ชำแหละค้าปลีกออนไลน์แดนมังกร 4 มุมมองชี้ช่องไทยเจาะตลาด

30 พ.ค. 2562 | 10:10 น.

ชำแหละค้าปลีกออนไลน์แดนมังกร   4 มุมมองชี้ช่องไทยเจาะตลาด

มูลค่ายอดขายปลีกทั้งออนไลน์ (Online) และออฟไลน์ (Offline) ของจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 5.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2559 เป็น 6.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2562 และคาดว่าในปี 2564 มูลค่าจะอยู่ที่ 8.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (สัดส่วนการค้าออนไลน์ต่อออฟไลน์  20 ต่อ 80)

ทั้งนี้ส่วนการค้าปลีกออนไลน์ในปี 2559 เพิ่มจากมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มเป็น 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2561 (ข้อมูลจากรายงานของ PWC) และคาดว่าการค้าปลีกออนไลน์ในปี 2562 มูลค่าน่าจะไปถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนดังกล่าวเป็นการค้าแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดน (Cross Border E-Commerce : CBEC) มูลค่า 127 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 9.7% ของยอดขายปลีกออนไลน์ในจีน ที่เหลือเป็นค้าขายออนไลน์ทั่วไป  (รัฐบาลจีนใช้ CBEC เพื่อแก้ปัญหา “คนจีนหิ้วของมาจากต่างประเทศ” หรือที่เรียกว่า “Daigou Trade”) มูลค่าดังกล่าวสอดคล้องกับจำนวนคนจีนที่ใช้นิยมการซื้อขายสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ชำแหละค้าปลีกออนไลน์แดนมังกร   4 มุมมองชี้ช่องไทยเจาะตลาด

ปี 2562 คนจีนใช้อินเทอร์เน็ตจำนวน 829 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 8% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดในโลกตามด้วยประเทศอินเดีย (สัดส่วน 40% ต่อประชากร) และสหรัฐฯ (สัดส่วน 88% ต่อประชากร) ตามลำดับ ในจำนวนคนใช้ 829 ล้านคนนี้ ร้อยละ 98 ใช้อินเทอร์เนตผ่านมือถือ และมีจำนวน 800 ล้านคนที่ซื้อของผ่านออนไลน์

 

 สำหรับ Social Media ที่คนจีนนิยมใช้เป็น wechat ที่ต่อเดือนมีคนเข้าไปใช้  1,000 ล้านคน เป็นของบริษัท Tencent ตามด้วย QQ คนเข้าไปใช้ 800 ล้านคน ผลิตโดย Tencent เช่นกัน ตามด้วย Weibo, Baidu และ  QZone ตามลำดับ ด้วยความนิยมใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ของคนจีนที่เพิ่มขึ้น ทำให้วันที่ 1 มกราคม 2562 จีนออกกฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (China E-Commerce Law : ECL) ฉบับแรก (ใช้เวลาร่างกฎหมายนี้ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558) เพื่อจัดระเบียบการค้าออนไลน์ ที่ควบคุมกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง 4 กลุ่มคือ 1.เจ้าของแพลตฟอร์ม (Platform Operator) ได้แก่ Taobao ของ Alibaba และ JD.Com เป็นต้น  2. ผู้ขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม (Operator on Platform)  3.ผู้มีเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียเป็นของตนเอง เช่น Wechat เป็นต้น และ 4.การค้าแบบ “CBEC” (ให้สิทธิวงเงินคนจีนซื้อเพิ่มจากเดิม 20,000 หยวนต่อคนต่อปี เป็น 26,000 หยวนต่อคนต่อปี)

 

กฎหมายดังกล่าวออกมาเพื่อแก้ปัญหา 3 เรื่องคือ 1.สินค้าปลอมและป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (ตามรายงานของ The Frontier Report, International Trademark Association สินค้าปลอมและการละเมิดลิขสิทธิ์ทั่วโลกมีมูลค่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2556 จะเพิ่มเป็น 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 ทำให้คนตกงาน 5.4 ล้านคน กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลก 1.2 ล้านล้านดอลลร์ ซึ่งร้อยละ 50 มาจากประเทศจีน) 2.ยกระดับสินค้าที่เอาไปขายบนออนไลน์ต้องมีคุณภาพและมาตรฐานเท่านั้น และ 3.คุ้มครองผู้บริโภคที่ไม่ต้องการให้ถูกหลอกและเอาเปรียบ ตาม ECL ได้กำหนดค่าปรับสำหรับคน 4 กลุ่มข้างต้นที่ทำไม่ถูกต้อง ค่อนข้างสูงมากอยู่ที่ 2 ล้านหยวน หรือ 10 ล้านบาท

ชำแหละค้าปลีกออนไลน์แดนมังกร   4 มุมมองชี้ช่องไทยเจาะตลาด

ผมคิดว่า ECL จะเป็นข้อกำหนดที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยมาก และมีข้อคิดเห็นสำหรับผู้ประกอบการไทยดังนี้ (หากต้องการนำสินค้าไปขายบนออนไลน์จีน) 1. ผู้ประกอบการรายใหม่หรือรายเล็กของไทย หรือกลุ่ม SMEs ไม่เหมาะกับการขายของออนไลน์ในจีน ควรขายออนไลน์ในประเทศไทยก่อน หรือขายแบบออฟไลน์ไปก่อน เนื่องจากการขายออนไลน์ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เช่น การขนส่งโลจิสติกส์ การคืนของกรณีของมีปัญหา การเปลี่ยนของ การจ่ายเงิน รวมไปถึงวิธีการทำตลาด ควรหาความรู้ภาพรวมในตลาดก่อน ที่สำคัญมีค่าแรกเข้า เป็นหลักหมื่นและแสนบาท (ขึ้นกับแพลตฟอร์ม)

 

2.หากต้องการค้าขายในจีน ต้องทำในรูปแบบ B2C คือการหาพาร์ทเนอร์จีนจัดการ หรือ B2B กับจีนเท่านั้นจึงจะปลอดภัย 3. การชำระเงิน  ต้องให้ผู้ประกอบจีนมีการมัดจำค่าสินค้าก่อน 1 ตู้ เพื่อแก้ปัญหาการโกง 4.ไม่ควรทำตามข้อตกลง หรือเงื่อนไขนักธุรกิจจีนตลาดจีนมากเกินไป จนต้องยอมทำตามที่เค้าต้องการทุกเรื่อง ซึ่งถ้าหากมั่นใจในผลิตภัณฑ์ของตนเอง นักธุรกิจจีนก็สนใจสินค้าและมาติดต่อเองเพื่อนำไปขายเอง

ชำแหละค้าปลีกออนไลน์แดนมังกร   4 มุมมองชี้ช่องไทยเจาะตลาด

 

และหากประเทศไทยต้องการผลักดันให้คนไทยนิยมใช้การค้าแบบออนไลน์มากขึ้น ผมคิดว่าต้องทำ 1.มีกฎหมายกำกับดูแลโดยเฉพาะเหมือนที่ประเทศจีนกำลังทำอยู่ 2.ต้องมีหน่วยงานกำกับดูแลโดยตรงและบทลงโทษ 3.ต้องควบคุมมาตรฐานสินค้าที่นำไปขายบนออนไลน์ 4.ต้นทุนโลจิสติกส์ต้องลดลง ต้นทุนค่าขนส่ง ของจีนถูกกว่าไทย โดยขนส่ง 1 กิโลกรัมประมาณ 35 บาท (ไทย 1 กก.ประมาณ 80 บาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง) 5.ความรับผิดชอบของบริษัทที่ขายสินค้าบนออนไลน์ (ที่ประเทศจีนหากมีผู้ไม่พอใจสินค้าในทุกกรณี เจ้าของสินค้าจะคืนเงินในทุกกรณี)

 

6.จัดระบบการชำระเงิน การชำระเงินของจีน จะสะดวกมากเพียงแค่สแกนลายนิ้วมือก็สามารถจ่ายเงินได้แล้ว หรือจะใช้ Airpay และ Wechatpay และสามารถซื้อสินค้าเป็นกลุ่มเพื่อให้ได้ค่าสินค้าที่ถูกลงด้วย (ของไทยชำระด้วยบัตรเครดิต การชำระเงินปลายทาง ซึ่ง 80% ยังเป็นการชำระเงินปลายทาง) 7.ต้องสร้างแอฟพิเคชั่นที่หลากหลายเหมือนจีน ที่มีหลากหลายฟังชั่นก์บนแอฟเดียว เช่น โรงแรม เครื่องบิน ซื้อตั๋ว ซื้อสินค้ามือหนึ่ง มือสอง เป็นต้น (ของไทยยังแยกกันอยู่ ไม่รวมในแอพเดียวกัน แม้จะรวมกันก็ยังไม่หลากหลาย) 8.จีนมีการบริการคืนเงินให้กับลูกค้า ในกรณีที่ลูกค้าได้รับสินค้าแล้วไม่พอใจสินค้า ลูกค้าสามารถได้รับเงินคืนเต็มจำนวน ส่วนกรณีที่ต้องเปลี่ยนสินค้าลูกค้าสามารถเปลี่ยนสินค้าได้แต่ลูกค้าต้องเป็นฝ่ายจ่ายค่าขนส่งเอง 9.ตลาดออนไลน์ของจีนมีขายทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่ บ้าน และรถยนต์ครับ