‘เบนซ์’ ปรับไลน์ผลิตรับเก๋งเล็ก-อีวี...EQCนำเข้าขายปลายปีนี้

21 พ.ค. 2562 | 02:40 น.

เมอร์เซเดส-เบนซ์ ยอมรับแผนการทำตลาดรถยนต์รุ่นใหม่ในไทยล่าช้าหลายรุ่น แต่หลังจากนี้โรงงานธนบุรีฯปรับสายการผลิตลงตัว รองรับทั้งรถปลั๊ก-อินไฮบริด ตัวแรงเอเอ็มจีกลุ่มคอมแพ็กต์ รุ่นใหม่พร้อมการประกอบแบตเตอรี่ และอีวีในอนาคต ประเดิมนำเข้าเอสยูวี“อีคิวซี” มาขายก่อนปลายปีนี้ 

หากนับตั้งแต่ต้นปี 2562 เหมือน “เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย” จะบุกตลาดด้วยโปรดักต์ใหม่ๆหลายรุ่น ทั้ง เอสคลาส เฟซลิฟต์ปลั๊กอินไฮบริด S 560 e และกลุ่มตัวแรง เมอร์เซเดส-เอเอ็มจี ทั้งรุ่นประกอบในประเทศ CLS 53,C 43,E 53 และกลุ่มไฮเอนด์อย่าง GT Coupe 4 ประตู ที่มากับ 2 ทางเลือกคือ GT 53 4MATIC+ และ GT 63 S 4MATIC+ ตลอดจนออฟโรดระดับตำนาน G 63

ส่งผลให้เมอร์เซเดส-เอเอ็มจี ปัจจุบันมีขายรวม 18 รุ่น และยอดขายไตรมาสแรกของรถกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 79% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ขณะที่ยอดขายรวมทั้งหมดของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ทำได้ 3,287 คัน ลดลง 6.2%

แม้เมอร์เซเดส-เบนซ์จะบุกตลาดเอเอ็มจีเต็มสูบ แต่ตัวขายหลักยังต้องเน้นในกลุ่ม Contemporary Luxury และ Compact Car ซึ่งในกลุ่มแรก ซีคลาส เฟซลิฟต์ ที่กลับมาใหม่ด้วยเครื่องยนต์ดีเซล C220d (ตัวถังซีดาน) โดยเปิดตัวไตรมาสปีที่แล้ว แต่รุ่นที่หวังขาย C350e ปลั๊ก-อินไฮบริด ที่ต้องรอความพร้อมของโรงงานแบตเตอรี่ ที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ และธนบุรีประกอบรถยนต์ ร่วมกันลงทุนใหม่ จึงส่งผลให้การเปิดตัวล่าช้ามาถึงครึ่งหลังของปีนี้ 

ด้านกลุ่ม Compact Car ในตลาดโลกเริ่มทยอยเปลี่ยนโมเดลใหม่แล้ว ไล่ตั้งแต่ “เอคลาส” ตัวถังแฮตช์แบ็ก-ซีดาน “ซีแอลเอ” และที่ยังไม่เปิดตัวคือ“จีแอลเอ” รวมถึงเอสยูวีขนาดเล็ก 7 ที่นั่งสายพันธุ์ใหม่ “จีแอลบี” ซึ่งเมืองไทยจะมีการทำตลาดรถเหล่านี้ทั้งแบบนำเข้า(เมอร์เซเดส-เอเอ็มจี) และประกอบในประเทศ 

ดังนั้น ช่วงนี้ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการปรับสายการผลิตรับรถยนต์รุ่นใหม่ๆ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งการทำตลาดรุ่นนำเข้าหรือประกอบในประเทศมีผลโดยตรงต่อการตั้งราคา และกลุ่มคอมแพ็กต์ รถ Entry Level ที่มีความละเอียดอ่อนด้านราคามากกว่าโมเดลระดับอื่นๆ นั่นจึงหมายถึงถ้าไม่พร้อมจริงๆ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทยยังไม่เปิดตัวแน่

‘เบนซ์’ ปรับไลน์ผลิตรับเก๋งเล็ก-อีวี...EQCนำเข้าขายปลายปีนี้ ‘เบนซ์’ ปรับไลน์ผลิตรับเก๋งเล็ก-อีวี...EQCนำเข้าขายปลายปีนี้ ส่วนแผนงานของรถยนต์ไฟฟ้าทั้งประเภทปลั๊ก-อินไฮบริด และอีวี ที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ จัดให้อยู่ในแบรนด์เทคโนโลยี EQ ซึ่งในปี 2573 ค่ายรถหรูจากเยอรมนีตั้งเป้าขายเป็นสัดส่วน 50% ของยอดขายทั้งหมดทั่วโลก 

สอดคล้องกับแผนงานในเมืองไทย ที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนต่อบีโอไอทั้งปลั๊ก-อินไฮบริด และอีวี พร้อมโรงงานแบตเตอรี่รองรับการผลิตและขยายตัวดังกล่าว 

ในยุคประธานของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทยคนใหม่ “โรลันด์ โฟลเกอร์” ประกาศว่า ปีนี้เตรียมเปิดตัวรถยนต์ใหม่รวม 20 รุ่น (ต้นปีก็จัดไป 7 รุ่นแล้ว)  และมีอีวีเป็นหนึ่งในนั้น ขณะที่การลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตรถของเมอร์เซเดส-เบนซ์ให้สูงขึ้น

ล่าสุด มีความชัดเจนว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์เตรียมนำเข้าเอสยูวีพลังงานไฟฟ้า 100% รุ่น “อีคิวซี” มาเปิดตัวในไทยปลายปีนี้ หลังจากรถเพิ่งออกมาจากสายการผลิตที่โรงงานเมืองเบรเมน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมตั้งราคาเริ่มต้น 71,281 ยูโร หรือประมาณ 2.56 ล้านบาท และจะทยอยส่งมอบรถล็อตแรกให้ลูกค้าได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาที่จะนำมาเปิดตัวในเมืองไทย 

ส่วนแผนผลิต“อีคิวซี” ในเมืองไทยที่มีกระแสว่าทำแน่ๆแต่ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการในระดับโลก(เหมือนโรงงานแบตเตอรี่) เพราะ รายงานล่าสุดเมอร์เซเดส-เบนซ์ จะใช้โรงงาน 6 แห่งใน 4 ประเทศผลิต “อีคิวซี” และอีวีรุ่นอื่นๆ แบ่งเป็นโรงงานในเยอรมนี 3 แห่ง และอีก 3 แห่งที่ฝรั่งเศส, จีน, สหรัฐอเมริกา

“โรงงานในเมืองไทยลงทุนปรับสายการผลิตใหม่ เพื่อรองรับรถยนต์หลายรุ่น พร้อมการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และแน่นอนว่าสามารถยืดหยุ่นรองรับการผลิตอีวีได้ ทว่าจะเริ่มดำเนินการเมื่อไหร่ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ” นายฟรังค์ ชไตน์อัคเคอร์ รองประธานบริหารฝ่ายขายและการตลาด เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย กล่าวและว่า

‘เบนซ์’ ปรับไลน์ผลิตรับเก๋งเล็ก-อีวี...EQCนำเข้าขายปลายปีนี้ ‘เบนซ์’ ปรับไลน์ผลิตรับเก๋งเล็ก-อีวี...EQCนำเข้าขายปลายปีนี้ ปัจจุบัน เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ทำงานร่วมกับบีโอไออย่างใกล้ชิด และพยายามหาสรุปในหลายๆประเด็น เช่น หากค่ายรถยนต์มีแผนขึ้นไลน์ผลิตอีวีพร้อมชิ้นส่วนที่เกี่ยวเนื่องในเมืองไทย จะได้สิทธิ์นำเข้ารถพลังงานไฟฟ้ารุ่นนั้นมาขายได้“จำนวนหนึ่ง”โดยไม่เสียภาษีนำเข้า 

“คำว่าสามารถนำเข้ามาได้จำนวนหนึ่ง(ไม่เสียภาษีนำเข้า)ของบีโอไอ ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นจำนวนเท่าไหร่ และคิดจากพื้นฐานอะไร(ต่อเงินลงทุน,การผลิต, การขาย) ซึ่งประเด็นนี้มีผลต่อการเดินหน้าผลิตรถพลังงานไฟฟ้าในเมืองไทย”นายชไตน์อัคเคอร์ กล่าวสรุป 

ทั้งนี้ ช่วงต้นปี 2561 เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประกาศลงทุน 100 ล้านยูโร หรือประมาณ 3,600 ล้านบาท ร่วมกับธนบุรีประกอบรถยนต์สร้างโรงงานแบตเตอรี่ใหม่ ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ 30 ไร่เดิมในจังหวัดสมุทรปราการ

โดยโรงงานแบตเตอรี่ในประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในเครือข่ายการผลิตแบตเตอรี่ทั่วโลกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ นอกเหนือไปจากเยอรมนี สหรัฐอเมริกา จีน โปแลนด์ ซึ่งเดมเลอร์ เอจี (บริษัทแม่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์)ใช้เงินลงทุนรวมกว่า 1,000 ล้านยูโร หรือกว่า 36,000 ล้านบาท 

 

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,471 วันที่ 19 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

‘เบนซ์’ ปรับไลน์ผลิตรับเก๋งเล็ก-อีวี...EQCนำเข้าขายปลายปีนี้