"TDRI" ย้ำ'ม.44' อุ้มทีวีดิจิทัล นำไปสู่ประเทศสูญเสียการน่าลงทุน

29 พ.ค. 2562 | 10:34 น.

‘ทีดีอาร์ไอ’  แนะรัฐไม่ควรชดเชยเงินเยียวยาผู้ประกอบการ ย้ำการอุ้มเอกชนนี้กลับไปสู่ระบบผูกขาดสู่ผู้เล่นรายเดิม  คาดปัญหาตามมานักลงทุนจากต่างชาติขาดความเชื่อมั่นและสูญเสียการน่าลงทุนในประเทศ

 

วันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2562 คณะสังคมวิทยาและมนุษย์วิทยา ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานเสวนาสาธารณะ ภายใต้หัวข้อ “ม.44 อุ้มทีวีดิจิทัล : รัฐเอื้อทุน ประชาชนได้อะไร” พร้อมเชิญวิทยาฝ่ายต่างๆ อาทิ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ , นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา , สุภิญญา กลางณรงค์ , กรรณิการ์ กิจติเวชกุล และ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เข้าร่วมเสวนาครั้งนี้

 

"TDRI" ย้ำ'ม.44' อุ้มทีวีดิจิทัล นำไปสู่ประเทศสูญเสียการน่าลงทุน

 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในช่วงที่ผ่านมามองว่า ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลหลายช่องได้รับผลกระทบจาก Digital disrupt จริงแต่สิ่งที่ภาครัฐไม่ควรทำคือการชดเชยเงินให้กับผู้ประกอบการ เนื่องจากธุรกิจนี้เป็นการแข่งขันแบบเสรี  โดยส่วนตัวมองว่าหากรัฐต้องการช่วยเหลือจริงๆ ควรพิจารณาสนับสนุน ส่งเสริมทักษะด้านต่างๆให้กับบุคลากรที่กำลังจะตกงานจำนวนมากในอนาคตมากกว่า  ควรใช้เงินให้เกิดประโยชน์

“ผมมองว่าเรื่องนี้เปรียบเหมือนนิทานเรื่อง ลุงส่งให้เฮียมาอุ้มเสี่ยโดยใช้เงินเรา  ที่อุ้มเฉพาะนายทุนใหญ่แต่ไม่ได้อุ้มประชาชน และจากกรณีดังกล่าวส่วนตัวมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมเหตุสมผลและสร้างความเสียหายใน 3 กรณี คือ 1.เสียหายเงิน (ผู้บริโภคในฐานะผู้สียภาษี) 2.เสียหายด้านโทรคมนาคมการรีบจัดสรรคลื่น ส่งผลให้ปัญหาตามมาภายหลัง และ3.นิติรัฐของประเทศถูกทำลาย”

 

อีกทั้งจากกรณีดังกล่าวยังเอื้อให้นายทุนรายเก่าหรือผู้ประโยชน์รายเดิมที่เป็นเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ อาทิ ททบ.5 เป็นต้นเนื่องจากเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายรายใหญ่ ขณะเดียวกันในด้านโทรคมนาคมยังเป็นการผูกขาดผู้ประกอบธุรกิจรายเดิม  ซึ่งจากเดิมเมื่อเกิดการขยายเวลาชำระหนี้ปกติจะต้องจ่ายดอกเบี้ย และผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องดังกล่าวต้องชำระดอกเบี้ยประมาณ 9%  แต่ครั้งนี้ผู้ประกอบการกลับไม่ต้องชำระดอกเบี้ย  ซึ่งนำไปสู่การผูกขาดผู้เล่นรายเดิมเช่นเดียวกับในอดีต 

 

นอกจากนี้เหตุการณ์นี้ยังสะท้อนไปยังเรื่องของนิติรัฐอาจจะถูกทำลาย เพราะภาครัฐเข้าไปรับความเสี่ยงจากเอกชนที่ทำธุรกิจอย่างเสรี ซึ่งทั่วโลกไม่มีใครทำ และท้ายที่สุดประเทศไทยจะถูกจับตามองรวมทั้งยังขาดความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั่วโลกจนนำไปสู่การสูญเสียการน่าลงทุน