สถาปนิกนักคิด สร้างธุรกิจด้วยสำนึกรับผิดชอบสังคม

05 พ.ค. 2562 | 09:16 น.

คนที่เก่ง คือ คนที่พร้อม คนเราต้องเตรียมตัวเสมอ พร้อมที่จะเผชิญกับปัญหา เมื่อเจอก็แก้ปัญหาได้เลยทันที

จุดกำเนิดความคิด ในการเริ่มต้นธุรกิจของคนรุ่นใหม่หลายๆ คน มักเกิดจากการนำ Pain Point หรือปัญหาที่ประสบ มาขบคิดแล้วหาทางออก จนกลายเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ จุดกำเนิดของ “MOHo studio” ของ “ธนิษฐ์ วชิรปราการสกุล” หรือ “คุณตูน” ก็เช่นเดียวกัน

สถาปนิกนักคิด สร้างธุรกิจด้วยสำนึกรับผิดชอบสังคม

ผู้ชายคนนี้ เป็นนักสถาปนิก ที่จบการศึกษามาจาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หรือบางมด ย้อนไปเมื่อ 8 ปีก่อน เขาคือสถาปนิกออกแบบบ้าน และอาคารทั่วไป จนวันหนึ่ง ที่ได้ไปสัมผัสกับงาานออกแบบบ้านสไตล์ญี่ปุ่น ที่เจ้าของต้องการให้ใช้กระดาษทำฟูซาวะ หรือม่านญี่ปุ่น จึงทำให้เกิดคำถามว่าทำไมต้องเป็นกระดาษ แล้วทำไมต้องอยู่ในประเทศญี่ปุ่น 

เมื่อเกิดคำถาม ทำให้เริ่มหาคำตอบ แม้เริ่มต้นจะออกแบบไปโดยยังไม่เข้าใจอะไรดีก็ตาม แต่เมื่อได้ศึกษา จึงพบว่า งานกระดาษฟูซาวะจริงๆ มันเป็นปรัชญาของญี่ปุ่น เป็นแนวคิดการอนุรักษ์ธรรมชาติ เขาคิดเกี่ยวกับเรื่องวัตถุดิบของประเทศด้วยจิตวิญญาณ มันคือความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศของญี่ปุ่น เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ขณะที่พยายามค้นหาคำตอบ งานสถาปนิกก็ยังเดินหน้าไปเรื่อยๆ กับงานเอ็กซิบิชั่นต่างๆ ซึ่งถือเป็นงานออกแบบก่อสร้างชั่วคราว ที่ใช้เฉพาะในงาน  และขณะเดียวกัน ทุกครั้งเมื่อออกแบบเสร็จ “คุณตูน” จะพบว่า เกิดขยะขึ้นมากมายหลังจบงาน 

สถาปนิกนักคิด สร้างธุรกิจด้วยสำนึกรับผิดชอบสังคม

“แรกๆ ผมคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของเรา เราเป็นนักออกแบบก็แค่ออกแบบให้สวย แต่สุดท้ายแล้วเมื่องานเสร็จสิ้น ปัญหาหาขยะที่เกิดขึ้น การแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ มันทำได้ แต่อาจไม่ตอบโจทย์ที่แท้จริง ทำไมเราไม่แก้ที่นักออกแบบเอง โดยเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมกับประเภทของงาน ในเมื่อเรารู้ว่า แต่ละงานมีเวลาสั้นๆ จำเป็นไหมที่จะต้องใช้วัสดุที่แข็งแรงอยู่ได้เป็นปี แต่เอามาใช้กับงานแค่ 3-4 วัน”

จาก Pain Point ที่เกิดขึ้น ทำให้ “คุณตูน” ค้นพบว่า วัสดุที่ทดแทนและแก้ไขปัญหาได้ คือ กระดาษ เพราะกระดาษเป็นวัสดุที่นำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่าย แต่การจะนำกระดาษมาใช้ทดแทนวัสดุอื่นๆ ก็ต้องทำให้เป็นที่ยอมรับด้วย เพราะคนมักมองว่า งานกระดาษเป็นงานที่ไม่แข็งแรง ไม่คงทน อยู่ได้ไม่นาน ยิ่งเอามาใช้ในงานอินทีเรีย งานโปรดักส์ต่างๆ. ปีแรกๆ ที่ทดลองทำ บอกเลยว่าไม่มีใครสนใจเลย

“ผมก็เลยมองย้อนกลับไปว่า จะทำไงให้คนเห็นคุณค่าของกระดาษมากที่สุด ทำไงเราจะยืดอายุการใช้งานของกระดาษให้มากที่สุด ผมก็ลองศึกษาดูก็พบว่ากระดาษสามารถนำมาใช้งานได้หลายอย่าง เช่น แพ็คเก็จจิ้ง งานพริ้นท์ งานไดคัท งานขึ้นรูป เช่น งาน Origami”

สถาปนิกนักคิด สร้างธุรกิจด้วยสำนึกรับผิดชอบสังคม

เมื่อได้ศึกษาจริงจัง จึงพบว่า งาน  Origami ของปรมาจารย์ญี่ปุ่นท่านหนึ่ง ที่ใช้น้ำในการขึ้นรูปกระดาษ เป็นงานปั้น นอกจากพับแล้วก็ใช้น้ำมาทำให้เป็นงานปั้นที่สามารถตอยบโจทย์ความแข็งแรงทนทาน และยังสร้างความแตกต่าง ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับการทำธุรกิจที่ต้องมีความแตกต่างและโดดเด่น เป็นการเพิ่มมูลค่าได้อย่างมาก...ผมได้นำหลักการนี้มาผสมผสานกับวัฒนธรรมของไทย โดยยึดหลักวาบิซาบิ คือ การสร้างงานดีไซน์ที่เรียบง่าย ที่แสดงถึงคุณค่าของตัววัสดุให้มากที่สุด

วิธีคิดในการทำธุรกิจงานออกแบบกระดาษของ “คุณตูน” มีการพัฒนาต่อเนื่อง ปรับเปลี่ยนรูปแบบงานดีไซน์ที่หลากหลาย นำเรื่องของงานพิมพ์ ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว มาพัฒนาร่วมกัน ซึ่งรูปแบบงานกระดาษนี้ื ไม่ใช่แค่งานคราฟท์กระดาษอย่างเดียว แต่ผสมผสานด้วยเทคโนโลยีหรือเครื่องจักร ที่นำเข้ามาเสริมเข้ามาผสมผสานกัน ทำให้ได้งานที่มีคุณภาพ และมีมาตรฐาน ตอบโจทย์ทางธุรกิจมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ เขาไม่ได้ทำเพียงแค่งานออกแบบโครงสร้าง แต่เริ่มขยายไปสู่งานโปรดักส์ เช่น ล่าสุดที่พัฒนางานพวงหรีดกระดาษให้กับกระทรวงวัฒนธรรม รวมไปถึงงานบ้านแมวที่ทำจากกระดาษ

“คุณตูน” บอกถึงมุมมองในการทำงานของเขาว่า ผมมองว่างานออกแบบ คือ การแก้ปัญหา และส่งเสริมการใช้ชีวิตของคน แต่กว่าจะมาถึงจุดที่ทุกคนยอมรับได้ ต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างมาก

“ผมสร้างสตูดิโอมา 5 ปี แต่กว่าจะทำให้เกิดการยอมรับในงานได้ ก็ใช้เวลา 2-3 ปี เปลี่ยนความคิดของคนที่คิดว่ากระดาษไม่แข็งแรง ถ้าเปลี่ยนไม่ได้เราก็ต้องนำเสนอความคิดของตัวเองออกมา หน้าที่ของดีไซน์เนอร์ถ้าอยากแก้ปัญหาจริงๆ เราต้องทดลองทำ เริ่มจากคนกลุ่มเล็กๆ จากสิบ เป็นร้อย เป็นพัน ถ้างานเราดีจริง อดทน ตั้งใจ สุดท้ายก็จะได้รับความยอมรับ”

สถาปนิกนักคิด สร้างธุรกิจด้วยสำนึกรับผิดชอบสังคม

ข้อคิดอีกอย่างหนึ่งของงานกระดาษ และประสบการณ์ที่ได้ของผู้ชายคนนี้คือ “การจะทำให้งานกระดาษเป็นธุรกิจได้ งานฝีมืออย่างเดียว ไม่รอด” สิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากเซลล์ญี่ปุ่นผู้หญิงคนหนึ่งคือ เซลล์ไม่ใช่รู้แค่เรื่องขาย แต่เซลล์ต้องรู้เรื่องงานดีไซน์ เรื่องเครื่องจักร เรื่องธุรกิจ บิสิเนส เซลล์ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนั้น สะพายกระเป๋าใหญ่ ในกระเป๋ามีอุปกรณ์ทุกสิ่ง นั่นคือ การเตรียมพร้อม พร้อมทั้งเครื่องมือและความรู้ ที่จะตอบคำถามหรือแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้ 

“คนญี่ปุ่นมองว่า คนที่เก่ง คือ คนที่พร้อม คนเราต้องเตรียมตัวเสมอ พร้อมที่จะเผชิญกับปัญหา เมื่อเจอก็แก้ปัญหาได้เลยทันที”...นั่นคือ ข้อคิด ที่นักสถาปนิก หรือนักออกแบบกระดาษคนนี้ ยึดเป็นแนวทางการคิด และพัฒนาการทำธุรกิจของเขา

หน้า 22-23 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3466 วันที่ 2-4 พฤษภาคม 2562

สถาปนิกนักคิด สร้างธุรกิจด้วยสำนึกรับผิดชอบสังคม