ประชาพิจารณ์ ผังกทม.ยังวุ่น ผวาตึกสูงกระทบชุมชนย่านธุรกิจ

30 พ.ค. 2562 | 01:00 น.

ชุมชน ปทุมวัน-มหาด เล็กหลวงผนึก 14 ชุมชนทั่วกรุงต้านเพิ่มความสูงอาคารย่านใจกลางเมือง หวั่นกระทบเป็นลูกโซ่ “วิชาญ มีนชัยนันท์” อดีตส.ส.มีนบุรี อัดยับบังคับใช้ไม่จริงจัง ด้านนายกอสังหาฯส่งซิกอยากเห็นสิ่งใหม่เกิดขึ้นหลังปรับปรุงผังเมืองแล้วเสร็จ

การเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา พบว่า มีทั้งกลุ่มสนับสนุนและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะซีกที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่เป็นชุมชนเก่าแก่ อาศัยอยู่ในย่านใจกลางเมืองเรียกร้องว่าไม่ควรเพิ่มความแออัดในเขตเมือง เกรงว่าจะเกิดความแออัด อีกทั้งจะกระทบสาธารณูปโภค เช่นนํ้าประชาอาจรองรับไม่เพียงพอ ขณะโซนชานเมืองต้องการพัฒนาพื้นที่ได้มากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับความเจริญที่เปลี่ยนแปลงไป

 

ประชาพิจารณ์ ผังกทม.ยังวุ่น ผวาตึกสูงกระทบชุมชนย่านธุรกิจ

เริ่มจากเสียงสะท้อนของ นายวิธาน บุญภูพันธ์ตันติ ตัวแทนชาวชุมชนซอยมหาดเล็กหลวง 1-2 เขตปทุมวันและอีก 14 ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กฎหมายผังเมืองฉบับใหม่ไม่เปิดให้การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจัง ส่วนเนื้อหาร่างผังเมืองนี้ถูกต้องในหลักการที่ให้มีการกระจายความเจริญ แต่ในเนื้อหาเชิงลึกกลับตรงกันข้าม การกระจายความเจริญหมายถึงต้องออกไปจากศูนย์กลางหรือสร้างเมืองแบบแซตเทลไลน์ทาวน์โดยข้อเท็จจริง คือ ในร่างผังเมืองฉบับใหม่นี้ให้เพิ่มพื้นที่การก่อสร้างในเขตศูนย์กลางเมืองให้เพิ่มความสูงมากขึ้น ทางกลุ่มเห็นว่าจะเพิ่มความแออัดมากกว่า

ดังนั้นในครั้งนี้จึงยื่นหนังสือเรียกร้องอย่างเป็นทางการในนาม 14 ชุมชนทั่วกรุงเทพมหานคร หลักการบางอย่างเราเห็นด้วย อาทิ การกระจายความเจริญออกไป ไม่ใช่มาเพิ่มความแออัดในย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจ จะทำให้ยิ่งวิกฤติหนักเข้าไปอีก ปัญหานํ้าประปา ไฟฟ้า ระบบบำบัดนํ้าเสียเห็นได้ชัดว่าก่อปัญหามากขึ้น”

ขณะผู้ทรงอิทธิพลโซนตะวันออกของกรุงเทพฯ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทยเขตมีนบุรี กล่าวถึงแนวทางการปรับปรุงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ว่า ภาพโดยรวมมีการเปลี่ยนแปลงแต่ต้องคำนึงถึงการเคลื่อนย้ายคนอย่างมีความเหมาะสม ดังนั้นหากสามารถทำให้เมืองหลวมได้จริงน่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า ขอเพียงต้องบังคับใช้กฎหมายได้จริงเท่านั้น

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ในเชิงเมืองชั้นในพบว่าได้รับสิทธิพิเศษหลายอย่างแล้วเป็นเรื่องดี ทำดีให้สังคมก็ได้รับโบนัสกลับคืน พื้นที่ไหนที่สีผังเมืองเขียวลายหรือเป็นเขียวยังน่าเป็นห่วง รวมทั้งฝั่งโซนหนองแขม สุวินทวงศ์ และมีนบุรีด้วยเช่นกัน คงไม่ต้องเดินสายไฟฟ้าและท่อประปาไปให้กับคนไม่กี่หลังคาเรือน ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐคุ้มค่าหรือไม่หากอนุมัติให้พื้นที่สีเขียวลายหรือเขียวเป็นสีอื่น หากเกิดนํ้าท่วมถามว่าใครจะออกมารับผิดชอบ

“อยากเห็นหลายสิ่งเกิดขึ้นมาใหม่หลังจากปรับปรุงผังเมืองแล้ว แต่หลายอย่างยังไม่จบในขณะนี้ รอยต่อระหว่างพื้นที่กับปริมณฑลยังเป็นไปได้ยากที่จะเชื่อมเป็นผังสีเดียวกัน ดังนั้นพื้นที่ในโซนที่เป็นไข่แดงยังเติบโตต่อเนื่อง แต่ถนนขยายไม่ได้แล้ว ยกตัวอย่างสุขุมวิทยังมีถนน6เลนเช่นเดิมจะต้องตัดถนนเพิ่มเวนคืนเพิ่มประชาชนเดือดร้อนใช่หรือไม่”

ประชาพิจารณ์ ผังกทม.ยังวุ่น ผวาตึกสูงกระทบชุมชนย่านธุรกิจ

ด้านนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานคร กล่าวว่า การประชุมรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร(ปรับปรุงครั้งที่ 4)ในครั้งนี้จะตอบโจทย์ชัดเจนว่าประชาชนได้หรือเสียอะไรบ้างโดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆเรื่องของเด็ก ผู้สูงอายุ โบนัสการจัดพื้นที่โล่ง พื้นที่ว่าง พื้นที่ริมนํ้าที่ประชาชนสามารถใช้สอยร่วมกันได้ ในครั้งนี้สิ่งที่จะได้เห็นว่ามีอะไรใหม่เกิดขึ้นยังมั่นใจว่าในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน(TOD)ได้เห็นเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

“โดยหลังจากการประชุมเรียบร้อยแล้วกรุงเทพมหานครจะนำข้อคิดเห็นไปปรับแก้ไขร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครจากนั้นจึงเสนอต่อคณะที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครคณะกรรมการผังเมืองเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการปิดประกาศ 90 วัน ซึ่งจะเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงข้อคิดเห็นได้ต่อจากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการประกาศราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ซึ่งคาดว่าจะมีผังเมืองรวมฉบับใหม่ใช้บังคับแทนฉบับปัจจุบันประมาณปลายปี 2563” 

หน้า 27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3474 วันที่ 30 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2562

ประชาพิจารณ์ ผังกทม.ยังวุ่น ผวาตึกสูงกระทบชุมชนย่านธุรกิจ