ความสับสนของมาตรการ การเก็บภาษีดอกเบี้ยออมทรัพย์

11 พ.ค. 2562 | 04:00 น.

ในช่วงที่ผ่านมาประเด็นมาตรการการเรียกเก็บภาษีดอกเบี้ยออมทรัพย์ ที่กรมสรรพากรได้ประกาศออกมาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เพราะอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากที่ต้องไปดำเนินการกับธนาคารที่ตัวเองได้เปิดบัญชีไว้ ต่อมา กรมสรรพากรจึงได้มีการปรับแก้มาตรการใหม่เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ดังนั้นบทความฉบับนี้มุ่งที่จะนำเสนอและวิเคราะห์เกี่ยวกับเจตนารมณ์และวิธีการใหม่ที่ออกมาบังคับใช้ ซึ่งจะมีผลให้สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป

อย่างที่เราทราบกันว่าในความเป็นจริงของประเทศไทยนั้นจำนวนผู้เข้าเกณฑ์เสียภาษีกับจำนวนผู้ยื่นภาษีมีอัตราส่วนที่ต่างกันอย่างมาก โดยจำนวนของผู้เสียภาษีของไทยในปัจจุบันมีประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ที่เข้าเกณฑ์เสียภาษี นั่นหมายความว่า หากพิจารณาแต่เฉพาะเรื่องรายได้ที่มาจากภาษีบุคคลธรรมดา รัฐสามารถเรียกเก็บภาษีมาเพื่อใช้บริหารประเทศได้น้อยกว่าที่ควรได้รับจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้มาตรการต่างๆ ในการทำให้สามารถ ติดตามให้บุคคลธรรมดาที่เข้าเกณฑ์เสียภาษี สามารถมาถูกตรวจสอบและอาจเรียกเก็บภาษีต่อไปได้จึงเริ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น การเรียกเก็บภาษีจากธุรกิจออนไลน์ของบุคคลธรรมดา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีการทำธุรกิจอีกหลายประเภทที่มาตรการที่เคยประกาศใช้ยังมีช่องทางที่ทำให้มีบุคคลเลี่ยงเสียภาษี ตัวอย่างเช่น ข้อกำหนดที่ระบุว่าให้ธนาคารแจ้งให้กรมสรรพากรทราบถึงบัญชีที่มีเงินเดินบัญชีเกินกว่า 400 ครั้งต่อปี และมีจำนวนเกินกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้จะเห็นได้ว่า พฤติกรรมของเจ้าของร้านค้าทั่วไป จะนำเงินฝากในบัญชีอย่างมากไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ซึ่งแม้จะทำทั้งปี ก็ยังไม่เกิน 400 ครั้งตามที่กำหนด

ความสับสนของมาตรการ  การเก็บภาษีดอกเบี้ยออมทรัพย์

มาตรการในการเรียกเก็บภาษีดอกเบี้ยออมทรัพย์ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่กรมสรรพากรสามารถที่จะใช้เป็นวิธีการเพื่อตรวจสอบรายได้ และอาจจะใช้ขยายผลต่อไปถึงการตรวจสอบและเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเป็นบุคคลผู้อยู่ในเกณฑ์เสียภาษีต่อไป

แต่เนื่องจากมาตรการแรกที่กรมสรรพากรได้ออกมาโดยให้เจ้าของบัญชีที่มีดอกเบี้ยรวมกันของทุกธนาคารไม่เกิน 20,000 บาท ถ้าอยากได้รับยกเว้นการเสียภาษีดอกเบี้ยออมทรัพย์ 15% เช่นเดิม ต้องแจ้งต่อธนาคารเพื่อยินยอมส่งดอกเบี้ยให้กรมสรรพากร ซึ่งประชาชนจำนวนกว่า 90% ของผู้เปิดบัญชีธนาคารในประเทศไทย เป็นผู้อยู่ในเกณฑ์นี้ การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อทั้งประชาชน และเป็นภาระกับทางธนาคารอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้ต่อมากรมสรรพากรจึงได้เปลี่ยนกฎเกณฑ์ใหม่ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 346) ฉบับลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 โดยกำหนดให้คนที่ได้ดอกเบี้ยรวมกันทุกธนาคารไม่เกิน 20,000 บาท จะยังคงได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเช่นเดิม แต่ต้องยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร แต่หากไม่ให้ความยินยอมก็จะหมดสิทธิรับการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยดังกล่าว ซึ่งในมาตรการใหม่ประชาชนที่ประสงค์จะรับสิทธิยกเว้นภาษีไม่จำเป็นต้องไปติดต่อกับทางธนาคาร เว้นแต่จะไม่ยินยอมจึงจะจำเป็นต้องแจ้งให้กับทางธนาคารทราบ โดยสามารถดำเนินการดังกล่าวโดยเข้าไปกรอกแบบฟอร์มได้ที่ธนาคารได้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป โดยการแจ้งความไม่ยินยอมจะมีผลตลอดไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนการแสดงเจตนา

ความสับสนของมาตรการ  การเก็บภาษีดอกเบี้ยออมทรัพย์

ทั้งนี้หากเจ้าของบัญชีอยากให้มีผลกับข้อมูลดอกเบี้ยของงวดครึ่งปีแรกของปี 2562 เจ้าของบัญชีจะต้องเข้าดำเนินการกับทางธนาคารก่อนวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เนื่องจาก ธนาคารต้องคำนวณเพื่อจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากในครึ่งปีแรกจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 และนำส่งกรมสรรพากรภายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2562

ประเด็นที่ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตและข้อสงสัยสำหรับมาตรการใหม่ของกรมสรรพากรมี 2 เรื่อง ประเด็นแรกคือ การให้ความยินยอมในการส่งข้อมูลทางการเงินของลูกค้าธนาคารที่ได้มีการให้ความยินยอมไว้แล้วนับตั้งแต่ลงนามในคำร้องขอเปิดบัญชีกับทางธนาคาร ซึ่งหากจะพิจารณาตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 มาตรา 154 (8) เจ้าหน้าที่ธนาคารสามารถดำเนินการส่งข้อมูลได้อยู่แล้วโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมใดๆ อีก

ส่วนการแสดงเจตนาไม่ให้ความยินยอมเฉพาะเรื่องในลักษณะแบบนี้สามารถทำได้ในกรณีอื่นๆ นอกจากกรณีการยินยอมในเรื่องภาษีดอกเบี้ยหรือไม่ เพราะเป็นการแสดงเจตนาขัดกับความยินยอมเดิมที่เคยให้ไว้ตั้งแต่ต้น ประกอบกับประเด็นที่ 2 ซึ่งมีประเด็นที่ก่อให้เกิดความสับสนว่า การที่เจ้าของบัญชีมีสิทธิที่จะไม่ยินยอมให้ส่งข้อมูลของตน ซึ่งขัดกับสิ่งที่ตัวเองยินยอมไว้แล้ว อันมีผลให้ผู้แสดงเจตนาดังกล่าวไม่ได้รับยกเว้นภาษีของดอกเบี้ยออมทรัพย์ของทุกธนาคารที่รวมกันไม่เกินกว่า 20,000 บาท 

แต่ในการคำนวณภาษีดอกเบี้ยออมทรัพย์ของผู้แสดงเจตนาไม่ยินยอมให้แจ้งข้อมูล ก็ต้องมีการตรวจสอบการคำนวณภาษีจากกรมสรรพากรอยู่ดี ว่าเงินภาษีจำนวนดังกล่าวได้มาจากยอดเงินรวมเท่าใด ซึ่งสุดท้ายแล้วกรมสรรพากรก็ย่อมต้องรู้ข้อมูลที่เจ้าของบัญชีไม่ประสงค์จะให้รู้อยู่ดี

นั่นหมายความว่าตามมาตรการใหม่ หากเจ้าของบัญชียอมเสียเวลาไปธนาคารเพื่อไปยื่นแสดงเจตนาไม่ยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร นอกจากจะเสียสิทธิไม่ได้รับยกเว้นภาษีดอกเบี้ย 15% ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว สุดท้ายการตรวจสอบการชำระดอกเบี้ยดังกล่าว ก็นำไปสู่การที่จะทำให้กรมสรรพากรทราบถึงข้อมูลของลูกค้าของธนาคารได้อยู่ดี ถ้า เป็นแบบนี้การที่ไม่ต้องไปติดต่อธนาคารเรื่องความยินยอม เพราะ จริงๆ แล้วความยินยอมนี้เราก็ได้ให้ไว้กันตั้งแต่เปิดบัญชีธนาคาร นอกจากไม่ต้องเสียเวลาไปธนาคารแล้วยังได้รับสิทธิไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยในอัตรา 15%

ในปัจจุบันผู้เปิดบัญชีธนาคารในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่ 90% เป็นบุคคลที่มีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 1 ล้านบาท ทำให้ได้รับสิทธิไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยในส่วนนี้อยู่แล้ว แต่หากไปแสดงเจตนาไม่ยินยอมดังกล่าว สิทธิประโยชน์ในส่วนนี้ก็จะหายไป ดังนั้นก่อนที่ท่านจะตัดสินใจดำเนินการใดๆ ในเรื่องนี้ โปรดพิจารณาถึงผลได้ผลเสียที่จะกระทบถึงตัวท่านให้ดีก่อนนะครับ 

รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย

โดย มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปัจจุบัน ศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ University of Kent (United Kingdom) สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3469 ระหว่างวันที่ 12 - 15 พฤษภาคม 2562

ความสับสนของมาตรการ  การเก็บภาษีดอกเบี้ยออมทรัพย์