หวั่นส่งออกทรุด!หั่นเป้าจีดีพีเหลือ3.6%

24 พ.ค. 2562 | 07:30 น.

 

 

สภาพัฒน์หั่นจีดีพีปี 62 เหลือโต 3.6% กูรูหวั่นส่งออกทรุดยาว หลังไตรมาสแรกติดกับดักสงครามทางการค้าสหรัฐฯและจีน ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจ ครึ่งปีอาจตํ่ากว่า 2.9% ขณะที่ครึ่งหลังยังเสี่ยง หวังรัฐบาลเรียกเชื่อมั่น-ผลักดันเม็ดเงินลงทุนใหม่จากเอกชน 

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 อยู่ที่ระดับ 2.8% ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 อยู่ที่ 3.6% ถือเป็นการขยายตัวตํ่าสุดในรอบ 17 เดือนนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 เป็นผลมาจากภาคการส่งออกที่ชะลอตัวเป็นสำคัญ โดยไตรมาสที่ 1 มูลค่าภาคการส่งออกขยายตัวติดลบ 3.6% คิดเป็นมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 6.02 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 2.3% คาดทั้งปีการส่งออกจะขยายตัวในระดับ 2.2% 

  ทั้งนี้ จากแนวโน้มตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 1 ออกมาตํ่ากว่าคาดการณ์ สภาพัฒน์ จึงมีการปรับประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปี 2562 อยู่ที่ 3.6% จากเดิมที่มองอยู่ที่ 4% และปรับกรอบการเติบโตจาก 3.5-4.5% มาอยู่ที่ 3.3-3.8% รวมถึงปรับสมมติฐาน 3-4 ข้อ ได้แก่ 1.แนวโน้มเศรษฐกิจโลกจากเดิมมองขยายตัว 3.8% เหลือ 3.6% โดยปรับการเติบโตสหรัฐฯ ลง 0.1% และจีน 0.2% จากสถานการณ์สงครามการค้า 2.รายรับจากนักท่องเที่ยว เดิมอยู่ที่ 2.24 ล้านล้านบาท เหลือ 2.21 ล้านล้านบาท มาจากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่โตช้ากว่าคาด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัว 

 

หวั่นส่งออกทรุด!หั่นเป้าจีดีพีเหลือ3.6%

ขณะที่ 3.การเบิกจ่าย ปรับงบการลงทุนภายใต้งบประมาณปี 2562 จาก 70% เหลือ 65% หลังจากครึ่งปีแรกของปีงบประมาณเบิกได้ 27% และเปลี่ยนมุมมองงบประมาณปี 2563 ที่จะมีผลไตรมาส 4 ปีนี้ คาดเดิมกระบวนการจะทันภายใน 1 ตุลาคมนี้ แต่ปรับเป็นล่าช้า 2-4 เดือน จึงปรับลดจาก 20% เหลือ 10% ทำให้การลงทุนภาครัฐเหลือ 4.5% จากเดิม 6.2% และ 4.ปรับเงินบาทให้แข็งค่าเล็กน้อย  

“แนวโน้มไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้นและ ไตรมาสที่ 3 จะเป็นไตรมาสที่น่าจะขยายตัวสูงสุด เนื่องจากสถาน การณ์กลับมาดีขึ้น และภาครัฐเริ่มเดินหน้าหลังจัดตั้งรัฐบาล การลงทุนใหม่ๆ เริ่มเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือ มาตรการกีดกันทางการค้าความคืบหน้าของ Brexit รวมถึงบรรยากาศทางการเมือง”

นายธนวรรธน์  พลวิชัย  ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้ากล่าวว่า แนวโน้มจีดีพีครึ่งปีแรกอาจจะเติบโตไม่โดดเด่นและครึ่งปีหลังยังมีความเสี่ยงที่รัฐต้องดูแลเศรษฐกิจ โดยมองครึ่งปีจีดีพีอาจจะตํ่ากว่า 2.9% จากเดิมคาดไว้ที่ระดับ 3.1-3.2% หลังจากไตรมาสแรกตัวเลขออกมา 2.8% ซึ่งตํ่ากว่าคาด ช่วงที่เหลือจำเป็นต้องดูแลเศรษฐกิจใน 4ด้านคือ 1.การดูแลตลาดต่างประเทศโดยต้องบริหารค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับสกุลเงินหยวน ด่อง หรือริงกิต โดยไม่อ่อนค่าหรือไม่แข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง ขณะเดียวกันให้ทูตพาณิชย์สนับสนุนการค้าในตลาดที่มีศักยภาพทั้งเวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซียและสหรัฐฯรวมปรับกฎกติกาเพื่อมิให้การส่งออกไทยทรุด 2.ด้านท่องเที่ยวควรดูแลเรื่องความปลอดภัยและคล่องตัวนักท่องเที่ยวพร้อมโปรโมตความคุ้มค่าในการเข้ามาท่องเที่ยวในไทย 3.ส่งเสริมราคาสินค้าเกษตรแปรรูปหรือหาตลาดรองรับและ 4.ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการใช้งบประมาณจัดซื้อจัดจ้างในพื้นที่เพื่อสร้างรายได้แก่คนในพื้นที่  นอกจากนี้รัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อไม่ว่าจะด้วยมาตรการภาษีอีอีซีหรือด้านอื่นๆ เหล่านี้จะผลัดกันจีดีพีทั้งปีได้ที 3.5%

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯกล่าวว่า แนวโน้มครึ่งแรกของปีนี้จีดีพีไม่น่าจะดีนัก หลังสศช.ออกตัวเลขไตรมาสแรกตํ่ากว่าที่คาดพอควรประกอบกับสงครามทางการค้ายกระดับความเสี่ยงต่อการส่งออก จึงขอรอดูตัวเลขส่งออกก่อนจะทบทวนประมาณการในเดือนมิถุนายนนี้ 

“ครึ่งหลังฝากความหวังภายในประเทศ ถ้าการเมืองนิ่งรัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนโครงการและเบิกจ่ายตามแผนจะเรียกความเชื่อมั่นได้ดี โดยเฉพาะเมื่อมีรัฐบาล ผลักดันพ.ร.บ.งบประมาณ และมีการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐอย่างเห็นได้ชัด”

 

 

นายนริศ  สถาผลเดชา  ผู้บริหารTMB Analytics ระบุ สถานการณ์ส่งออกยังอ่อนแอทั้งปีโตได้ 0.5%ตามประมาณการเดิม แต่ปรับลดประมาณการเติบโตทั้งปีเหลือ 3.0% จากเดิมมอง 3.5%  สาเหตุไตรมาสแรกเศรษฐกิจชะลอมากกว่าคาด ทำให้แรงส่งต่อในช่วงที่เหลือมีข้อจำกัด และระยะต่อไปยังมีแรงกดดันจากสงครามทางการค้าจึงยากที่จะเห็นการส่งออกกลับมาในปีนี้ ขณะที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งออกไปสหรัฐโดนตัดสิทธิ GSP ราวมูลค่า 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 16% ของยอดส่งออกไปสหรัฐฯอาจทำให้ส่งออกทรุดตํ่ากว่าที่คาดได้อีก

หวั่นส่งออกทรุด!หั่นเป้าจีดีพีเหลือ3.6%

นริศ  สถาผลเดชา 

สำหรับครึ่งปีหลังความชัดเจนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ การเร่งสานต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอีอีซี เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะนำไปสู่การลงทุนของภาคเอกชนโดยเฉพาะการลงทุนของอุตสาหกรรมS-Curveที่ได้รับอนุมัติจากบีโอไอเมื่อปี 2559-60 ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเคมี เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ที่หากเริ่มลงทุนในปีนี้จะมีมูลค่า 6.3 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ยังมองระบบธนาคารพาณิชย์เผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจชะลอ คาดสินเชื่อทั้งปีเติบโตชะลอลงที่ 4.5% และแนวโน้มหนี้เอ็นพีแอลรายย่อยเพิ่มแตะ 1.3 แสนล้านบาทส่วนใหญ่สินเชื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์จากผลเร่งปล่อยสินเชื่อ 2 ปีที่ผ่านมา 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,472 วันที่ 23 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

หวั่นส่งออกทรุด!หั่นเป้าจีดีพีเหลือ3.6%