พาณิชย์ชงมาตรการคุมยาเข้ากกร.10 พ.ค.นี้

07 พ.ค. 2562 | 08:31 น.

พาณิชย์  เผยที่ประชุมอนุกรรมการฯ เคาะมาตรการดูแลยา  ชง กกร. 10 พ.ค.นี้  คาดมาตรการที่พาณิชย์ดำเนินการได้ ปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน พร้อมตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลเวชภัณฑ์  ค่าบริการเป็นตัวต่อไป

         นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาข้อมูลที่คณะทำงานศึกษาโครงสร้างต้นทุนโดยเฉพาะยาที่ได้ขอข้อมูลจากสถานพยาบาลกว่า  353  แห่งมาพิจารณา ซึ่งได้ศึกษาวิเคราะห์อีกทั้งเปรียบเทียบข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและยอมรับว่าสถานพยาบาล  โดยเฉพาะเอกชนมีต้นทุนยาที่แตกต่างกันแต่ก็เป็นราคาใกล้เคียงกันซึ่งการซื้อยามานั้นไม่ได้สูงมาก แต่การจำหน่ายให้กับผู้เข้าการรักษาอาจจะแตกต่างกันมากแม้จะเป็นยาชนิดเดียวกันโดยมีกำไรตั้งแต่ไม่มากจน  กระทั่งสูงถึงระดับ 300% , 500% , 800% และ 900%  ก็มี

         ทั้งนี้รายการยาที่นำมาวิเคราะห์ได้ยึดตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่(UCEP) ที่มีรายการยาที่จำเป็นอยู่ 3,892 รายการ จากบัญชีข้อมูลรายการยาและรหัสยามาตรฐานของไทย (TMT) ที่มีอยู่ 30,103 รายการ  อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่พิจารณากันในวันนี้  คณะอนุกรรมการฯพิจารณาโดยใช้หลักการที่เป็นธรรมและไม่เอาเปรียบทั้งสถานพยาบาลและผู้ป่วย และต้องมีเหตุผลซึ่งหลักการเบื้องต้นที่ได้จากหลังการประชุมก็จะนำมาตรการเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) พิจารณาในวันที่ 10 พ.ค.2562  นี้เพื่อที่จะเป็นมาตรการที่จะนำออกมาใช้ภายใต้กฎหมายที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีอยู่ ทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ มีพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542  ที่สามารถกำหนดให้มีการปิดป้ายแสดงราคา หากมีการจำหน่ายเกินราคา ก็จะมีโทษตามกฎหมาย เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้รับรายงานก็ยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับรายการเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์  ที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อไปพิจารณาจัดทำฐานข้อมูลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับข้อมูลยาที่มีอยู่ โดยปัจจุบันมีข้อมูลเวชภัณฑ์ประมาณ 868 รายการ และบริการทางการแพทย์ 5,286 รายการ

ด้านนพ.ประมุกข์ ทรงจักรแก้ว  ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า สมาคมประกันชีวิตเห็นด้วยกับมติที่ออกมา เพราะถือว่าเป็นทิศทางที่ดีในการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะที่ผ่านมามีข้อร้องเรียนเรื่องค่ารักษาพยาบาลเกินความจำเป็นทำให้เบี้ยประกันชีวิตสูงซึ่งถ้าเบี้ยประกันมีความเหมาะสม ข้อดีคือคนไทยสามารถเข้าถึงประกันชีวิตได้มากขึ้นเพราะที่ผ่านมาไม่มีโครงสร้างของราคายาทำให้ค่ายาที่ทางโรงพยาบาลคิดมาค่อนข้างสูงเพราะไม่มีโครงสร้างของยาให้เปรียบเทียบแต่ถ้ามีการทำโครงสร้างยาเป็นเกณฑ์อ้างอิงก็ทำให้เราสามารถดูเป็นมาตรฐานได้ที่และอยากให้มีการแยกรายการค่ายาและค่ารักษาพยาบาลออกจากเพื่อให้มีความชัดเจน