เปิดรับฟังความเห็นนักลงทุนชิงพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ

14 พ.ค. 2562 | 05:53 น.

รฟท.เตรียมเปิดประมูลงานพื้นที่เชิงพาณิชย์บางซื่อ เชื่อเงินสะพัดในสถานีเติบโตทะลุ 600% ผู้โดยสารล้น 4 แสนคน/วัน ภายใน 20 ปี แบ่ง 2 สัญญาหลัก เผยชื่อ 4 บิ๊กทุนชิงเค้กพื้นที่แปลงเอ 1 หมื่นล้านบาท ทุนญี่ปุ่นผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาขอมีเอี่ยวผสมโรงด้วย


เปิดรับฟังความเห็นนักลงทุนชิงพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ

นายฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการ ฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่าได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุน(Market Sounding) ของโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีกลางบางซื่อ พื้นที่รวม 13,000 ตร.ม. ระยะเวลาสัมปทาน 5 ปี แบ่งเป็น 2 สัญญา 1.เปิดให้เอกชนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ผลตอบแทนรฟท.ขั้นต่ำ 100 ล้านบาทตามอายุสัมปทาน 2.งานจ้างเอกชนบริหารสถานีกลางบางซื่อ รายจ่ายราว 300 ล้านบาท/ปี ตามอายุสัมปทาน เมื่อคิดเป็นค่าเช่าต่อตร.ม.แล้วอยู่ที่ 1,400-2,000 บาท/ตร.ม./เดือน
อย่างไรก็ตามกรอบเวลาการเปิดประมูลโครงการดังกล่าว รฟท.จะเร่งร่างเอกสาร TOR ให้แล้วเสร็จในเดือนก.ค.นี้ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด) รฟท.ในเดือนส.ค. และประกาศให้เอกชนยื่นซองในเดือนพ.ย.-ธ.ค. คาดว่าจะได้ตัวเอกชนภายในกลางปี 2563 

โดยจากข้อมูลการศึกษาโครงการพบว่าปริมาณเงินสะพัดภายในสถานีกลางบางซื่อมีอัตราการเติบโตราว 600%-700% ในระยะเวลา 20 ปีตั้งแต่เปิดบริการในปี 2564 ปีแรกจะมีเงินสะพัด 5 ล้านบาท/วัน จากนั้นในปีจะอยู่ที่ 25 ล้านบาท/วันในปี 2575 ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 35-40 ล้านบาท/วัน ในปี 2585 ขณะที่ข้อมูลด้านปริมาณผู้โดยสารพบว่าในปีแรก 2564 จะมีผู้ใช้บริการ 80,000 คน/วัน ก่อนจะเพิ่มเป็น 250,000-300,000 คน/วัน ในปี 2575 จากนั้นจะเพิ่มเป็น 350,000-400,000 คน/วัน ในปี 2585 

นายฐากูรกล่าวอีกว่ากิจกรรมที่จะเปิดให้พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ได้แก่ ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร ป้ายโฆษณาดิจิทัล บิลบอร์ด เป็นต้น ขณะที่งานจ้างบริหารจะคลอบคลุม งานบริการ งานรักษาความปลอดภัย เทคโนโลยีบริหาร เป็นต้น สำหรับขอบเขตของพื้นที่ของอาคารสถานีกลางบางซื่อเป็นอาคารสูง 3 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นใต้ดิน เป็นพื้นที่จอดรถประมาณ 1,613 คัน มีโถงเชื่อมต่อจากพื้นที่จอดรถ (58,210ตรม.) ทางเดินขึ้นไปยังชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร ชั้น 1 (พื้นที่ประมาณ 122,810 ตารางเมตร) ประกอบด้วย โถงพักคอยของผู้โดยสาร และโถงชานชาลาผู้โดยสาร มีจุดเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อของ MRT ในปัจจุบันและพื้นที่ส่วนพาณิชยกรรมร้านค้าชั้นลอยที่ 1 (พื้นที่ประมาณ 9,800 ตารางเมตร) เป็นพื้นที่ส่วนพาณิชยกรรมร้านค้า ชั้น 2 รวมชั้นลอย 2 (พื้นที่ประมาณ 50,860 ตารางเมตร) ประกอบด้วย พื้นที่ต้อนรับบุคคลสำคัญ (VIP) ส่วนควบคุมระบบการเดินรถและพื้นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่อาคาร ส่วนชานชาลารถไฟทางไกล (LD Platform Level) ชานชาลารถไฟชานเมือง (CT Platform Level) ชั้น 3 (พื้นที่ประมาณ 43,800 ตารางเมตร) ประกอบด้วย ชานชาลารถไฟมาตรฐานและรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสามสนามบิน

 

 


ด้านแหล่งข่าวจากรฟท.แจ้งว่าผลการเปิดขายซองประมูลโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ แปลง A พื้นที่ 32 ไร่ วงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท นั้น มีเอกชนสนใจซื้อTOR ทั้งหมด 4 ราย ได้แก่ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) อีกรายบริษัทเออร์เบิลเอเยนซีผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจากประเทศญี่ปุ่น หลังจากนี้ รฟท.จะเปิดให้ยื่นข้อเสนอ 4 ซอง วันที่ 30 ก.ค.นี้ มีซองคุณสมบัติ ซองข้อเสนอเทคนิคและแผนลงทุน ซองข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนแก่ ร.ฟ.ท. และซองข้อเสนอเพิ่มประสิทธิภาพโครงการ เอกชนสามารถยื่นประมูลทั้งนิติบุคคลหรือกิจการร่วมค้าก็ได้ แต่คนที่เป็นแกนนำต้องซื้อเอกสารเท่านั้น ส่วนต่างชาติจะร่วมได้ไม่เกิน 49% คาดเซ็นสัญญาปีนี้ เริ่มสร้างปีหน้า เปิดบริการส่วนแรกเป็นพื้นที่รีเทลปี 2564 รองรับเปิดสถานีบางซื่อของสายสีแดง และจะเปิดทั้งโครงการปี 2566 ทั้งนี้แผนพัฒนาจะเป็นรูปแบบผสมผสาน(Mixed-use) มีร้านค้า โรงแรม สำนักงาน พื้นที่อาคารรวมไม่น้อยกว่า 3.17 แสนตารางเมตร ระยะเวลาดำเนินการ 34 ปี