พิษคุมกู้ซื้อบ้าน ฉุดยอดโอนวูบ12%

22 พ.ค. 2562 | 00:00 น.

แบงก์พาณิชย์โอด LTV ฉุดยอดสินเชื่อบ้าน-โอนลด คาดไตรมาส 2 วูบ “ออมสิน” จ่อออกแพ็กเกจอุ้มลูกค้า ออมก่อนซื้อ-ผ่อนดาวน์ก่อนกู้ “กสิกรไทย” หนีเจาะตลาด Gen Y “ซีไอเอ็มบี ไทย” จ่อหารือธปท.ลดผลกระทบ หลังตัวเลขเม.ย.วูบ 50%

มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยกำหนดอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา หากดูตามข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีการสำรวจพฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของคนกรุงเทพฯ พบว่า กลุ่มผู้ซื้อ พิษคุมกู้ซื้อบ้านฉุดยอดโอนวูบ 12%

ที่อยู่อาศัยที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV จะอยู่ที่ประมาณ 18-22% เมื่อเทียบกับจำนวนบัญชีสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ในแต่ละปี โดยประเมินว่ามาตรการ LTV อาจมีผลต่อการซื้อที่อยู่อาศัยประมาณ 1.8-2.2 หมื่นบัญชี

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์นี้ธนาคารจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือลูกค้าและลดผลกระทบจาก LTV ประมาณ 2-3 โปรเจ็กต์ เช่น 1.ให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์สามารถให้ลูกค้ารายย่อยเข้าถึงบ้านได้มากขึ้น โดยที่ธนาคารไม่ได้รับความเสี่ยงมากขึ้น 2.กำหนดให้ลูกค้าออมเงินก่อนกู้ เนื่องจากลูกค้าต้องมีเงินดาวน์มากขึ้น ถือเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาวินัยการออม และ 3.ให้ลูกค้าผ่อนหรือชำระเงินผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ไประยะเวลาหนึ่ง แล้วค่อยโอนให้ธนาคาร เป็นต้น

ในไตรมาสแรกธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อแล้ว กว่า 1 หมื่นล้านบาท เป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้และทั้งปีตั้งเป้าไว้ที่ 6-7 หมื่นล้านบาท แต่หลังเดือนมีนาคมสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัยเริ่มชะลอตัว จึงเป็นที่มาที่ธนาคารเสนอคณะกรรมการธนาคาร (บอร์ด) ออกมาตรการช่วยเหลือ ส่วนยอดการปฏิเสธสินเชื่อภายหลังจากมีมาตรการ LTV ตัวเลขไม่ได้เปลี่ยนแปลง เนื่องจากธนาคารไม่ได้เปลี่ยนสูตรหรือหลักเกณฑ์ในการอนุมัติสินเชื่อ

ขณะที่คุณภาพสินเชื่อ หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3% มีอัตราเพิ่มขึ้นบ้างตามแนวโน้มหนี้ครัวเรือนที่ขยับเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับทั้งระบบยังถือว่าตํ่า เนื่องจากธนาคารช่วยเหลือลูกค้าที่มีปัญหาผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ยืดอายุการชำระหนี้ เป็นต้น

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒนา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาสแรกเติบโต 4% อยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านบาทส่วนหนึ่งมาจากยอดค้างโอนในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่วนไตรมาส 2 ยังเห็นภาพไม่ชัด แต่ยอมรับว่าน่าจะชะลอตัว

อย่างไรก็ดี ธนาคารมองว่า กลุ่ม Gen Yเป็น กลุ่มที่มีความสำคัญ และจะเห็นการเติบโตใน 1-2 ปีต่อจากนี้ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความต้องการที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะกลุ่มอายุตั้งแต่ 25-38 ปี มีรายได้มากกว่า 4 หมื่นบาทต่อเดือน และมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมากกว่า 50% ของรายได้ต่อเดือนยังไม่มีที่อยู่อาศัยของตัวเองมีสัดส่วนประมาณ 72% ของประชากรกลุ่มนี้ 1.89 ล้านคน กำลังมองหาบ้านราคาระดับ 2.5 ล้านบาทขึ้นไป ประมาณ 4.2-5 หมื่นหน่วยต่อปี จึงเป็นโอกาสในการเติบโตของธนาคาร

“ผลจาก LTV จะส่งผลให้กลุ่มคนที่มีความต้องการในการซื้อบ้านหลังแรก หลังที่ 2 และ หลังที่ 3 ชะลอ เนื่องจากลูกค้าต้องหาเงินส่วนต่างมาจ่ายเงินดาวน์มากขึ้น หากดูตัวเลขจากศูนย์วิจัยฯ คาดว่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปีนี้อาจอยู่ที่จำนวน 169,300 -177,000 หน่วย หรือหดตัวประมาณ 8.5 -12.5% ซึ่งเราก็ต้องหากลุ่มใหม่ๆ โต เช่น กลุ่ม Gen Y เป็นต้น”

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ยอมรับว่ายอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยชะลอตัวลงเล็กน้อยภายหลังจากมาตรการ LTV บังคับใช้ โดยยอดสมัครสินเชื่อใหม่ลดลง ส่วนหนึ่งมาจากลูกค้ารู้ตัวว่ามีเงินดาวน์ไม่เพียงพอ จึงตัดสินใจชะลอการซื้อออกไป ส่วนผลกระทบจะมีมากน้อยต่อเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อหรือไม่นั้น ธนาคารได้ติดตามอย่างใกล้ชิดในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี กลุ่มที่เข้าข่ายหลักเกณฑ์กำกับ เป็นเซ็กเมนต์ที่ธนาคารไม่ได้เน้นทำอยู่แล้ว จึงประเมินว่าภาพรวมไม่กระทบมากนัก

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยเดือนเมษายนเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมลดลงเกือบ 50% และเทียบเดือนเมษายนปีนี้กับปีก่อนก็ลดลง ส่วนหนึ่งมาจากลูกค้าชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย โดยในช่วง 4 เดือนแรกธนาคารปล่อยสินเชื่อไปแล้ว กว่า 7 พันล้านบาท จากเป้าทั้งปีอยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท โดยมีสัดส่วนยอดอนุมัติสินเชื่อทรงตัวอยู่ที่ 50-60% หนี้เอ็นพีแอลอยู่ที่กว่า 1% ธนาคารจึงขอประเมินผลกระทบจากมาตรการ LTV ก่อนจะเข้าไปหารือกับธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,471 วันที่ 19 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2562