ทอท.ปัดข้อร้องเรียน MINT ไม่กลับมติตัดสิทธิ์ประมูลรีเทล สุวรรณภูมิ

27 พ.ค. 2562 | 06:55 น.

        “นิตินัย” ไม่รับข้อเสนอMINT ที่ขอให้พิจารณาตัดสินใหม่ เพื่อประโยชน์แห่งความป็นธรรม หลังถูกตัดสิทธิ์เข้าประมูลโครงการรีเทล สนามบินสุวรรณภูมิ ยันเป็นคนละนิติบุคคล  ด้าน MINT แจงไม่เห็นด้วย เหตุจากเป็นทั้งเจ้าของและผู้บริหาร 4 บริษัทย่อย มีสิทธิ์ใช้ประสบการณ์บริษัทลูกประมูล

                  ทอท.ปัดข้อร้องเรียน  MINT  ไม่กลับมติตัดสิทธิ์ประมูลรีเทล สุวรรณภูมิ

        สืบเนื่องจากการถูกบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)หรือทอท.ตัดสิทธิ์เข้าร่วมประมูลโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์(รีเทล)สนามบินสุวรรณภูมิ ในประเด็นบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)หรือ MINT ได้ยื่นประมูลโดยใช้ผลงานของบริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ซึ่งถือว่าไม่ตรงกับเงื่อนไขในTOR ข้อ 3.5 ที่ระบุให้ผู้ยื่นซอง ต้องเป็นผู้ซื้อซองด้วย และไม่ได้แจ้งว่าจะเป็นบริษัทจ้อยท์เวนเจอร์ในการยื่นประมูล จึงถือว่าเป็นคนละนิติบุคคล
           ทำให้ไมเนอร์ฯ ไม่ผ่านคุณสมบัติ จึงเหลือผู้ผ่านประมูล 2 รายที่ต้องแข่งขันกัน คือบริษัทคิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด และบริษัทเซ็นทรัลพัฒนาจำกัด(มหาชน)หรือซีพีเอ็น ซึ่งล่าสุดวันนี้(27พฤษภาคม2562)ทาง
MINT ได้ออกแถลงข่าวเรียกร้องความเป็นธรรม และขอให้ทอท.พิจารณาการตัดสินใจใหม่อีกครั้ง

                  ทอท.ปัดข้อร้องเรียน  MINT  ไม่กลับมติตัดสิทธิ์ประมูลรีเทล สุวรรณภูมิ
            ต่อเรื่องนี้
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท.เผยว่าเบื้องต้นได้รับหนังสือจากบริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)หรือ MINT  ที่ไม่เห็นด้วยในกรณีถูกทอท.ตัดสิทธิในโครงการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์(รีเทล)สนามบินสุวรรณภูมิ และเรียกร้องให้ทอท.พิจารณาการตัดสินใจใหม่นั้น ต่อเรื่องนี้จากการพิจารณาคุณสมบัติ พบว่า โดยหลักการแล้ว Mint กับ ไมเนอร์ฟู๊ดเป็นคนละนิติบุคคลกัน
         อีกทั้ง Mint ซึ่งเป็นผู้ซื้อซองไม่ได้มีการเสนอชื่อ ไมเนอร์ฟู้ด เป็นจอยท์ เวนเจอร์ ตามระยะเวลาที่กำหนด การทำเช่นนี้เปรียบเสมือน นาย ก. (Mint) แข่งขันด้วยประสบการณ์ของ นาย ข. (ไมเนอร์ฟู๊ด) โดยเหตุผลคือ นาย ข เป็นลูก

      ดังนั้นทอท ก็ยืนยันว่า Mint จะแข่ง ก็ต้องใช้ความสามารถหรือประสบการณ์ของ Mint ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในTOR ตั้งแต่แรก
       ส่วนประเด็นที่MINT ชี้แจงนั้น ทอท. ขอชี้แจง
 ข้อเท็จจริงและประเด็นชี้แจงกรณี บ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ตกคุณสมบัติการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.)

(1) ข้อเท็จจริง

(1.1) คนมาซื้อซองเข้าประมูลคือ MINT (Minor International) ซึ่งเป็น Holding Company ที่ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารงาน โดยบริษัทลูกที่มีประสบการณ์ในการบริหารงานคือ Minor Food โดยในการประมูลที่ผ่านมาทั้งท่าฯดอนเมือง (ทดม.) และ ท่าฯ ภูเก็ต (ทภก.) Minor Food เป็นผู้เข้าประมูลมาโดยตลอด

(1.2) ทอท. เปิดให้ยื่นรายชื่อ ผู้ร่วมค้า (Joint Venture: JV) หรือ ผู้ร่วมทุน (Consortium) ได้ภายในวันที่ 22 พ.ค. 2562 ซึ่งเมื่อเลยกำหนดระยะเวลาแล้ว MINT มิได้มีการยื่นรายชื่อใด

(2) ข้อชี้แจง
(2.1) การที่ MINT ได้ออกแถลงข่าว โดยกล่าวว่า Minor Food อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ MINT นั้น ทอท. มิได้ปฏิเสธประเด็นดังกล่าว แต่หาก Minor Food และ  MINT เป็นคนละนิติบุคคลกัน โดย TOR ระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ซื้อซองเท่านั้นจะต้องเป็นผู้ยื่นประมูล ดังน้นหาก ต้องการใช้ประสบการณ์ของ  Minor Food ในการยื่นประมูล ก็สามารถดำเนินการได้โดยให้ Minor Food เป็นผู้ซื้อซองและยื่นประมูลดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาในกรณี ทดม. และ ทภก.
(2.2) หากซื้อซองในนาม MINT ดังเช่นในครั้งนี้ และต้องการใช้ประสบการณ์ของ Minor Food นั้น ทอท. ก็เปิดโอกาสให้สามารถทำได้โดยการยื่นชื่อ Minor Food เป็น JV ก่อนวันที่ 22 พ.ค. 62 แต่เมื่อเลยเวลาดังกล่าว MINT มิได้ยิ่นรายชื่อ JV ใด
(2.3) ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า หาก MINT ปฏิบัติตามข้อ (2.1) ดังเช่นที่ตนเคยปฏิบัติมาในอดีต หรือ ปฏิบัติตามข้อ (2.2) ดังเช่นที่ ทอท. เปิดโอกาสให้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะผ่านคุณสมบัติฯ แต่หากการใช้นิติบุคคลหนึ่ง ยื่นเข้าแข่งขัน โดยใช้ประสบการณ์ความสามารถของอีกนิติบุคคลหนึ่งนั้น ไม่สามารถทำได้ตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ใน TOR

           นายชัยพัฒน์  ไพฑูรย์ รองประธานเจ้าหน้าที่การเงินส่วนกลางและวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือMINT เผยว่า ตามที่MINTได้เป็นผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการดำเนินงานให้สิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และได้ยื่นข้อเสนอดังกล่าวต่อ ทอท. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 นั้น ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ทอท. ได้ปฏิเสธไม่รับข้อเสนอของบริษัทฯ (โดยไม่ได้ยืนยันเป็นหนังสือให้แก่บริษัทฯ) เนื่องจากบริษัทฯ ขาดประสบการณ์ในการดำเนินงาน ตามที่ระบุในข้อ 3 และข้อ 5 ของประกาศ ทอท. และข้อ 3 ของเอกสารการยื่นข้อเสนอ 

                  ทอท.ปัดข้อร้องเรียน  MINT  ไม่กลับมติตัดสิทธิ์ประมูลรีเทล สุวรรณภูมิ

          บริษัทฯ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการที่ ทอท. ปฏิเสธไม่รับข้อเสนอของบริษัทฯ  บริษัทฯ มีประสบการณ์อย่างมากในการบริหารธุรกิจด้านอาหาร เครื่องดื่มและการค้าปลีกในประเทศไทยตามข้อกำหนดของเอกสารการยื่นข้อเสนอ  บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจด้านอาหาร และการค้าปลีกในประเทศไทย และบริหารดำเนินการธุรกิจดังกล่าวด้วยตนเองและโดยผ่านบริษัทย่อยที่บริษัทฯ เป็นเจ้าของและที่ถือหุ้นส่วนใหญ่ 80-90% ดังนี้
          1. บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ผู้ดำเนินธุรกิจประเภทร้านอาหาร

          2. บริษัท ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย  ผู้ดำเนินธุรกิจประเภทจัดจำหน่ายสินค้าด้านแฟชั่น และไลฟ์สไตล์

        3. บริษัท รอยัล การ์เด้น พลาซ่า จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจ ศูนย์การค้า รอยัล การ์เด้น พลาซ่า พัทยา และ ศูนย์การค้า เทอร์เทิล วิลเลจ พลาซ่า และ

          4. บริษัท เจ้าพระยา รีซอร์ท จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจ ศูนย์การค้า ริเวอร์ไซด์ พลาซ่า
         รายละเอียดในการดำเนินธุรกิจดังกล่าว ปรากฏชัดแจ้งในหนังสือรับรองประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารการประมูลของบริษัทฯ ที่ได้มอบให้ไว้แก่ ทอท. แล้ว   ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันอย่างทั่วไปว่า บริษัทฯ ดำเนินการบริหารธุรกิจดังกล่าวอย่างยิ่งยวดทั่วทั้งประเทศไทยและในต่างประเทศ  บริษัทฯ จึงเชื่อว่าการที่ทอท. ปฏิเสธไม่รับข้อเสนอของบริษัทฯ เนื่องจากบริษัทฯ ขาดคุณสมบัตินั้นไม่ถูกต้องและไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดของเอกสารการยื่นข้อเสนอ
          “ บริษัทฯ เชื่อว่าขั้นตอนการประมูลของทอท. ที่ดีที่สุดควรที่จะรวมผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายที่ผ่านเรื่องคุณสมบัติ แต่การที่ทอท. ปฏิเสธไม่รับข้อเสนอของบริษัทฯ เนื่องจากบริษัทฯ ขาดคุณสมบัติ นั้น ขัดแย้งกับขั้นตอนการประมูลดังกล่าว  บริษัทฯได้ขอให้ ทอท. พิจารณาการตัดสินของ ทอท. อย่างเร่งด่วนอีกครั้ง เพื่อประโยชน์แห่งความป็นธรรม” นายชัยพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย