ความสัมพันธ์ ‘ไทย-อินเดีย-อาเซียน’ ท่ามกลางสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน

25 พ.ค. 2562 | 04:00 น.

 

ท่ามกลางสงครามการค้าระลอกที่ 2 ที่สหรัฐฯเป็นฝ่ายเริ่มยิงก่อน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยการปรับขึ้นอัตราภาษีศุลกากรในการนำเข้าสินค้าจาก 10% เป็น 25% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถูกฝ่ายจีนยิงสวนมาโดยการประกาศตอบโต้ว่าจะปรับขึ้นภาษีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯมูลค่า หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯแต่นั่นยังไม่จบการโต้ตอบในครั้งนี้ เมื่อทรัมป์ใช้อำนาจในฐานะประธานาธิบดี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารจากบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน อย่างน้อย 2 เจ้า นั่นคือ Huawei และ ZTE พร้อมกับขู่ว่าหากจีนยังไม่มีมาตรการในการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ

พร้อมกับยกเลิกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการบังคับให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าอย่างไม่เป็นธรรมผ่านกิจการจีนที่เป็นวิสาหกิจของรัฐบาลจีน สหรัฐฯจะปรับขึ้นอัตราภาษีอีกระลอก และเที่ยวนี้จะปรับขึ้นภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ท่ามกลางสถานการณ์เหล่านี้ ผมอยากจะแนะนำทุกภาคส่วนของไทยให้สนใจความสัมพันธ์ไทย-อินเดีย-อาเซียนให้มากขึ้นครับ

ทั้งนี้เนื่องจากทั้งจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น หรือแม้แต่อาเซียน ซึ่งเป็นประเทศที่ไทยใกล้ชิด และมีมูลค่าการค้าการลงทุนเกี่ยวพันกับประเทศเหล่านี้อย่างมหาศาล นั่นทำให้ที่ผ่านมา พวกเราชาวไทยมีข้อมูลและเรียนรู้วิธีการดำเนินนโยบายของประเทศเหล่านี้มาแล้วอย่างแตกฉาน แต่กับประเทศอินเดีย ซึ่งตั้งอยู่อีกฟากของอ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย และมีพรมแดนทางทะเลติดกับประเทศไทย ว่าที่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลกในอนาคตอันใกล้ พวกเราชาวไทยกลับแทบไม่รู้จัก แทบจะไม่มีข้อมูล รวมทั้งไม่เข้าใจวิธีคิดและการดำเนินนโยบายของประเทศอินเดีย ทั้งที่ดินแดนแห่งนี้คืออนาคตของโอกาสทางการค้าและการลงทุนของประเทศไทย

สำหรับประเทศอินเดีย ไทยคือหนึ่งในประเทศที่รัฐบาลและนักธุรกิจชาวภารตให้ความสนใจและจับตามองมากที่สุด นโยบายหลักของรัฐบาลอินเดีย ปัจจุบันให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับ 2 เรื่อง

1. นโยบายปฏิสัมพันธ์ตะวันออก (Act East Policy) ที่อินเดียต้องการสร้างความสัมพันธ์ทางความมั่นคงและเศรษฐกิจ ผ่านความเชื่อมโยงในมิติต่างๆ กับประชาคมอาเซียน ซึ่งอินเดียวางตำแหน่งของไทยเป็นจุดศูนย์กลางของประชาคมแห่งนี้ สังเกตได้จากความเชื่อมโยงต่างๆ โดยเฉพาะทางหลวง 3 ฝ่าย อินเดีย-เมียนมา-ไทย ส่วนขยาย ของเส้นทางนี้ที่ไทยจะเชื่อมโยงสู่ สปป.ลาว และกัมพูชา ความพยายามในการเชื่อมโยงท่าเรือต่างๆ ของอินเดีย กับท่าเรือของไทยในฝั่งอันดามันผ่านโครงการ SAGAR

2. ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ที่อินเดียจับตามองการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของจีน ผ่านโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่ต้องการเชื่อมโยงจีนเข้ากับเอเชีย แอฟริกา และยุโรป ผ่านการเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดีย (ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของอินเดีย) และมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อหาคู่ค้าและแหล่งทรัพยากรใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนไทยและอาเซียนอยู่ในทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่จุดศูนย์กลางของยุทธศาสตร์นี้

ความสัมพันธ์ ‘ไทย-อินเดีย-อาเซียน’  ท่ามกลางสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน

 

ท่ามกลางสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ประเด็นที่อินเดียให้ความสนใจต่อไทยและอาเซียน อย่างน้อยที่สุด 3 ประเด็นเร่งด่วน คือ

1. เมื่อสินค้าจากจีน และโอกาสของการลงทุนของธุรกิจจีนในสหรัฐฯตกตํ่าลง จีนจะต้องให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่ตลาดการค้าและแหล่งทรัพยากรใหม่ อินเดียสนใจมากกว่า จีนจะเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ และมีความแน่นอนแค่ไหนในการขุดคลองเชื่อมโยงอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน

เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้รูปแบบการค้าการลงทุนในภูมิภาคนี้เปลี่ยนไปเท่านั้น หากแต่ภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงต่อ มหาสมุทรอินเดีย ที่เป็นสนามหลังบ้านของอินเดียก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วยอย่างมาก ดังนั้นอินเดียกำลังสนใจจับตามองความชัดเจนของไทยในเรื่องนี้อย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่ไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง

2. ในเมื่ออินเดียคือประเทศที่ผลิตวิศวกรได้มากที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นมหาอำนาจในเรื่องของเทคโนโลยีโทรคมนาคม คำถามคือ ประเทศไทยที่เป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญในทุกมิติในประชาคมอาเซียนและกำลังเปลี่ยนผ่านจาก 4G ไปสู่ 4.5G และ 5G จะใช้เทคโนโลยีของใคร เทคโนโลยีของฝั่งจีนหรือของฝั่งสหรัฐฯ แน่นอนในขณะนี้เทคโนโลยี 5G ของฝั่งจีนดูจะมีความก้าวหน้ามากกว่า แต่ความปลอดภัยความมั่นคงล่ะ แม้จะยังไม่มีหลักฐานชัดเจน

แต่การออกมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของสหรัฐฯก็ทำให้อินเดีย ซึ่งต้องพัฒนาคน พัฒนาเทคโนโลยี และมองหาโอกาสในการค้าบริการและลงทุนในระบบโทรคมนาคมในไทยและในอาเซียนต้องให้ความสนใจว่าไทยและอาเซียนจะเลือกเทคโนโลยีโทรคมนาคมของค่ายใด

ความสัมพันธ์ ‘ไทย-อินเดีย-อาเซียน’  ท่ามกลางสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน

3. สงครามการค้าทำให้ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เสียหายมหาศาลจากการที่ทั้ง 3 ประเทศคือผู้ควบคุมห่วงโซ่มูลค่าในการผลิตในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบกับการเร่งผลักดันให้ของไทยในฐานะประธานและเจ้าภาพ การประชุมอาเซียนในปัจจุบัน ที่ต้องการเร่งให้ข้อตกลงทางการค้าภายใต้กรอบอาเซียน+6 หรือ Regional Comprehensive Economic Partnerships (RCEP) สามารถหาข้อสรุปและลงนามได้ภายในปีนี้ เพื่อเป็นเครื่องมือที่จับต้องได้เพื่อยืนยันว่า ไทย อาเซียน และคู่ค้าหลักทั้ง จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ยังคงสนับสนุน และต้องการเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศที่เสรีและเป็นธรรม

ปัจจุบัน RCEP ซึ่งมีการเจรจากันใน 20 Chapters สามารถหาข้อสรุปไปได้แล้ว 7 Chapters และด้วยกระบวนการที่ต้องการเร่งให้สามารถหาข้อสรุปได้ทั้ง 20 Chapters อาจจะทำให้อินเดียไม่สามารถเจรจาและหาข้อสรุปในลักษณะที่รีบเร่งเช่นนี้ได้ เพราะแน่นอนว่า ปัจจุบันแม้อินเดียจะมีข้อตกลงการค้าเสรีกับไทยและอาเซียนอยู่แล้ว แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทุกครั้งที่ข้อตกลงการค้าเสรีฉบับไหนของอินเดียมีผลบังคับใช้ (แม้จะเพียงบางส่วน) อินเดียก็มักจะขาดดุลการค้ากับประเทศที่ลงนามด้วยเสมอ และที่ผ่านมาอินเดียไม่เคยมีข้อตกลงทางการค้ากับจีน

ดังนั้นในสถานการณ์สงครามการค้าที่จีนก็ต้องการตลาดใหม่ๆ ที่จะเข้ามาทดแทนมูลค่าการค้าที่หายไปจากการส่งออกไปสหรัฐฯ อินเดียต้องเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ผู้ประกอบการจีนต้องการเข้าถึงตลาดอย่างแน่นอน แต่คำถามคือแล้วผู้ผลิตอินเดีย พร้อมรับการถาโถมเข้ามาของสินค้าจีนหรือไม่ ดังนั้นการเร่งเร้าให้ทุกฝ่ายต้องสรุปการเจรจา RCEP ให้ได้ในระยะเวลาที่กำหนดภายใต้สถานการณ์ผิดปกติจากสงครามการค้า อาจจะทำให้อินเดียมีความไม่สบายใจก็เป็นได้

เมื่อดินแดนภารตทั้งอินเดียและเอเชียใต้คือเขตเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตเร็วและเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่อยู่ใกล้ไทยเพียงข้ามฟากของอ่าวเบงกอล และเมื่อเรามีข้อมูลของภูมิภาคนี้น้อยมากเพื่อเทียบกับโอกาส การทุ่มเทความสนใจศึกษาแสวงหาลู่ทางและสร้างความสัมพันธ์ที่ดี รวมทั้งใส่ใจในประเด็นที่อาจจะกลายเป็นความท้าทายในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ ที่มีอินเดียเป็นพี่ใหญ่ ท่ามกลางสถานการณ์ไม่ปกติจาก สงครามการค้า ไทยเราต้องใส่ใจครับ

เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3473 วันที่ 26-29 พฤษภาคม 2562

ความสัมพันธ์ ‘ไทย-อินเดีย-อาเซียน’  ท่ามกลางสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน