จีนหนีศึกมะกัน เบอร์1ลงทุนไทย

16 พ.ค. 2562 | 05:50 น.

สงครามการค้ายื้อ บีบจีนย้ายฐานลงทุนครั้งใหญ่ ไทยเบอร์ 2 รองเวียดนาม หวั่นดันตัวเลขไทยได้ดุลการค้ามะกันพุ่ง เสี่ยงถูกตอบโต้ 3 เดือนแรกปี 62 จีนผงาดอันดับ 1 ลงทุนไทย พาณิชย์ผวาส่งออกวูบ 2.1 แสนล้าน

 

สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนยังยืดเยื้อ หลังโดนัลด์ ทรัมป์ผู้นำสหรัฐฯสั่งขึ้นภาษีสินค้าจีนครั้งใหม่จาก 10% เป็น 25% คิดเป็นมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีผลตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2562 ขณะที่จีนสั่งขึ้นภาษีตอบโต้ในอัตรา 20-25% มูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2562 ยังไร้วี่แววทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถเจรจาตกลงกันได้ หลายฝ่ายมองนับจากนี้จะมีคลื่นการลงทุนของจีนระลอกใหญ่ไหลออกนอกประเทศ เพื่อใช้เป็นฐานผลิตส่งออกไปสหรัฐฯทดแทนฐานผลิตในจีน เพื่อเลี่ยงภาษีสูง

 

ไทยเสี่ยงถูกตอบโต้

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ไทยคงต้องติดตามและเฝ้าระวังการย้าย/ขยายฐานการผลิตสินค้าของจีนมาไทยอย่างใกล้ชิด เพราะจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้การเกินดุลการค้าของไทยที่มีต่อสหรัฐฯเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯอยู่ในอันดับที่ 11-12 หากการขยายการลงทุนของจีนมาไทยเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออก และเกินดุลการค้าของไทยที่มีต่อสหรัฐฯเพิ่มขึ้น มาอยู่ใน 10 อันดับแรก ไทยมีความเสี่ยงจะถูกสหรัฐฯเพ่งเล็งและใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าแบบเดียวกับจีนได้ จะทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯอาจมีปัญหา

 

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่เผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานทางเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ได้รายงานถึงสถานการณ์การลงทุนในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ให้ทราบว่า จากสงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อ ส่งผลให้นักลงทุนจีนส่วนใหญ่ที่เป็นรายใหม่ และยังไม่เคยมีฐานการผลิตในไทย มีความสนใจที่จะตั้งโรงงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี มากกว่านักลงทุนญี่ปุ่นที่ส่วนใหญ่เป็นรายเดิมที่มาตั้งในพื้นที่อีอีซี การย้ายฐานผลิตของนักลงทุนจีนมาไทยนี้ เป้าหมายหลักเพื่อใช้เป็นฐานผลิตส่งออกไปสหรัฐฯ จีนหนีศึกมะกัน  เบอร์1ลงทุนไทย

 

จีนผงาดเบอร์ 1 ลงทุนไทย

ผู้สื่อข่าวตรวจสอบข้อมูลของบีโอไอถึงการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ(FDI)ในไทย ช่วง 3 เดือนแรกปี 2562 พบว่า จีนเป็นนักลงทุนอันดับ 2 ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากสุดรองจากญี่ปุ่น โดยยื่นขอส่งเสริม 38 โครงการ(กราฟิกประกอบ) จากช่วงเดียวกันของปีก่อนยื่นขอส่งเสริม 23 โครงการ หรือเพิ่มขึ้น 65% มูลค่าการลงทุน 9,072 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมูลค่าลงทุน 2,836 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 219% โดยช่วงไตรมาสแรกจีนได้รับอนุมัติส่งเสริมแล้ว 33 โครงการ มูลค่าลงทุน 29,255 ล้านบาท ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของการลงทุนจากต่างชาติ

 

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงทุนอาจหนีจากจีนมาไทยบ้าง ไม่มากก็น้อย แต่ที่ไปเวียดนามแล้ว มีมูลค่ามหาศาล ปีที่ผ่านมา การลงทุนเพื่อการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น 81% จากปีก่อน มีการลงทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 215% มากกว่า 2 เท่า นอกจากนี้การส่งออกสินค้าของเวียดนามไปสหรัฐฯ ยังเพิ่มขึ้น 28.8%

 

สอดคล้องกับนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.)ที่กล่าวว่า ภูมิภาคแรกที่จีนให้ความสนใจลงทุนมากสุดคืออาเซียน เป้าหมายหลักการลงทุนของจีนในอาเซียนคือเวียดนาม ถัดมาคือไทย เนื่องจากไทยยังคงมีปัญหาเรื่องจำนวนแรงงานรองรับ นอกจากจีนใช้เป็นฐานผลิตส่งออกได้แล้ว อีกด้านหนึ่งทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคมากกว่า 640 ล้านคน และบริษัทจีนจะได้รับประโยชน์จากการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) ในบางประเทศเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ

 

ส่งออกหวั่นสูญ2แสนล.

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า กระทรวงเตรียมเชิญกลุ่มนักลงทุนและผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ และชิ้นส่วนมาหารือเบื้องต้นก่อน เพราะเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีสินค้าตอบโต้กันของสหรัฐฯและจีนมากที่สุด โดยมีรองนายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานก่อนที่จะมีการประชุมหารือกับทูตพาณิชย์ทั่วโลกในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อกำหนดเป้าหมายส่งออกต่อไป

 

“สนค.ได้ประเมินผลกระทบเบื้องต้นจากการขึ้นภาษีเป็น 25% ของสหรัฐฯที่ครอบคลุมสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พบว่าอาจทำให้มูลค่าการส่งออกไทยลดลงประมาณ 5,600-6,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.79-2.14 แสนล้านบาท คำนวณที่ 32 บาท/ดอลลาร์)เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้ครอบคลุมรายการที่ไทยส่งออกไปประเทศต่างๆ ประมาณ 46% โดยตัวเลขดังกล่าว คำนวณจากทั้งการส่งออกไปสหรัฐฯ ทดแทนจีน การส่งออกไปจีน และการส่งออกสินค้าที่เป็นห่วงโซ่การผลิตจีนไปยังตลาดอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ไต้หวัน มาเลเซีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และเวียดนาม” 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,470 วันที่ 16 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

จีนหนีศึกมะกัน  เบอร์1ลงทุนไทย