ผู้นำ 'โรบอท ซิสเต็ม' ส่งหุ่นยนต์ไทยฉลาดๆ ลุยตลาดโลก

03 มิ.ย. 2562 | 03:30 น.

รู้กันหรือไม่ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้หุ่นยนต์มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และ หุ่นยนต์ไทย เป็นหุ่นยนต์ที่ได้รับการยอมรับ และประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยีอย่างเยอรมนี ยังต้องสั่งหุ่นยนต์จากประเทศไทยไปใช้ และคนที่สร้างหุ่นยนต์สู่ตลาดโลกคนนี้ ก็คือ “กัมปนาท ตันพิทักษ์สิทธิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรบอท ซิสเต็ม จำกัด ผู้ประกอบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สัญชาติไทยแท้

ผู้นำ 'โรบอท ซิสเต็ม' ส่งหุ่นยนต์ไทยฉลาดๆ ลุยตลาดโลก

“กัมปนาท” บอกว่า เขาทำหุ่นยนต์มากว่า 20 ปี โดยเริ่มเปิดบริษัทของตัวเอง เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว หลังจากเรียนจบด้านวิศวกรหุ่นยนต์อุตสาหกรรม จากออสเตรเลีย และทำงานอยู่ที่ออสเตรเลียพักใหญ่ เนื่องจากไม่คิดว่าเมืองไทยจะมีการใช้หุ่นยนต์กันแล้ว แต่เมื่อได้กลับมาเมืองไทย และมีโอกาสได้ไปเดินดูงานเอ็กซิบิชันด้านอุตสาหกรรม จึงพบว่า ไทยเราใช้หุ่นยนต์กันมานานแล้ว และมีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในโรงงานมากเป็นอันดับ 7-8 ของโลก ตั้งแต่เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ดังนั้น เขาจึงกลับมาทำงานที่ไทยในบริษัทญี่ปุ่น

ทำงานอยู่ในบริษัทญี่ปุ่นได้ 3 ปี ก็รู้สึกว่า อยากลองไปเรียนรู้เทคโนโลยีและระบบอื่นๆ ดูบ้าง แต่เขาไม่รับ จึงมาเริ่มเปิดบริษัทของตัวเอง ซึ่งผู้บริหารคนนี้บอกว่า โชคดีมาก ที่ได้ทำงานในบริษัทของญี่ปุ่นมาก่อน ทำให้ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งตลาดหุ่นยนต์เมืองไทย แตกต่างจากที่ออสเตรเลียมาก ทั้งวิธีการทำงานและวิธีการใช้ 3 ปีที่ทำงานกับญี่ปุ่นได้ประสบการณ์ค่อนข้างมาก ได้รู้วิธีในการปรับใช้ให้เหมาะกับลูกค้าคนไทย 

ความแตกต่างของวิธีการทำงานที่ชัดเจน และยังเป็นความขัดใจของผู้บริหารคนนี้ก็คือ ความแตกต่างในเรื่องของความปลอดภัยในการใช้งานหุ่นยนต์ ของไทยถือว่าหย่อนยานมากๆ ไม่มีกฎหมายรองรับ ที่มีก็มีเพียงกฎหมายการใช้งานเครื่องจักร ซึ่งเครื่องจักร ไม่ใช่หุ่นยนต์ เครื่องจักรจะอยู่กับที่ แต่เครื่องยนต์เคลื่อนไหวได้ เพราะฉะนั้นคนอาจจะเกิดอันตรายจากหุ่นยนต์ได้ และเมื่อประเทศไทยไม่มีกฎหมาย รวมทั้งไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ บริษัทต่างชาติที่ผลิตหุ่นยนต์เข้าไทยก็มีหย่อนยานเรื่องนี้ไปด้วย ไม่มีการใส่ระบบความปลอดภัยให้กับหุ่นยนต์ เนื่องจากมีราคาแพง 

อีกหนึ่งความต่างคือ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหุ่นยนต์ หุ่นยนต์ยังค่อนข้าง Nitch มากสำหรับคนไทยในแง่ความรู้ความเข้าใจ ทั้งๆ ที่อุตสาหกรรมเมืองไทยมีการใช้หุ่นยนต์เยอะ อุตสาหกรรมเอสเอ็มอี ก็เริ่มนำหุ่นยนต์เข้าไปใช้ในการผลิต ซึ่งสามารถลดต้นทุนได้ ราคาหุ่นยนต์ปัจจุบันก็ไม่สูง แต่บุคลากรด้านหุ่นยนต์ของเมืองไทยยังน้อยมาก ทั้งในแง่ของกฎหมายด้านความปลอดภัย และเรื่องบุคลากร รัฐบาลควรให้ความใส่ใจและเร่งพัฒนาให้ทันต่อสภาพตลาดในปัจจุบัน

“กัมปนาท” บอกว่า บริษัทของเขา เป็นบริษัทสร้างระบบ เป็นเหมือนกับผู้รับเหมาในงานรวบรวมระบบและเทคโนโลยีต่างๆ เข้าด้วยกัน หรือที่เรียกว่า SI : System Integrator ดังนั้น การสร้างงานแต่ละชิ้น จะเริ่มจากการวิจัย นำโจทย์หรือความต้องการของลูกค้า ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในการผลิตของเขา มาพัฒนาเป็นหุ่นยนต์ ซึ่งไม่ใช่แค่นำหุ่นยนต์นี้เข้าไปทำงานแทนคน แต่บางทีอาจจะหาคนมาทำงานตรงนี้ไม่ได้ เพราะเป็นงานอันตราย ความเสี่ยงสูง ต้องการความแม่นยำ ต้องการความเร็วสูงๆ หรือต้องการความสะอาด งานเหล่านี้ จะเลือกใช้หุ่นยนต์เข้าไปแทนที่ 

ปัญหาของการทำตลาดตรงนี้ อยู่ที่ความเข้าใจของลูกค้า ที่คิดว่าการซื้อหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เหมือนการซื้อสินค้าหนึ่งชิ้น ที่ต้องผลิตและนำส่งตรงเวลา แต่จริงๆ มันเป็นงานที่เริ่มจากการวิจัยก่อน หากทำออกมาแล้วไม่ใช่ ก็ต้องเริ่มต้นกันใหม่ ต้องมีการลองผิดลองถูก ซึ่งที่ผ่านมา เขาลองผิดลองถูกมาเยอะมาก เจ็บตัวไปก็เยอะ จนได้ค้นพบว่า การทำธุรกิจหุ่นยนต์ ผู้ผลิตต้องเข้าใจหรือมีทักษะในแต่ละงานที่รับผลิต เช่น งานเจียร งานพ่นสี งานเชื่อม หลังจากนั้นก็นำทักษะตรงนี้มาผลิตเป็นระบบ สร้างเป็นหุ่นยนต์ที่รองรับการใช้งาน สามารถแก้ Pain Point ของงานนั้นๆ ได้ตรงจุด และสิ่งที่ โรบอท ซิสเต็ม ถนัด ก็คือ งานระบบวิชวล หรือ การมองเห็นด้วยการใช้กล้อง งานระบบสัมผัส  และซอฟต์แวร์ 

อีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ ของผู้บริหารคนนี้ก็คือ พยายามทำระบบอะไรที่ในแง่อุตสาหกรรม สามารถนำไปขายได้ทั่วโลก ไม่ใช่แค่ตลาดไทย โดยการร่วมมือกับพันธมิตรในหลายๆ ประเทศ อะไรที่เขาถนัดเราก็ซื้อเขามาใช้ อะไรที่เราถนัด เขาก็ส่งมาให้เราทำ สิ่งที่บริษัททำขณะนี้ มีอยู่หลายๆ อย่างที่เกิดจากการคุยกับเพื่อนๆ ต่างประเทศ ว่าตลาดมีความต้องการ แต่ไม่มีใครทำ เราก็เอามาทำ สิ่งที่เราทำ ต้องทำแล้วขายได้ทั่วโลก ซึ่งขณะนี้ โรบอท ซิสเต็ม มีลูกค้าทั้ง แคนาดา เยอรมนี จีน เกาหลีใต้ เวียดนาม ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย และนั่นคือ หนึ่งในความภาคภูมิใจของผู้บริหารคนนี้ ที่สามารถผลิตหุ่นยนต์ขายให้กับต่างชาติได้ใช้กันทั่วโลก 

ผู้นำ 'โรบอท ซิสเต็ม' ส่งหุ่นยนต์ไทยฉลาดๆ ลุยตลาดโลก

ความสำเร็จที่ผ่านมา โรบอท ซิสเต็ม เติบโตมาต่อเนื่อง จาก 30-50-80-100 ล้านบาท และยังขยายตัวได้เรื่อยๆ โดยคาดว่าปีนี้จะปิดรายได้ที่ 140 ล้านบาท และยังมีระบบหุ่นยนต์ใหม่ๆ ที่อยู่ในช่วงของงานวิจัย ทั้งหุ่นยนต์ที่ใช้ในระบบโลจิสติกส์ และหุ่นยนต์เกี่ยวกับงานขัด โดยเป้าหมายของการสร้างงาน คือ Smart / Simple / Safety หุ่นยนต์ของเราต้องฉลาด คนซื้อไปแล้วใช้งานได้ง่าย มันต้องปรับตัวตัดสินใจการทำงานบางอย่างได้ด้วยตัวเอง และความปลอดภัย ถือเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าลูกค้าบอกตัดเซฟตี้ ผมไม่ขาย หุ่นยนต์ผมจะไม่ทำร้ายคนใช้

ในฐานะของคนสร้างระบบหุ่นยนต์ “กัมปนาท” บอกว่า หากใครที่ต้องการเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ ถือว่ายังเป็นอุตสาหกรรมขาขึ้น แต่คนที่จะเข้ามาทำต้องมีใจรัก ต้องมีทักษะเฉพาะ เพราะงานวิจัยด้านเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก สิ่งที่คิดอยู่ตอนนี้ อีก 6 เดือนถ้าไม่ปรับมันอาจจะล้าสมัยไปแล้ว และคลื่นลูกใหม่ก็เกิดขึ้นมาเร็วมาก แต่ถ้าอยากได้เงินเยอะๆ ทำเงินมหาศาล แนะนำเลยว่า ให้ไปสร้างหุ่นยนต์เซอร์วิส เช่น หุ่นยนต์ดูแลคนป่วย หุ่นยนต์เครื่องดูดฝุ่น และอีกหลายๆ อย่าง ที่จะทำให้ชีวิตคนเราดีขึ้น หุ่นยนต์พวกนี้มีความต้องการในตลาดสูง และภายในไม่กี่ปีจะโตเป็น 10 เท่าแน่นอน

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,474 วันที่ 30 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ผู้นำ 'โรบอท ซิสเต็ม' ส่งหุ่นยนต์ไทยฉลาดๆ ลุยตลาดโลก