หุ้นผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกเด้งรับข่าว ทรัมป์เลื่อนขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์อียู 180 วัน

17 พ.ค. 2562 | 07:01 น.

เพียงแค่มีข่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯจะเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนประกอบรถยนต์จากสหภาพยุโรป (อียู) ออกไปก่อน เป็นเวลาถึง 180 วัน หรือ 6 เดือน จากเดิมที่มีกำหนดเส้นตายในวันเสาร์ที่ 18 พ.ค. 2562 นี้ พลันเสียงตอบรับจากอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกก็เซ็งแซ่ไปในทิศทางบวก  เพราะข่าวดังกล่าวไม่เพียงลดอุณหภูมิความร้อนแรงของการเผชิญหน้าทางการค้าระหว่าง 2 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกอย่างสหรัฐฯและอียู แต่ยังทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งปัจจุบันมีห่วงโซ่การผลิตโยงใยเชื่อมโยงถึงกันไปทั่วโลก ต่างรับรู้ถึงสภาวะผ่อนคลาย และความกดดันที่ลดลงจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกำแพงภาษี  ราคาหุ้นของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในหลายภูมิภาคทั้งอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ปรับตัวสูงขึ้นตามๆกันเมื่อวันที่ 15 พ.ค. หลังจากที่มีข่าวเกี่ยวกับการตัดสินใจเลื่อนการขึ้นภาษีดังกล่าวเผยแพร่ออกมาและได้รับการยืนยัน

  หุ้นผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกเด้งรับข่าว ทรัมป์เลื่อนขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์อียู 180 วัน

หุ้นบริษัทฟอร์ดและจีเอ็ม ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้น 1.2% และ 0.9% ตามลำดับ ส่วนหุ้นของเฟี๊ยต ไครสเลอร์ (บริษัทร่วมทุนอิตาเลี่ยน-อเมริกัน) ขยับสูงขึ้นถึง 1.9%  ด้านบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ฝั่งยุโรปเช่น บีเอ็มดับเบิ้ลยู  เดมเลอร์ และโฟล์คสวาเก้น ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 3% ขณะที่หุ้นของบริษัทรถยนต์ฝรั่งเศสอย่าง เรโนลต์ และเปอโยต์ ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.3% เนื่องจากมีการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯน้อยกว่าเมื่อเทียบกับรถยนต์เยอรมัน

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เคยขู่จะขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าจากอียูในอัตราสูงสุดถึง 25% โดยอ้างเหตุผลว่าด้วยความมั่นคงของประเทศ จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปทำการศึกษาถึงผลกระทบของรถยนต์นำเข้าจากยุโรป ก็ยื่นเสนอรายงานผลการศึกษาต่อประธานาธิบดีทรัมป์ ยืนยันว่าเขาสามารถออกคำสั่งขึ้นภาษีนำเข้าด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงได้ และตามกำหนดเดิมนั้น ผู้นำสหรัฐฯจะต้องตัดสินใจและประกาศขึ้นภาษีภายในวันที่ 18 พ.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม กระแสคัดค้านก็มีมาทั้งจากสมาชิกสภาฯฝ่ายพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นฝ่ายค้านและฝ่ายรีพับลิกันที่เป็นพรรครัฐบาล เพราะเห็นว่าสหรัฐฯไม่ควรใช้เหตุผลด้านความมั่นคงกับการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯมายาวนาน  

หุ้นผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกเด้งรับข่าว ทรัมป์เลื่อนขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์อียู 180 วัน

แม้แต่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯเองก็ยังคัดค้านแผนการขึ้นภาษีดังกล่าว โดยกลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตรถยนต์แห่งสหรัฐอเมริกา (Alliance of Automobile Manufacturers) ได้แสดงความคิดเห็นผ่านรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯว่า แผนการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนประกอบรถยนต์จากอียูสู่สหรัฐฯ จะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด และสร้างผลกระทบเชิงลบที่รุนแรงต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯเองรวมทั้งเหล่าคนงานในอุตสาหกรรม ไม่เพียงเท่านั้น หากสหรัฐฯยืนยันขึ้นภาษีจริงตามคำขู่ ทางอียูเองก็เตรียมมาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯเป็นการตอบโต้เอาไว้แล้ว คิดเป็นมูลค่าวงเงินถึง 300,000 ล้านดอลลาร์

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก การเลื่อนแผนขึ้นภาษีรถยนต์และชิ้นส่วนประกอบรถยนต์จากอียูของรัฐบาลสหรัฐฯนับเป็นข่าวดีสำหรับทั้งวงการ เนื่องจากกำแพงภาษีที่ขยับสูงขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและต้นทุนดำเนินการปรับตัวสูงขึ้นในวงกว้าง เนื่องจากห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกันทั่วโลก  นักวิเคราะห์กล่าวว่า เมื่อแรงกดดันจากข่าวการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ของสหรัฐฯแผ่วลง ตอนนี้อุตสาหกรรมยานยนต์โลกก็ต้องหันมาจับตาปัญหาด้านอื่นแทน ซึ่งก็มีอีกหลากหลาย โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์ในภาพรวมของตลาดจีนที่ปรับลดลงมาก  สถิติของไตรมาสแรกปี 2562 ชี้ว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในจีนซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดในโลก ปรับตัวลดลงถึง 14% ในเชิงปริมาณ ขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์ในตลาดสหรัฐฯ ลดลงที่อัตรา 2% ในไตรมาสเดียวกัน

  หุ้นผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกเด้งรับข่าว ทรัมป์เลื่อนขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์อียู 180 วัน

งานวิจัยของธนาคารแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า สงครามการค้าส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อรถยนต์ของผู้บริโภคและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทผู้ผลิต แม้ว่ารถยนต์ส่วนใหญ่จะผลิตในตลาดเป้าหมายที่รถยนต์นั้นๆจำหน่าย แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับรถยนต์หรูราคาแพง ที่มักจะต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ การปรับให้กำแพงภาษีสูงขึ้นจะเป็นการเพิ่มปัญหาให้กับผู้ผลิต และมีผลกดดันราคาหุ้นของบริษัทผู้ผลิตด้วย  

 

นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงผลกระทบจาก ข้อตกลงสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และแคนาดา หรือ USMCA ซึ่งเป็นชื่อใหม่ของ “นาฟต้า” ข้อตกลงการค้าเสรีไตรภาคีระหว่าง 3 ประเทศดังกล่าว ที่มีการรื้อหลายประเด็นมาเจรจาตกลงกันใหม่ และหนึ่งในนั้นก็เป็นเรื่องของ Rules of Origin หรือกฎกติกาว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าซึ่งจะถูกนำมาพิจารณาเพื่อการใช้สิทธิประโยชน์ของข้อตกลง  ขณะที่เชื่อกันว่าข้อตกลงใหม่จะก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 34,000 ล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลา 5 ปี และก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่ 73,000 ตำแหน่ง แต่ในเชิงลบก็คาดว่ากฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น จะทำให้ราคาจำหน่ายรถยนต์ในตลาดสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง และอาจส่งผลให้ยอดขายปรับลดลง 140,000 คัน (ข้อมูลจากรายงานของคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศ หรือ ITC ของสหรัฐฯ) และตำแหน่งงานในบางสายการผลิตของโรงงานประกอบรถยนต์ จะหายไป 1,500 ตำแหน่ง แต่ตัวเลขดังกล่าวก็จะได้รับการชดเชยโดยการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นราว 30,000 ตำแหน่งในส่วนของอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ เนื่องจากจะมีการผลิตเครื่องยนตร์และระบบส่งกำลัง (ระบบเกียร์) ในสหรัฐฯเพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลมาจากข้อตกลง USMCA ที่กำหนดให้รถยนต์ที่จะได้รับประโยชน์ทางภาษีจากข้อตกลงนี้ ต้องมีชิ้นส่วนประกอบ 75% ผลิตในอเมริกาเหนือ (ภายในปี 2566)  และ 40% ต้องผลิตในโรงงานที่มีค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 16 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง เป็นต้น  

หุ้นผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกเด้งรับข่าว ทรัมป์เลื่อนขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์อียู 180 วัน