไปปรับใช้สำหรับทุกคนในสังคมไทย โดยทาง “พล.อ.พิศณุ พุทธวงศ์” หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เผยว่า “พล.อ.เปรม มีความตั้งใจนำเงินเก็บซึ่งเป็นเงินเดือนทั้งชีวิต จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี องคมนตรี และอื่นๆ ไปบริจาคกับคนยากจน ซึ่งได้ไปประสานกับรัฐบาล ผ่านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ในการจัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือคนจนและการเกษตร ซึ่งไม่ว่าจะเป็นโครงการอะไรหากทำขึ้นต้องมีความยั่งยืน”  แม้เรื่องราวดังกล่าวจะเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของการปฏิบัติภารกิจเพื่อคุณแผ่นดิน แต่ได้สะท้อนถึงน้ำใจไมตรีอันดีงามที่มีต่อประชาชนชาวไทยทุกคน

โกศกุดั่นน้อย เกียรติยศสูงสุดแด่..รัฐบุรุษไทย

 

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,475 วันที่ 2 - 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562