เวทีกรอ.คึกรอชงรัฐบาลใหม่ ติดปีกเพิ่มขีดแข่งขันประเทศ

29 พ.ค. 2562 | 05:55 น.

 

ฟื้นเวที กรอ.ได้ผล เอกชนคึกรอชงเรื่องรัฐบาลใหม่ช่วยขับเคลื่อนอื้อ ทั้งจี้ตั้งกองทุนส่งเสริมนวัตกรรม SMEs พันล้าน แก้ขาดแคลนแรงงานอีอีซี 4.7 แสนคน ดันอี-คอมเมิร์ซ สานต่อโครงการประชารัฐ “ประยุทธ์”ยาหอมพร้อมอัดงบช่วยเต็มที่

การประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อไขปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ กรอ.ในส่วนกลางเป็นครั้งแรก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงรอยต่อรัฐบาลใหม่ มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 หลังจากว่างเว้นการประชุมมานานกว่า 5 ปีถือมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการประชุมครั้งนี้มีเรื่องจำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้สอด คล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้าการส่งออก การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปเศรษฐกิจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยได้มีการหารือถึงบทบาทและแนวทางภาคเอกชนในการขับเคลื่อน ประกอบด้วย 1. การพัฒนากำลังคนเพื่อขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC และ 2. การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

เวทีกรอ.คึกรอชงรัฐบาลใหม่  ติดปีกเพิ่มขีดแข่งขันประเทศ

ในส่วนของสถานการณ์กำลังคนในอีอีซีที่ยังขาดแคลนอยู่กว่า 4.7 แสนคน เนื่องจากขาดความเชื่อมโยงเข้าถึงระดับอาชีวะและแรงงานทักษะ ปัญหาการผลิตกำลังคนไม่เพียงพอ และไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทำให้ยังมีตัวเลขว่างงานประมาณ 35% นายกรัฐมนตรีขอให้สภาพัฒน์พิจารณาข้อมูลเพิ่มเติม โดยให้มีการแยกประเภทว่า SMEs สาขาใดบ้างที่ต้องการคนและต้องการเท่าไร สาขาใดต้องเร่งพัฒนาหลักสูตร หลักสูตรละกี่คน หน่วยงานไหนรับผิดชอบบ้าง ส่วนความต้องการแรงงานภาคเกษตรที่เป็นพื้นฐานของประเทศต้องการกำลังคนเพิ่มเติมกี่คน บริษัทขนาดใดบ้างที่จะช่วยสนับสนุนในการพัฒนาบุคลากรได้กี่คน ให้ชัดเจน และต้องแยกประเภทสำหรับสถานประกอบการที่จะสนับสนุนให้เป็นแบบ New-skill, Re-skill, Up-skill และหน่วยงานภาครัฐจะช่วยส่วนไหนได้อย่างไรบ้าง ให้จำแนกให้ชัดเจนอีกครั้ง

 

ขณะที่เอกชนขอให้รัฐสนับสนุนในหลายเรื่องเช่น การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมนวัตกรรมสำหรับ SMEs (ผู้ประกอบ การลงขันเริ่มต้น 1,000 ล้านบาท ขอรัฐหนุนลดหย่อนภาษี 3 เท่า), การสนับสนุนสินค้า Made in Thailand เป็นวาระแห่งชาติ, พัฒนา SMEs ให้เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นโครงการไทยเท่ โครงการ Big Brother (พี่ช่วยน้อง) ที่ในการประชุมยังมีการนำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะกรรมการประสานพลังประชารัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่ต้องสานต่อ เป็นต้น

ทั้งนี้นายกฯ ได้มอบให้สภาพัฒน์ หารือความเป็นไปได้ในแต่ละโครงการกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและหากเห็นว่าดีและเป็นประโยชน์ในภาพรวมให้นำเสนอกลับมาพิจารณาอีกครั้ง

 

ส่วนเรื่อง แนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศของไทย (Nation Digital Trade Platform) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) นำเสนอ และอยากขอการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เรื่องดังกล่าวนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สภาพัฒน์ ช่วยหารือกลุ่มย่อยแล้วนำขึ้นมาเสนออีกครั้งว่าต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนอะไรบ้าง ต้องการงบเท่าไร หน่วยงานใดที่ควรรับผิดชอบหลัก ให้บอกมาให้ชัด ที่สำคัญต้องดูว่าไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว ถ้ามีอยู่แล้วจะเชื่อมกับเขาอย่างไร

"ในเวที กรอ.ครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นการนำเสนอโดยสภาหอการค้าฯ และสภาอุตสาหกรรมฯ ส่วนสรท.ได้เสนอตัวช่วยในเรื่องหลักสูตรการพัฒนาการศึกษาเรื่องโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่เรามีความเชี่ยวชาญและมีหลักสุตรอยู่ ทั้งนี้เรื่องทั้งหมดจะมีการหารือกัยอีกครั้งในเวลที กรอ.ในรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนให้สำเร็จ”

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3474 วันที่ 30 พฤษภาคม -1 มิถุนายน 2562 

เวทีกรอ.คึกรอชงรัฐบาลใหม่  ติดปีกเพิ่มขีดแข่งขันประเทศ