ดับฝันแบงก์รัฐธปท.ยื้อประเมิน LTV

31 พ.ค. 2562 | 10:55 น.

 

 

 

 

ธปท.ขอเวลาสิ้นพ.ค.ประเมินผลกระทบ LTV ดูยอดสินเชื่อที่ตกตรงวัตถุประสงค์หรือไม่ แบงก์มองสินเชื่อบ้านปี 62 หดตัวทั้งระบบ 5-10% เผยไตรมาส 2 ชะลอตัวตามฤดูกาล ผลมาตรการ LTV ดันยอดเร่งโอน

หลังจากที่ธนาคาร อาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ออกมาระบุว่า ธนาคารได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมสินเชื่อ (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อย่างรุนแรง โดยเฉพาะเดือนเมษายน หลังมาตรการมีผลบังคับใช้ สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพียง 9 พันล้านบาท จากทุกปีเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.3-1.5 หมื่นล้านบาทลดลงเกือบ 30% ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เรียกธอส.และธนาคารออมสินให้ข้อมูลเพื่อดูผลกระทบมาตรการ LTV เพื่อนำไปหารือกับธปท.ให้ผ่อนผันไม่บังคับใช้มาตรการ LTVกับธนาคารรัฐ เพราะถือว่าเป็นธนาคารเฉพาะกิจ ที่เน้นปล่อยกู้ให้กับผู้มีรายได้น้อย

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สศค.เชิญธนาคารรัฐมาหารือ เพื่อรับทราบถึงปัญหาและผลกระทบจากมาตรการ LTV แต่ไม่ได้รับปากว่าจะต้องไปหารือกับธปท.ในการปลดล็อกแต่อย่างใด เพราะเห็นว่า มาตรการเพิ่งจะบังคับใช้ต้องรอสักระยะหนึ่งก่อน

ดับฝันแบงก์รัฐธปท.ยื้อประเมิน LTV

พรชัย ฐีระเวช

 

อย่างไรก็ตามนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวยืนยันว่า เร็วเกินไปที่จะมีการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV เนื่องจากก่อนหน้าที่มาตรการ LTV จะมีผลบังคับใช้ มีการเร่งโอนไปเยอะ โดยจะเห็นว่ายอดการโอนในช่วง 3 เดือนก่อนหน้าคือ มกราคม-มีนาคมนั้น มีการโอนที่สูงผิดปกติ ซึ่งสถาบันการเงินก็ได้อานิสงส์จากมาตรการไปแล้ว ดังนั้นเมื่อมาตรการมีผลเดือนเมษายน ยอดการขอสินเชื่ออาจจะลดลงบ้างเป็นเรื่องธรรมชาติ จึงขอเวลาจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม เพื่อประเมินว่า ยอดสินเชื่อที่ลดลงนั้นมาจากความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเทียม ซื้อเพื่อเก็งกำไร หรือซื้อเพื่อต้องการเงินทอน เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในด้านอื่นๆหรือไม่

“ขณะนี้เร็วเกินไปที่จะบอกว่า จะผ่อนเกณฑ์ ธปท.ขอดูไปสักระยะหนึ่งก่อน เพื่อดูว่า ยอดที่ตกลงมานั้น เกิดจากอะไร ถ้าเป็นจากส่วนของความต้องการเทียม ซื้อเพื่อเก็งกำไร หรือต้องการเงินทอน ก็ถือว่ามาตรการธปท.ประสบความสำเร็จ เพราะต้องการให้เกิดเสถียรภาพในระบบ แต่ถ้าหากตัวที่ตกลงนั้น เป็นความต้องการของคนที่ต้องการบ้านจริงๆ ก็ค่อยมาดูอีกที เพราะยอมรับว่ายังมีที่อยู่ในพื้นที่สีเทาอย่าง คนที่ทำงานชานเมือง ต้องการคอนโดฯ ราคาไม่สูงมากเพื่อพักอาศัยในระหว่างเข้ามาทำงานในเมือง แต่เมื่อเจอมาตรการ LTV ทำให้ไม่สามารถกู้ได้ ซึ่งอันนี้ยอมรับว่ากระทบจริงๆ แต่ถ้าคนทั่วไป ที่ต้องการมีบ้านหลังแรก LTV ไม่ครอบคลุมอยู่แล้ว จะยึดที่สัญญาที่ 2 เป็นหลัก”

ดับฝันแบงก์รัฐธปท.ยื้อประเมิน LTV

ทั้งนี้ธปท.ได้ทำหนังสือชี้แจงว่า ธปท.ได้ผ่อนผันให้กับธนาคารรัฐที่ยื่นขอผ่อนการปฏิบัติตามเกณฑ์ LTV ซึ่งรวมถึงโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เป็นนโยบายภาครัฐ ซึ่งธปท.ผ่อนผันให้จนกว่าจะสิ้นสุดโครงการ เพราะเห็นว่าเป็นโครงการรัฐ ดำเนินการตามมติครม. เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีบ้านและเป็นโครงการตามนโยบายรัฐ(PSA)

 

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยไตรมาส 2 น่าจะเห็นการเติบโตชะลอลง เนื่องจากลูกค้าได้ตัดสินใจซื้อและโอนไปแล้วในไตรมาสแรก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเกณฑ์ LTV ประกอบกับ ไตรมาส 2 เป็นช่วงที่ยอดความต้องการค่อนข้างน้อยเป็นปกติอยู่แล้ว เนื่องจากเดือนเมษายนจะเป็นเดือนที่มีวันหยุดเยอะ ทำให้ปริมาณธุรกรรมเกิดขึ้นน้อย ไม่ใช่ผลของ LTV  อย่างเดียว

ทั้งนี้ หากดูภาพรวมตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ประเมินว่าปีนี้จะเป็นปีปรับฐาน เนื่องจากสินเชื่อเติบโตค่อนข้างสูงช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้การเติบโตปีนี้อาจจะหดตัวลงราว 5-10% หรือใกล้เคียงกับปีก่อน ที่มียอดสินเชื่อปล่อยใหม่ราว 7 แสนล้านบาท ซึ่งการเติบโตในช่วงครึ่งปีแรกจะอยู่ในสัดส่วนราว 40% ของยอดปล่อยสินเชื่อรวมทั้งปีและจะโตในกลุ่มบ้านแนวราบค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นบ้านพร้อมอยู่ ลูกค้าซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ส่วนครึ่งปีหลังจะเห็นการเติบโตเพิ่มขึ้นในสัดส่วน 60% ของยอดทั้งปีและจะเห็นตลาดคอนโดมิเนียมกลับมาขยายตัว

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจที่อยู่อาศัยชะลอตัวต่อเนื่องในปี 2562 จากความท้าทายต่างๆ เช่น กำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างทั่วถึง และยังมีจำนวนยูนิตค้างขายสะสมในตลาดจำนวนสูงมากและนโยบายการกำกับดูแลสินเชื่อของธปท. รวมไปถึงพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้ประกาศไปเมื่อปลายปี 2561 และจะเริ่มจัดเก็บในปี 2563 ส่งผลทำให้สถานการณ์ของตลาดที่อยู่อาศัยชะลอตัวต่อเนื่องมาถึงปี 2562 ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้อาจทำให้การแข่งขันในตลาดที่อยู่อาศัยมีความรุนแรงมากขึ้นอีกจากการเร่งออกแคมเปญในช่วงไตรมาสแรกของปีของผู้ประกอบการเพื่อระบายโครงการค้างขายที่มีเหลืออยู่” 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 39 ฉบับที่ 3,474 วันที่ 30 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ดับฝันแบงก์รัฐธปท.ยื้อประเมิน LTV