การค้า การลงทุน นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ของเช็ก : โอกาสสำหรับประเทศไทย

27 พ.ค. 2562 | 02:54 น.

บทความพิเศษ โดย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปราก

 

เมื่อเอ่ยถึง สาธารณรัฐเช็ก คนส่วนใหญ่มักจะย้อนนึกไปถึงเช็กโกสโลวะเกีย ประเทศขนาดเล็กที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์กแห่งออสเตรีย ลัทธินาซีในยุคฮิตเลอร์ และลัทธิคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น เช็กได้ผ่านการสู้รบในสงครามมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 19 จนถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียต จนเมื่อในปี ค.ศ. 1993 เช็กและสโลวะเกียได้แยกตัวจากกันอย่างสันติและกลายเป็นสาธารณรัฐเช็กและสาธารณรัฐสโลวักอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน และนับตั้งแต่นั้นเช็กก็เริ่มพัฒนาประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

การค้า การลงทุน นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ของเช็ก : โอกาสสำหรับประเทศไทย

ใครจะคาดคิดว่า ในระยะเวลาเพียง 30 ปี ประเทศขนาดเล็กที่มีพื้นที่ประมาณ 1 ใน 6 ของประเทศไทยและไม่มีทางออกสู่ทะเลจะสามารถพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็วจนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมและนวัตกรรมสำคัญในยุโรปกลางและยุโรปตะวันนออก และมี GDP สูงกว่าประเทศไทยถึง 3 เท่าตัว

 

ในปัจจุบันระบบเศรษฐกิจของเช็กเป็นระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (Market Economy) ที่เน้นการส่งออก การบริการด้านเทคโนโลยี การผลิต และนวัตกรรมเป็นหลัก โดยมีศักยภาพที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมด้านวิศวกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องจักรในการก่อสร้าง การผลิตเหล็ก อะไหล่และอุปกรณ์ด้านคมนาคม เคมีภัณฑ์ และเวชภัณฑ์ ซึ่งคิดเป็น 37.5% ของมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ศักยภาพในภาคบริการคือ การวิจัยเพื่อการพัฒนา การพัฒนาระบบ ICT และ software เทคโนโลยีนาโน และชีววิทยาศาสตร์ คิดเป็น 60% ของมูลค่าเศรษฐกิจ ในขณะที่ผลผลิตทางเกษตรกรรมหลักคือ ธัญพืช น้ำมันพืช และ ฮอปส์ (Hops) คิดเป็น 2.5% ของมูลค่าทางเศรษฐกิจของเช็ก

การค้า การลงทุน นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ของเช็ก : โอกาสสำหรับประเทศไทย

ความมุ่งมั่นของเช็กในการพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและอุตสาหกรรมถูกตอกย้ำโดยนาย Andrej Babis นายกรัฐมนตรีเช็กในการแถลงยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรมของเช็กระหว่างปี ค.ศ. 2019 – 2030 (Innovation Strategy of the Czech Republic 2019 - 2030) โดยนายกรัฐมนตรีเช็กได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะนำพาเช็กให้ก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเช่นเดียวกับสวีเดน เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ และฟินแลนด์ภายในปี ค.ศ. 2030 ภายใต้ Theme “The Czech Republic : The Country For the Future” (เช็ก : ประเทศเพื่ออนาคต)โดย เสาหลักของแผนยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 9 ด้าน ได้แก่ (1) The Country for R&D (2) The Country for Technology (3) The Country for Start-ups  (4) The Country for Digitalization (5) The Country for Excellence (6) The Country for Investment (7) The Country for Patents (8) The Country for Smart Infrastructure และ (9) The Country for Smart People

การค้า การลงทุน นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ของเช็ก : โอกาสสำหรับประเทศไทย

หน่วยงานหลักของเช็กที่รับผิดชอบการกำหนดนโยบายและการจัดสรรงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนามี 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงศึกษา เยาวชน และกีฬา ซึ่งรับผิดชอบด้านการศึกษา การวิจัยและการพัฒนา และความร่วมมือระหว่างประเทศ สภาวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม รับผิดชอบด้านการให้คำปรึกษาในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านวัตกรรมของรัฐบาล และกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รับผิดชอบด้านนวัตกรรมเป็นหลัก โดยมีรองนายกรัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นผู้กำกับดูแล และมีกรอบการดำเนินงานคือ นโยบายด้านการวิจัยและพัฒนาแห่งชาติ 2016-2020 (National Research, Development and Innovation Policy of the Czech Republic 2016-2020) ซึ่งรัฐบาลให้การรับรองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016

+ความสำคัญของ R&D

 

รัฐบาลเช็กให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) มาอย่างต่อเนื่องและนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 รัฐบาลได้จัดสรรงบประเทศสำหรับการลงทุนด้าน R&D สูงถึงร้อยละ 2 ของ GDP ซึ่งใกล้เคียงกับเนเธอร์แลนด์ (2%) จีน (2.1%) สิงคโปร์ (2.2%) ออสเตรเลีย (2.2%) สโลวีเนีย (2.2%) ฝรั่งเศส (2.2%) เบลเยียม (2.5%) สหรัฐอเมริกา  (2.8%) เยอรมนี (2.9%) โดยประเทศที่มีการลงทุนใน R&D สูงที่สุดคืออิสราเอล (4.3%)

  การค้า การลงทุน นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ของเช็ก : โอกาสสำหรับประเทศไทย

ในปัจจุบันเช็กมีสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัยทั่วไป (Universities) และมหาวิทยาลัยด้านเทคนิค (Technical Universities) ที่มุ่งเน้นการจัดหลักสูตรตามแบบ STEMM (เป็นหลักสูตรที่ประกอบด้านวิชา Science, Technology, Engineering, Mathematics and Medicine) จำนวน 70 และ 18 แห่ง ตามลำดับ ที่เอื้อต่อการผลิตบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี

 

ยิ่งไปกว่านั้น เช็กมีสถาบันด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเฉพาะสาขาที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนด้าน R&D อย่างเป็นระบบ เช่น ด้าน IT มี Czech Institute of Informatics, Robotics, and Cybernetics ภายใต้ the Czech Technical University, Prague ด้าน Nanotechnology and Material Science มี Institute for Nanomaterials Advanced Technologies and Innovation ภายใต้ the Technical University of Liberec ด้าน Life Science มี Institute of Organic Chemistry and Biochemistry ด้าน Aerospace มี Aerospace Research and Test Establishment ซึ่งสถาบันเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนด้าน งปม. จาก รบ.เช็ก จาก EU และบริษัทเอกชนที่ลงทุนในเช็ก

รถยนต์ฮุนไดของเกาหลีใต้ มีโรงงานผลิตอยู่ในสาธารณรัฐเช็ก

เช็กได้รับการจัดอันดับจาก Economist Intelligence Unit ให้อยู่ในอันดับที่ 27 จากทั้งหมด 82 ประเทศในฐานะประเทศที่มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี โดยพิจารณาจากศักยภาพทางนวัตกรรมผ่านตัวชี้วัด ได้แก่ การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจดิจิทัล e-government ความมั่นคงทางไซเบอร์ และการเปิดรับนวัตกรรม ซึ่งอยู่ในอันดับสูงที่สุดของประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก

 

ภายหลังการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีเช็กเมื่อเดือนมกราคม 2562 นับเป็นก้าวสำคัญในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของเช็กที่หันมาให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียมากขึ้น จากที่เคยให้น้ำหนักความสัมพันธ์กับภูมิภาคยุโรป จึงนับเป็นจังหวะและโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะผลักดัน สานต่อและส่งเสริมความร่วมมือกับเช็กให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งเช็กสามารถตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศไปยังเขต EEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช็กสามารถผลิตรถยนต์ได้เกิน 1 ล้านคันต่อปีและอยู่ระหว่างการพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ เช่น รถยนต์ไร้คนขับและรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

การค้า การลงทุน นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ของเช็ก : โอกาสสำหรับประเทศไทย

นอกจากนั้น ยังมีบริษัทผลิตอากาศยานทางทหารที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลกซึ่งใช้เทคโนโลยีทันสมัยและได้รับการรับรองตามมาตรฐาน NATO รวมทั้งมีประสบการณ์ในด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานและการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ โดยที่ตลาดสินค้าส่งออกของเช็กส่วนใหญ่คือประเทศในภูมิภาคยุโรป หากไทยสามารถดึงดูดการลงทุนจากเช็กได้ ก็จะเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปสู่ภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งเป็นฐานการผลิตของเช็กในการส่งสินค้ากลับไปยังภูมิภาคยุโรปได้ แต่โดยที่ในปัจจุบันการลงทุนและการค้าระหว่างไทยและเช็กยังมีไม่มากนัก โอกาสและช่องทางในการพบปะ ติดต่อสื่อสาร และร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น การมองเช็กเป็นเพียงประเทศที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและเป็นดินแดนในฝันของนักเดินทาง อาจทำให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยพลาดโอกาสในการส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้และความเชี่ยวชาญกับเช็กในฐานะประเทศแห่งเทคโนโลยี นวัตกรรม และอุตสาหกรรมไปในที่สุด

 

ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยจะมองเช็กด้วย “เลนส์ใหม่” ที่เน้นผลประโยชน์และโอกาสร่วมกันในด้านการค้า การลงทุน นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่

การค้า การลงทุน นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ของเช็ก : โอกาสสำหรับประเทศไทย