คอนโดส่อวิกฤติ คนหมดแรงผ่อน ยอดหลุดโอนพุ่ง

13 พ.ค. 2562 | 01:35 น.

 

ดีเวลอปเปอร์เร่งระบายสต๊อก งัดแคมเปญ “โปรหลุดดาวน์” แบงก์ ชี้ผลกระทบจิตวิทยามาตรการ LTV ทำลูกค้าซื้อลงทุน ปล่อยเช่าเก็งกำไรเผ่นทิ้งดาวน์ หวั่นกู้ไม่ผ่าน-ผ่อนไม่ไหว “กรุงศรีอยุธยา” แนะคนซื้อดูให้ดี อาจแค่กิมมิกการตลาด 

แหล่งข่าวจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เปิดเผยว่า ตลาดในภาพรวมปีนี้ค่อนข้างชะลอตัว ผลข้างเคียงจากมาตรการคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยใช้เกณฑ์ LTV และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กระทบต่อกำลังซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคทุกกลุ่ม แต่ที่น่าจับตาคือตลาดคอนโดมิเนียม นอกจากระดับราคา กลุ่มกลางล่างที่มีปัญหายอดขายลดแล้ว วันนี้ตลาดลักชัวรีหรือกลุ่ม บนเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวด้วยเช่นกัน ซึ่งลูกค้าในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะซื้อลงทุนเพื่อปล่อยเช่า เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดี ปรับ พฤติกรรมการซื้อลงทุนระมัดระวังมากขึ้น บางรายไม่รับโอนห้องชุด ทำให้ผู้ประกอบการต้องนำห้อง ชุดเหล่านี้กลับมาขายใหม่ จนเกิดแคมเปญคอนโดฯหลุดโอน

“ที่ผ่านมากลุ่มที่ซื้อลงทุนจะจองจำนวนมาก และไม่ใช่ซื้อเพียงโครงการเดียว แต่จะเป็นแฟนคลับของดีเวลอปเปอร์ชั้นนำ เมื่อมีสถานการณ์ตลาดเปลี่ยน หากคำนวณแล้วลงทุนไม่คุ้ม ก็เลือกที่จะไม่โอนห้องชุด โดยต่อรองกับเจ้าของโครงการขอคืนส่วนหนึ่ง ซึ่งผู้ประกอบการก็อะลุ้มอล่วยในฐานะลูกค้าประจำ”

สำหรับดีเวลอปเปอร์ที่จัดแคมเปญแรงก็มี บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ผู้นำตลาดบ้านหรูของวงการ นำคอนโดฯหลุดโอนแบรนด์ระดับบน มี เดอะ แบ็งคอก, เดอะ รูม และเดอะคีย์ รวม 5 โครงการ 5 ทำเล โดยมีห้องหลุดโอนรวมประมาณ 200 ยูนิต จากจำนวนหน่วยทั้งหมดประมาณกว่า 2,000 หน่วย คิดเป็นห้องหลุดโอนประมาณ 10% สำหรับห้องหลุดโอนนี้มีราคาลดมากกว่า 20% หวังจูงใจลูกค้าที่มีเงินเย็น อีกราย บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ นำโครงการแอชตัน สีลม จัดโปรอยู่ฟรี 2 ปี รับส่วนลดสูงสุด 2 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวถึงการระบายสต๊อกโครงการที่อยู่อาศัยของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่มีสัญญาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการไม่ต้องการแบกรับภาระต้นทุน จึงเร่งระบายสินค้า ออกมาผ่านการจัดแคมเปญที่เรียกว่า “โปรหลุดดาวน์” ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มคอนโดมิเนียมเป็นหลัก ส่วนแนวราบราคาแพงอาจจะมีน้อย เนื่องจากแนวราบราคาเกิน 10 ล้านบาท จะเข้าข่ายเป็นบ้านหลังที่ 2 และ 3 ซึ่งอดีตสามารถขอกู้เต็ม 100% แต่หลังจากมีหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) จะต้องวางดาวน์ 20% ทำให้ลูกค้าจะต้องมีเงินวางดาวน์ 2 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะมีวงเงินในจำนวนดังกล่าว

สัญญาณยอดหลุดจองที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากเชิงจิตวิทยา ในกลุ่มลูกค้าที่ต้องการซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อปล่อยเช่าที่อาจจะทำได้ยากขึ้น โดยมาจากปัจจัย 2-3 ข้อ คือ 1.ลูกค้าบางคนที่ตัดสินใจซื้อแล้ว แต่การซื้อนั้นส่งผลกระทบต่อลูกค้า เช่น ภาระเงินที่จะนำมาผ่อนชำระ ทั้งการซื้อเงินสด หรือการใช้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ซึ่งภายหลังมีหลักเกณฑ์ LTV เข้ามาเพิ่มเติม ทำให้การขอสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ยากขึ้น 2.ลูกค้าไม่โอนบางโครงการในตลาดคอนโดมิเนียม ภายหลังจากตัดสินใจซื้อช่วง Presale ก่อนโครงการยังสร้างไม่เสร็จ แต่ปัจจุบัน โครงการสร้างแล้วเสร็จพบว่าสภาพ แวดล้อมสถานการณ์เปลี่ยนแปลง ทำให้ลูกค้าชะลอตัดสินใจซื้อ และ 3.มาตรการ LTV ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อที่ไม่ใช่บ้านหลังแรก ส่งผลให้มีเงินไม่เพียงพอ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อยอดการหลุดจองดาวน์ที่เพิ่มขึ้น

“สถานการณ์ที่ลูกค้าปล่อย หลุดดาวน์ เพราะลูกค้าที่ซื้อเพื่อปล่อยเช่าต่อมองว่าจะทำได้ยากขึ้น เมื่อเทียบกับราคาแล้วไม่คุ้ม จึงปล่อยให้หลุดดาวน์ ถ้าถามว่าแบงก์เข้มงวดปล่อยสินเชื่อหรือไม่ จะเห็นว่าแบงก์เข้มงวดและระมัดระวังมากขึ้น แต่ไม่ได้เป็นเหตุผลเดียวที่ลูกค้าทิ้งดาวน์”

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมาทำโปรหลุดดาวน์ มองว่า เป็นแค่ลูกเล่น (Gimmick) ในการทำการตลาดเพื่อดึงดูง ซึ่งผู้ประกอบการสามารถจะเสนอโปรโมชันให้กับลูกค้าได้ในราคาที่ถูกลง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นการหลุดดาวน์จริงหรือไม่ และหากดูโปรโมชัน เช่น เดิมราคาขายตารางเมตรละ 1 แสนบาท มาเหลือ 8 หมื่นบาท อาจจะหลุดดาวน์จริง แต่หากยังขายในราคาเดิม แต่อาจจะเสนอของแถมอย่างอื่นให้ อาจจะไม่ใช่หลุดดาวน์ แต่เป็นการกระตุ้นยอดขายเท่านั้น

นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิต ภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวเสริมว่า มาตรการ LTV อาจจะมีผลกระทบบ้างในช่วงระยะแรก แต่ในท้ายที่สุดจะช่วยคัดกรองผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยอย่างแท้จริง และลูกค้าได้ราคาที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมทั้งระบบในระยะยาว

สำหรับอุปทานคอนโดมิเนียม ที่อยู่ระหว่างการขาย จากข้อมูลฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย ณ สิ้นไตรมาส 1 /62 ในกรุงเทพมหานครมีจำนวนคอนโดฯที่อยู่ระหว่างการขายทั้งหมด 198,460 ยูนิต แต่ขายได้แล้ว 78% หรือประมาณ 154,925 ยูนิต เหลือขายอีกประมาณ 43,535 ยูนิต 

 หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,469 วันที่ 12 - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

คอนโดส่อวิกฤติ คนหมดแรงผ่อน ยอดหลุดโอนพุ่ง