แบน‘หัวเว่ย’ ลามอุตฯไฮเทค มะกันทุบหม้อข้าวตัวเอง ยอมถอย 90 วัน

22 พ.ค. 2562 | 05:11 น.

สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯส่อเค้ายืดเยื้อ ลามอุตสาหกรรมไฮเทค หลัง “หัวเว่ย” ถูกขึ้นบัญชีดำย้อนทุบหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมะกันร่วง เสี่ยงสูญเสียรายได้ส่งออก 5 ปี 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์ กระทบจ้างงาน 74,000 ตำแหน่ง

 

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มผู้ผลิตชิปของสหรัฐฯร่วงแรงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (20 พ.ค.) โดยเฉพาะหุ้นบริษัทอเมริกันที่เป็นซัพพลายเออร์ให้หัวเว่ย โดยหุ้น Qorvo Inc ร่วงลง 4.16% หุ้นสกายเวิร์คส์ โซลูชั่น ดิ่งลง 2.9% หุ้นควอลคอมม์ ร่วง 5% หุ้น Xilinx Inc ดิ่งลง 3.5% และหุ้นไมครอน เทคโนโลยี ร่วงลง 4% ขณะที่หุ้นบริษัทเทคโนโลยีก็ดำดิ่งถ้วนหน้า หุ้นเฟซบุ๊กร่วงลง 1.4% หุ้นแอปเปิล ดิ่งลง 3.1% หุ้นอเมซอน ลดลง 0.5% และหุ้นอัลฟาเบท บริษัทแม่กูเกิล ก็ดิ่งลง 2.06% ส่วนภาพรวมดัชนีดาวโจนส์ปิดลบเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2562 ที่ 25679.90 จุด ลดลง 84.10 จุด หรือลบ 0.33% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2840.23 จุด ลดลง 19.30 จุด หรือลบ 0.67% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7702.38 จุด ลดลง 113.91 จุด หรือลบ 1.46%

 

สหรัฐฯทุบหม้อข้าวตัวเอง

อย่างไรก็ตามเห็นได้ชัดว่านโยบายสร้างแรงกดดันต่อบริษัทจีนของสหรัฐฯ กำลังส่งผลย้อนศรมาทุบหม้อข้าวสหรัฐฯเอง และนักลงทุนยังคงจับตาท่าทีของจีนอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ล่าสุดการเดินทางเยือนเมืองก้านโจว มณฑลเจียงซี ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา ถูกตีความเป็นการส่งสัญญาณว่าผู้นำจีนพร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมทำเหมืองและวิจัยแร่หายาก (rare-earths) ซึ่งเป็นวัตถุดิบผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์โทรคมนาคม  และส่งสัญญาณไปยังสหรัฐฯว่าการกดดันจีนทางการค้าอาจทำให้สหรัฐฯต้องมีปัญหากับแหล่งนำเข้าแร่หายากที่จำเป็นต่อการผลิตสินค้าไฮเทคของสหรัฐฯเอง และล่าสุดเมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ตัดสินใจ “ผ่อนปรน” คำสั่งห้ามบริษัทสหรัฐฯซื้อขายกับหัวเว่ยเป็นการชั่วคราว 90 วัน

แบน‘หัวเว่ย’  ลามอุตฯไฮเทค มะกันทุบหม้อข้าวตัวเอง ยอมถอย 90 วัน

เตือนมะกันเสียมากกว่าได้

มูลนิธินวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ(ไอทีไอเอฟ) ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมอง เน้นวิจัยด้านเทคโนโลยีและนโยบาย ได้ออกโรงเตือนรัฐบาลสหรัฐฯว่า การใช้มาตรการควบคุมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯและการควํ่าบาตรบริษัทเทคโนโลยีโดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯเป็นอย่างมาก และคุกคามตำแหน่งงานในสหรัฐฯถึง 74,000 ตำแหน่ง ที่สำคัญคือ มาตรการดังกล่าวอาจทำให้บริษัทอเมริกันสูญเสียรายได้ส่งออก คิดเป็นมูลค่า 14,100-56,300 ล้านดอลลาร์ในระยะ 5 ปีข้างหน้า และเพิ่มความเสี่ยงแก่ตำแหน่งงานต่างๆ ประมาณ 18,000-74,000 ตำแหน่ง

 

รายงานไอทีไอเอฟที่นำเสนอต่อรัฐบาลระบุว่า มาตรการควํ่าบาตรของสหรัฐฯส่งผลกระทบ โดยตรงต่อความสามารถส่งออกบริษัทอเมริกัน ทั้งยังบั่นทอนความ สามารถในการลงทุนวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) และเป็นอุปสรรคต่อการสร้างตำแหน่งงาน ที่ได้รับค่าตอบแทนสูงด้วย ทั้งนี้ มาตรการที่รัฐบาลสหรัฐฯประกาศใช้เพื่อปกป้องความมั่นคงของประเทศ ไม่ควรทำให้ความสามารถด้านการแข่งขันของบริษัทอเมริกันถดถอยหรืออยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง ปัจจุบัน หัวเว่ยฯ เป็นผู้นำเข้าชิ้นส่วนสินค้าเทคโนโลยีรายใหญ่ สถิติในปี 2561 ชี้ว่า บริษัทมีการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมคิดเป็นมูลค่า 70,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 2.3 ล้านล้านบาท และในจำนวนนี้ 11,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.63 แสนล้านบาท) เป็นการนำเข้าชิ้นส่วนจากบริษัทซัพพลายเออร์อเมริกัน อาทิ ควอลคอมม์ อินเทล และไมครอน เทคโนโลยี  

 

 เทคโนโลยีจีนล้ำสหรัฐฯ

นายวีรเดช พาณิชย์วิสัย ผู้จัดการฝ่ายงานวิจัยอาวุโส บริษัท ไอดีซี รีเสิร์ช (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าโลกเทคโนโลยียุคหน้า  เป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีไอทีกับโทรคมนาคมนั้นจีนมีความก้าวลํ้ากว่าสหรัฐฯ โดยเฉพาะในโลกของเทคโนโลยี 5G หัวเว่ย มีเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์แวลูเชน 5จี ได้ทั้งหมด ทั้งระบบเครือข่าย หรือ เน็ตเวิร์ก 5 จี, ซอฟต์แวร์, มีระบบคลาวด์, อุปกรณ์ที่รองรับ 5จี และ ยูสเคสที่เกิดขึ้นจากใช้งานจริง รวมไปถึงมีการลงทุนวิจัยและพัฒนา 5G มหาศาล

 

“จะเห็นได้ว่าก่อนหน้านี้ประเทศในกลุ่มอียู ทั้งเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี รวมไปถึงอังกฤษ ออกแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่ทำตามที่สหรัฐฯโน้มน้าว ให้มีคำสั่งห้ามใช้อุปกรณ์หัวเว่ย ในการวางเครือข่าย 5 จี เพราะข้อกล่าวหาดังกล่าวยังพิสูจน์ไม่ได้ และ อุปกรณ์หัวเว่ยครอบคลุม และลํ้าสมัย รวมไปถึงมีความได้เปรียบด้านราคาเมื่อเทียบแบรนด์ยุโรป”

 

นายวีรเดช กล่าวต่อไปว่าสถานการณ์ขณะนี้ยังฝุ่นตลบ กูเกิลจะยอมหยุดให้บริการจริงหรือไม่นั้นคงต้องรอดูกันเชื่อว่ากูเกิลไม่อยากสูญเสียตลาดในจีนที่ปัจจุบันสมาร์ทโฟนจีนครองส่วนแบ่งตลาดโลกมากกว่า 50% รัฐบาลจีนดีดนิ้วแบนแอนดรอยด์ก็ส่งผลกระทบหนักกับกูเกิลแล้ว ซึ่งมองว่าไม่ได้เป็นสงครามการค้าระหว่างรัฐบาลจีนกับสหรัฐฯ แต่เป็นสงครามระหว่างรัฐบาลจีนกับกูเกิล เชื่อว่ากูเกิลไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่ที่ออกมาประกาศเช่นนี้อาจโดนแรงบีบจากรัฐบาลสหรัฐฯ

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,472 วันที่ 23 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

แบน‘หัวเว่ย’  ลามอุตฯไฮเทค มะกันทุบหม้อข้าวตัวเอง ยอมถอย 90 วัน