ค้าขายจีน101ข้อพิพาทที่พบบ่อยและแนวทางป้องกัน

14 พ.ค. 2562 | 04:00 น.

แม้การค้าระหว่างไทยกับมณฑลยูนนานจะมีมูลค่าการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครคุนหมิง ได้รับฟังปัญหาจากนักธุรกิจไทยใน กรณีพิพาทระหว่างคู่ค้าไทย - จีนจำนวนไม่น้อยและเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซํ้าๆ บ่อยครั้ง จึงเห็นควรนำมาประมวลสรุปเพื่อนำเสนอแก่นักธุรกิจไทยที่กำลังทำการค้ากับจีนหรือกำลังพิจารณาจะเข้ามาในตลาดจีนเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

โดยทั่วไป กรณีพิพาทระหว่างคู่ค้าไทย-จีนที่พบอยู่เสมอ มักมีสาเหตุ 2 กรณี ได้แก่ การเห็นแก่ประโยชน์ที่มากจนผิดปกติ และการไว้เนื้อเชื่อใจกันมากเกินไป

ตัวอย่างเมื่อประมาณปี 2559 -2560 มีผู้ประกอบการไทยรายหนึ่งเดินทางมานครคุนหมิงเพื่อลงนามสัญญากับคู่ค้าจีนในการแปลนิยายชื่อดังของจีนหลายเรื่องเป็นภาษาไทย มูลค่าสัญญาประมาณ 5 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ก่อนการลงนามสัญญา ฝ่ายจีนกลับหลอกล่อว่าจะต้องเสียค่าดำเนินการก่อนประมาณ 20,000 หยวน มิฉะนั้นจะไม่สามารถลงนามในสัญญาได้ ทำให้ผู้ประกอบการรายดังกล่าวเกิดความระแวงว่าน่าจะเข้าข่ายถูกหลอกลวง

นอกจากนี้ เมื่อปี 2561 ยังมีผู้ประกอบการไทยได้รับอี-เมล์เป็นภาษาอังกฤษจากชาวจีนโดยอ้างว่าเป็นผู้จัดการซูเปอร์มาร์เก็ตของจีนที่มีสาขาในนครคุนหมิง 3-4 สาขา และต้องการสั่งซื้อเครื่องสำอางจากไทยมาขายในห้างของตนเป็นมูลค่าสูงถึง 240,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ผู้ประกอบการไทยรายดังกล่าวจึงได้เดินทางมานครคุนหมิงเพื่อเจรจาจัดทำสัญญา ซึ่งคู่ค้าจีนก็ได้พาไปเยี่ยมชมกิจการซูเปอร์มาร์เก็ตและเลี้ยงอาหาร อย่างไรก็ตาม คู่ค้าจีนได้แจ้งว่าการจะนำเข้าส่งออกสินค้าให้ราบรื่นควรมีการมอบสินนํ้าใจให้กับศุลกากรจีน จึงเสนอให้ผู้ประกอบการไทยมอบเงินกว่า 26,000 หยวนแก่คู่ค้าจีนเพื่อจัดซื้อของกำนัล ผู้ประกอบการไทยได้พยายามต่อรองราคาที่ 10,000 หยวน แต่ด้วยความอึดอัดใจ เนื่องจากถูกฝ่ายจีนเร่งรัดและคุกคามมากเกินไป ผู้ประกอบการรายดังกล่าวจึงกลัวและหลบหลีกออกจากร้านอาหารจนสามารถพ้นวิกฤติได้อย่างหวุดหวิด

ล่าสุด เมื่อต้นปี 2562 เกิดเหตุการณ์ที่คู่ค้าไทย - จีนคู่หนึ่งซึ่งประกอบธุรกิจค้าขายลำไยระหว่างกันมานานถึง 3 ปี ผ่านการพูดคุยและสั่งซื้อผ่านแอพพลิเคชัน WeChat และโอนเงินให้กันผ่านระบบ “โพยก๊วน” ซึ่งเป็นธุรกรรมการโอนเงินข้ามประเทศผ่านตัวแทนนายหน้านอกระบบธนาคาร ที่ผ่านมาการติดต่อค้าขายของคู่ค้ารายดังกล่าวไม่เคยเกิดปัญหาใดๆ จนกระทั่งสินค้างวดสุดท้ายที่มีการสั่งซื้อลำไยเกือบ 4 ล้านบาท แต่คู่ค้าฝ่ายจีนไม่ส่งเงินให้ตามเวลาโดยอ้างว่าหมุนเงินไม่ทัน จากนั้นก็ขาดการติดต่อไป

บทเรียนสำคัญของทั้ง 3 เหตุการณ์ข้างต้นก็คือการใช้ชั้นเชิงของคู่ค้าจีนในลักษณะการนำเงินจำนวนมากมาล่อหรือยื่นข้อเสนอด้านราคาที่ทำให้เกิดความกระหาย พร้อมทั้งเร่งรัดคู่ค้าไทยให้ตัดสินใจทำธุรกรรมโดยขาดการพิจารณาตรวจสอบอย่างรอบคอบ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรใช้ความระมัดระวังในการเจรจาต่อรอง รวมถึงติดต่อธุรกิจกับคู่ค้าจีน โดยเฉพาะในกรณีที่มีการตั้งผลประโยชน์ที่มากจนผิดปกติ ควรตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าคู่ค้าฝ่ายจีนที่ท่านกำลังติดต่ออาจมีเจตนาไม่สุจริตและมีความเสี่ยงที่การค้าหรือการลงทุนดังกล่าวอาจเป็นการล่อลวงของมิจฉาชีพ

ที่สำคัญ ผู้ประกอบการไทยหลายรายมักดำเนินธุรกิจกับคู่ค้าจีนในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ โดยอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจและไม่มีการทำสัญญาซื้อขายที่ระบุแนวทางการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน กรณีเช่นนี้ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นมักจะนำไปสู่ความขัดแย้งหรือข้อพิพาททางการค้าที่ผู้ประกอบการไทยจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และนำไปสู่การสูญเสียผลประโยชน์จำนวนมาก แม้บางรายอาจโชคดีได้เงินคืนจากการแจ้งความกับสถานีตำรวจในพื้นที่ของจีนเพื่อให้พิจารณาดำเนินคดีหรือไกล่เกลี่ยกับคู่ค้า หรือว่าจ้างทนายความท้องถิ่นเพื่อไปฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมายกับคู่ค้าจีน แต่ก็เป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานและเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

แน่นอนว่าการค้าขายย่อมมีความเสี่ยง แต่เพื่อไม่ให้เราเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากเกินไป จึงควรป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นไว้ก่อน เบื้องต้นต้องทำความรู้จักตัวตนของคู่ค้าจีน ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าบริษัทคู่ค้าจีนได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจริง และบุคคลที่เราจะทำการค้าด้วยมีตัวตนอยู่จริง ได้แก่

ค้าขายจีน101ข้อพิพาทที่พบบ่อยและแนวทางป้องกัน

(1) ขอเอกสารทางการค้าหรือหนังสือรับรองบริษัทจากคู่ค้า อาทิ ใบจดทะเบียนบริษัท ใบอนุญาตการนำเข้าสินค้า หนังสือรับรองธนาคารที่รับรองความน่าเชื่อถือทางการเงินของคู่ค้า ซึ่งคู่ค้าจีนที่มีความจริงใจและเป็นมืออาชีพย่อมเข้าใจและให้ความร่วมมือในจุดนี้เป็นอย่างดี

(2) ตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์จีน เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลแนะนำบริษัท ว่าตรงกันกับที่บริษัทคู่ค้าให้มาหรือไม่ รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท อาทิ กิจกรรมของบริษัทที่ปรากฏตามหนังสือพิมพ์ออนไลน์

(3) โทรศัพท์สอบถามข้อมูลของบริษัทคู่ค้าจากหมายเลขส่วนกลางเกี่ยวกับการมีตัวตนของผู้ที่ติดต่อด้วย

(4) ติดต่อหาข้อมูลผ่านกรมพาณิชย์มณฑลยูนนานหรือหน่วยงาน Yunnan Administration for Market Regulation ในจีน (เดิมคือ สำนักงาน Industry and Commerce Bureau)

ท้ายที่สุด การค้าขายกับคู่ค้าจีนควรมีการทำสัญญาให้ถูกต้องตามรูปแบบที่มีผลใช้บังคับทางกฎหมายและควรปรึกษานักกฎ หมายอาชีพ เช่น ทนายความ หรือที่ปรึกษากฎหมายเสียก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าสัญญามีความชัดเจนและครอบคลุมใจความครบถ้วนสมบูรณ์ เช่น สถานที่และระยะเวลา ทำสัญญา หลักฐานแสดงตัวตนของคู่ค้าจีนที่บ่งบอกชื่อ-สกุล อายุ และที่อยู่ เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน รายละเอียดการชำระเงินและความรับผิดชอบเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา ทั้งนี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของเราหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด จะได้ไม่ต้องสูญเสียทั้งเวลาและทรัพย์สิน

พบกับอัพเดตความเคลื่อน ไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected] 

คอลัมน์ หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3469 ระหว่างวันที่ 12-15 พฤษภาคม 2562

ค้าขายจีน101ข้อพิพาทที่พบบ่อยและแนวทางป้องกัน