หวั่นสหรัฐฯผุด‘สงครามตัวแทน’กดดันส่งออกไทย

16 พ.ค. 2562 | 11:10 น.

 

กูรูประเมินไทย หลุด 3 เงื่อนไข ประเทศเฝ้าระวังแทรกแซงค่าเงิน แต่อย่าวางใจ ชี้มีโอกาส “โดนัลด์ ทรัมป์” ใช้วิธีทางอ้อม ผ่านประเทศคู่ค้าไทย หรือ Proxy Way แนะผู้ส่งออกไทยรักษาฐานประเทศคู่ค้า อย่ารอรัฐบาล ชี้ 2 ปัจจัยหนุนเงินบาทแข็ง “เสถียรภาพการเมือง-ราคานํ้ามัน”

ภาพการค้าโลกกลับมาอึมครึมอีกครั้ง หลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯอเมริกา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษี 25% กับสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมกับที่จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษี 20-25% กับสินค้าสหรัฐฯมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน ยังมีกระแสข่าวออกมาอีกว่า ไทยติด 1 ใน 20 ประเทศที่กระทรวงการคลัง สหรัฐฯ จะขึ้นบัญชี “เฝ้าระวัง” กรณีเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน(Currency Manipulator) ซึ่งจะครบรอบปีเปิดรายชื่อในเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นประเด็นที่กลับมาลุ้นอีกรอบ เนื่องจากเข้าข่าย 3 เงื่อนไขประเทศที่ต้องเฝ้าระวังการแทรกแซงค่าเงินคือ1.เกินดุลบัญชีเดินสะพัดสหรัฐฯ

 

 

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT)กล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แม้ไทยจะติด 1 หรือ 2 ใน 3 เงื่อนไขของการแทรกแซงค่าเงิน แต่ส่วนตัวยังมองเหตุผลสนับสนุนได้ว่า ไทยไม่น่าจะอยู่ในข่ายหรือติดโผประเทศที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะหากย้อนดูประวัติที่ผ่านมา สหรัฐฯจะขึ้นบัญชีหรือแบนประเทศที่เกินดุลการค้ามากอย่างเห็นได้ชัด อย่าง จีน ญี่ปุ่น เยอรมนีหรือ เม็กซิโก ขณะที่ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯไม่มากนักในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการค้าและการท่องเที่ยว ประกอบกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย

หวั่นสหรัฐฯผุด‘สงครามตัวแทน’กดดันส่งออกไทย

อมรเทพ จาวะลา

“อย่าเพิ่งวางใจ แม้เราจะมีเหตุผลสนับสนุน แต่ยังไม่แน่ใจว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ จะใช้วิธีเบนทางตรงคือ อาจขยับฐานภาษีโดยตรงกับสินค้าส่งออกของไทย แต่อย่างน้อยเขาจะมีเวลาของการเจรจา หรือหากจะแบนไทยทางอ้อม ด้วยการขยับฐานภาษีกับประเทศที่เป็นซัพพลายเชน ซึ่งต้องจับตา 2 ประเทศคือ จีนและเวียดนาม เพราะดูจากค่าเงินแล้ว จะเห็นการอ่อนค่าเพียงขาเดียว ซึ่งแตกต่างจากเงินบาทที่เคลื่อนไหวใน 2 ทางทั้งอ่อนค่าและแข็งค่า”

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน บมจ.ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า ปีที่ผ่านมา ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯ ไตรมาสละ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตัวเลขจากกระทรวงพาณิชย์พบว่า ปี 2561 ไทยเกินดุลการค้า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนทุนสำรองสิ้นปี 2561 เพิ่มจาก 2.05 เป็น 2.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯและดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 7% ต่อจีดีพี โดยรวมไทยเป็นประเทศขายมากกว่าซื้อ ซึ่งสอดคล้องกับการพึ่งพิงการส่งออกสินค้ามาอย่างต่อเนื่อง

 

 

เมื่อสถานการณ์การค้าโลกสะท้อนผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้ส่งออกไทย ไม่ว่าปริมาณการส่งออกที่มีแนวโน้มลดลง จากมาตรการทางกำแพงภาษี หรือกรณีจีนและประเทศอาเซียนลดการนำเข้าจากไทย ซึ่งเป็นผลกระทบทางอ้อมจากสงครามทางการค้าและยังมีความไม่แน่นอนที่สหรัฐฯอาจขึ้นภาษีอีก 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อตอบโต้จีน ที่ประกาศขึ้นภาษี 25% เท่ากับที่สหรัฐฯปรับขึ้นสำหรับสินค้าจากจีน ซึ่งย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่ไม่กระทบสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯส่งออกเพียง 10-15%

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังมองว่า สหรัฐฯอาจจะมองข้าม 3 เงื่อนไขประเทศที่ต้องเฝ้าระวังสำหรับไทย แต่มีโอกาสที่จะเห็นสหรัฐฯใช้วิธีกันการค้าผ่านประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งเป็นสงครามตัวแทนหรือ Proxy War โดยสหรัฐฯอาจจะเลือกประเทศหนึ่งขึ้นมาเพื่อกดดันจีน เพราะการเอาชนะจีนนั้น เป็นเหตุผลทางการเมืองที่เรียกคะแนนเสียงนายโดนัลด์ ทรัมป์เพิ่มขึ้นตลอดหลังจากทรัมป์มีมาตรการหรือแนวทางจัดการจีน

“หากประเทศใดประเทศหนึ่งถูกสหรัฐฯจับเป็น Proxy War เราหนีไม่พ้นผลกระทบจากสงครามการค้าดังนั้นผู้ส่งออกไทยในระยะสั้นต้องรักษาฐานของประเทศคู่ค้าไว้ให้ได้อย่ารอรัฐบาล และอนาคตควรต้องขยายฐานการผลิตไปในประเทศคู่ค้ารวมทั้งเน้นกำลังซื้อหรือสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศและลดการส่งออกให้น้อยลงเพราะเหล่านี้เป็นเทรนด์ ของการค้าโลก”

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,470 วันที่ 16 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

หวั่นสหรัฐฯผุด‘สงครามตัวแทน’กดดันส่งออกไทย