ก.ล.ต.เชือด ‘ลูกไก่’ นักบัญชีไม่กล้าเตะยักษ์ใหญ่ ‘บิ๊กโฟร์’

29 พ.ค. 2562 | 12:00 น.

ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3474 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 30 พ.ค.-1 มิ.ย.2562 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

 

ก.ล.ต.เชือด ‘ลูกไก่’ นักบัญชี

ไม่กล้าเตะยักษ์ใหญ่ ‘บิ๊กโฟร์’

 

                ต้องบอกว่า เป็นเรื่องฮือฮากันทั้งตลาดหุ้น เมื่อสำนักงาน ก.ล.ต. ออกมาเปิดเผยสาธารณะว่า ได้ดำเนินคดีกับ อดีตผู้ช่วยผู้สอบบัญชีของบริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด ที่ถือเป็น 1 ใน 4 บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชียักษ์ใหญ่ของโลก ที่เรียกกันว่า “BIG4” ในข้อหาฉกาจฉกรรจ์อย่างยิ่ง

                นั่นคือ พนักงานของบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชียักษ์ใหญ่ของโลกนำข้อมูลบัญชี การเงิน ที่ถือเป็นความลับของลูกค้าที่เป็นบริษัทจดทะเบียน 12 บริษัท และมีนัยสำคัญต่อราคาหุ้น ไปหาประโยชน์ส่วนตัว ด้วยการสั่งซื้อขายหุ้นและซื้อขายล่วงหน้า เพื่อทำเงินจากราคาหุ้น...

 

ก.ล.ต.เชือด ‘ลูกไก่’ นักบัญชีไม่กล้าเตะยักษ์ใหญ่ ‘บิ๊กโฟร์’

ก.ล.ต.เชือด ‘ลูกไก่’ นักบัญชีไม่กล้าเตะยักษ์ใหญ่ ‘บิ๊กโฟร์’

 

                ก.ล.ต.ระบุว่าจากการตรวจสอบเชิงลึก พบว่า นายวโรตม์ หน่อแก้ว และ นางสาวจีรนันท์ บูรณรักษ์ อดีตผู้ช่วยผู้สอบบัญชี บริษัท อีวายฯ เข้าถึงระบบข้อมูลร่างงบการเงิน ที่ผ่านการสอบบัญชีแล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดเผย และนำไปซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้ารวม 12 บริษัท ในช่วงปี 2558-2560 ร่างงบการเงินดังกล่าวส่วนมากแสดงถึงผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อันน่าจะเป็นผลให้ราคาหลักทรัพย์สูงขึ้น โดยพฤติกรรมการนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ มีดังนี้

                กล่าวคือ 1. ช่วงระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 นายวโรตม์ หน่อแก้ว ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้สอบบัญชีระดับผู้จัดการ ได้อาศัยข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4 ปี 2557 - ไตรมาส 2 ปี 2559 ของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นลูกค้าของบริษัท อีวายฯ 5 บริษัท เข้าซื้อหลักทรัพย์ของบริษัท และขายหลักทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดภายหลังจากที่บริษัทดังกล่าวได้เปิดเผยงบการเงินผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ

                2. ช่วงระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 นายวโรตม์และนางสาวจีรนันท์ บูรณรักษ์ ได้รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4 ปี 2559 - ไตรมาส 3 ปี 2560 ของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นลูกค้าของบริษัท อีวายฯ 7 บริษัท จากการที่นายวโรตม์เข้าดูร่างงบการเงิน และจากการได้รับการเปิดเผยข้อมูลภายในจากนางสาวจีราภรณ์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้สอบบัญชีระดับผู้จัดการอาวุโสของอีกสายงานหนึ่ง

                นายวโรตม์และนางสาวจีรนันท์ จึงได้ร่วมกันซื้อหลักทรัพย์และเข้าผูกพันในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงราคาหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าว และขายหลักทรัพย์และปิดสถานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทั้งหมดภายหลังจากที่บริษัทได้เปิดเผยงบการเงินผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ

                3. ช่วงระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 นางสาวจีราภรณ์ บูรณรักษ์ ได้รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทที่นางสาวจีราภรณ์รับผิดชอบ จึงมีสิทธิดูร่างงบการเงิน และได้เปิดเผยข้อมูลภายใน 3 บริษัท ให้แก่นางสาวจีรนันท์ และมีการนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ในการซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

                คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้ ก.ล.ต. ลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 3 ราย ดังนี้...

                ให้นายวโรตม์ ชำระค่าปรับทางแพ่ง ส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด และชดใช้รวม 7,660,441 บาท

                ให้ นางสาวจีรนันท์ ชำระค่าปรับทางแพ่ง ส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด และชดใช้ 4,645,951 บาท

                ให้นางสาวจีราภรณ์ ชำระค่าปรับทางแพ่งและชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการกระทำความผิด 1,530,485 บาท

                ห้ามบุคคลทั้ง 3 ราย เป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่จดทะเบียน 10 ปี

                ถ้า 3 คนมาจ่ายค่าปรับทางแพ่งก็ยุติ หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ก.ล.ต. จะขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องเป็นคดีต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง ห้ามเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯหรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียน และขอให้ส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดทั้งหมด

                ร้ายกว่านั้นที่ตกตะลึงกันคือ ก.ล.ต.ระบุว่า “การกระทำผิดของบุคคลทั้ง 3 รายดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีของบริษัท อีวายฯ ในการรักษาข้อมูลลับของลูกค้า ก.ล.ต. จึงให้บริษัท อีวายฯ ปรับปรุงระบบดังกล่าวให้รัดกุมมากยิ่งขึ้นแล้ว”

                แปลว่า มีการลงโทษพนักงานผู้ตรวจสอบบัญชี แต่ไม่มีการเอาผิดบริษัทที่รับจ้างตรวจสอบบัญชีของลูกค้าและมีความหละลวมในการทำงาน

                เรื่องนี้ ทำเอาผู้บริหาร นักลงทุน อ้าปากค้างไปตามๆกันถึงระบบการทำงานที่ความหละหลวม มีช่องโหว่ ไม่มีความเป็นมืออาชีพ ของผู้ตรวจสอบบัญชีบริษัท อีวายฯ หรือ เอิร์นแอนด์ยัง และอ้าปากค้างไปตามๆที่บริษัทซึ่งรับจ้างตรวจสอบบัญชีระดับโลกที่คิดค่าตรวจสอบบัญชีปีละขั้นตํ่า 2.4-2.5 ล้านบาท บางรายปาเข้าไป 10-20 ล้านบาทต่อปี กลับปล่อยปละละเลยให้ผู้ตรวจสอบบัญชีหาประโยชน์กันแบบนี้โดยที่บริษัทไม่มีความผิดอันใด

                เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ในตลาดทุน ถ้าผู้ตรวจสอบบัญชีที่เป็นเครื่องมือการันตีว่ามีมืออาชีพที่เป็นองค์กรภายนอกมาตรวจสอบการทำงาน การลงบัญชี การใช้จ่ายของฝ่ายบริหารในบริษัทใดบริษัทหนึ่ง มีการฉ้อฉลแบบนี้ แต่ผู้ว่าจ้างไม่มีความผิด ก็เลิกคิดถึงความเป็นมืออาชีพ และเลิกสร้างสภาวิชาชีพนักบัญชีกันได้เลย

                อย่าลืมว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศไทย แทบทุกรายล้วนใช้บริการ BIG4 ในการตรวจสอบบัญชีทั้งสิ้น “บิ๊กโฟร์”ที่ว่าคือ บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ระดับโลก 4 ราย 1. Pricewaterhouse Coopers (PwC) 2. EY (เดิมคือ Ernst & Young) 3.Deloitte Touche Tohmatsu (Deloitte) และ 4. KPMG

                ถามว่า ใครเป็นลูกค้าใครอยู่บ้างผมไปไล่เลียงออกมาให้เห็นภาพ ดังนี้ ลูกค้าของ PwC มีมากมายเช่น MINT, TRUE, BANPU ฯลฯ

                ลูกค้าของ EY จำนวนมากมายเช่นกันและไม่แน่ว่า งบการเงินที่มีนัยสำคัญต่อราหุ้นที่ผู้ตรวจสอบบัญชีเอาไปเก็งกำไรหุ้นนั้นจะเป็นกลุ่มนี้หรือไม่ BDMS, BH, BTS, DTAC, LH, MBK, AMTA, SPALISIRI, BEM TISCO, TCAP ล้วนแล้วแต่เป็นลูกค้า อีวาย

                ลูกค้าของ Deloitte ประกอบด้วย ADVANC, BBL, INTUCH

                ลูกค้าของ KPMG อาทิเช่น CPN, CPF, KBANK, SCB, SCC

                ด้วยความเป็นขาใหญ่ของบิ๊กโฟร์ทำให้บริษัทเหล่านี้สามารทำเงินได้มากและมีการสร้างมาตรฐานความเชื่อถือที่สูงกว่าบริษัทตรวจสอบบัญชีในประเทศ และได้ก้าวล่วงมาทำธุรกิจอีกมากมายเช่น ธุรกิจที่ปรึกษา ด้านภาษี กฎหมาย เรียกว่าทำงานตั้งแต่ตรวจสอบบัญชี ให้คำปรึกษาเชิงกลยุทธ์ ไปจนถึงเสนอควบรวมและซื้อกิจการ ปรับโครงสร้างบริษัท และให้คำปรึกษาด้านภาษี และเรียกเก็บเงินในอัตราที่สูงลิ่ว

                Deloitte มีรายได้ปีละ 36.8 พันล้านดอลล์ หรือ 1,104,000 ล้านบาท

                PwC มีรายได้ปีละ 35.9 พันล้านดอลล์ หรือ 1,077,000 ล้านบาท

                EY มีรายได้ปีละ 29.6 พันล้านดอลล์ หรือ 8,880,000 ล้านบาท

                KPMG สัญชาติเนเธอร์แลนด์มีรายได้ปีละ 25.42 พันล้านดอลล์ หรือ 762,600 ล้านบาท

                ถ้ามาตรฐานการพิจารณาลงโทษของ ก.ล.ต.ในเรื่องการใช้ข้อมูลภายในมาอินไซด์หุ้น แล้วทำให้คนอื่นมีความเสียหายแล้ว บริษัทที่เป็นนายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบ ก.ล.ต. ได้แค่ตักเตือน ตลาดหุ้นไทยก็จะกลายเป็นบ่อนการพนัน

                ถ้าก.ล.ต.ปล่อยให้ขาใหญ่ผู้ตรวจสอบบัญชีของโลกมีพฤติกรรมแบบนี้ แล้วบริษัทไม่ต้องรับผิดชอบแล้วไซร้...นักลงทุนตายหมดทั้งกระดานแน่...

                ในต่างประเทศนั้นหากผู้ตรวจสอบบัญชีหละหลวม หรือมีการตรวจสอบไม่ดี ใช้ข้อมูลภายใน หรือมีการปล่อยให้เป็นแบบนี้ เขาเอาผิดบริษัทอย่างจั๋งหนับ ในอังกฤษนั้น สภาตรวจสอบการเงิน (เอฟอาร์ซี) ซึ่งดูแลธุรกิจตรวจสอบบัญชี สั่งปรับ PwC 6.5 ล้านปอนด์ ฐานตรวจสอบบัญชีบริษัทบีเอชเอสตั้งแต่ 2 ปีก่อนที่บริษัทจะล้มละลาย แต่กลับไม่พบความผิดปกติ

                เอฟอาร์ซี ยังสอบ KPMG ฐานตรวจสอบบัญชีบริษัทก่อสร้างชื่อ “คาริลเลียน” ที่ล้มละลายเมื่อเดือนมกราคม 2561 ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่า KPMG อาจฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมและเทคนิค

                แต่เมื่อไทยทำได้แค่บอกให้แก้ไขแล้ว! อะไรจะเกิดขึ้นเชิญจินตนาการเอาละกันครับ…