ความงดงามทางด้านสถาปัตยกรรม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562

04 พ.ค. 2562 | 06:30 น.

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถือเป็นเครื่องเตือนใจที่สำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนชาวไทยทุกคนได้หันกลับมาเรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณี และศิลปะอันงดงาม เพื่อศึกษาสิ่งที่เป็นอารยธรรมได้อย่างเข้าใจถึงรากเหง้า และเมื่อซาบซึ้งแล้วเราทุกคนจะรู้จักหน้าที่ของตนในการพึงปฏิบัติหนึ่งมุมคิดจากผศ.ดร.ชัชพล ไชยพร คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งมีนัยยะที่สอดรับกับความเห็นของ ผศ.ดร.พีรศรี  โพวาทอง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในมุมมองสถาปัตยกรรมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ว่า

ความงดงามทางด้านสถาปัตยกรรม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562

เราจะเห็นความวิจิตรของสถาปัตยกรรมไทย ความฉลาดในการสร้างสถาปัตยกรรมชั่วคราว การใช้สถาปัตยกรรมภายใน อาทิ หมู่พระราชมณเฑียร ทั้งรูปทรงและวัสดุล้วนมีความหมายในแง่ของคติสมมุติเทพ ตลอดจนการออกมหาสมาคมก็ต้องใช้สถาปัตยกรรมเหล่านี้เป็นฉากในการปรากฏพระองค์ออกสู่สายตาของราษฏร์ และสุดท้ายคือการเลียบพระนคร ส่วนนี้ก้าวข้ามของสถาปัตยกรรมไปสู่รูปแบบของผังเมือง โดยทั้งหมดคือการใช้สถาปัตยกรรมในการออกแบบเพื่อส่งเสริมกิจกรรมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ ซึ่งเป็นหลักและแก่นที่สำคัญของวัฒนธรรมไทย อันสืบเนื่องมาอย่างช้านาน

โดยทั้งสองท่านเป็นส่วนสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ผ่าน การบรรยายพิเศษชุด ความรู้เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษกณ หอประชุมจุฬาฯ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในศาสตร์สาขาต่างๆ จากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากจุฬาฯ

ความงดงามทางด้านสถาปัตยกรรม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562

สถาปัตยกรรมอันเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ผศ.ดร.พีรศรี  โพวาทอง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เผยถึง สถาปัตยกรรมอันเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้อย่างน่าสนใจว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นเรื่องที่อยู่ในวัฒนธรรม จารีต ประเพณีของไทยมาอย่างช้านาน อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามยุคสมัย แต่สาระสำคัญยังคงอยู่ ซึ่งทั้งหมดยืดโยงอยู่ในรูปแบบการปกครองของกษัตริย์ โดยคติความเชื่อเรื่องสมมุติเทพ หรือการยกเอาประมุขของแผ่นดินเป็นดั่งเทวราชา ซึ่งเชื่อมโยงอยู่ในแผ่นดินสุวรรณภูมินี้มาอย่างยาวนาน โดยทั้งหมดนี้มีการทำรูปจำลองออกมาตามคติความเชื่อเรื่องไตรภูมิที่ว่า จักรวาลแบ่งออกเป็นชั้นๆ เช่น สวรรค์ โลกมนุษย์และนรก ซึ่งมีพระจักรพรรดิราชเป็นเสมือนเขาพระสุเมรุที่อยู่แกนกลาง โดยถ่ายทอดออกมาผ่านงานสถาปัตยกรรม เช่น พระแท่นราชบัลลังก์ซึ่งประดับประดาด้วยต้นไม้ทองต้นไม้เงินและสัตว์ในป่าหิมพานต์

ผศ.ดร.พีรศรี  เผยต่ออีกว่า ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีการแสดงออกถึงสถาปัตยกรรมอันงดงามซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทิพยภาวะของพระกษัตริย์ โดยสถานที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้ประชาชนทุกคนจะได้เห็นความงดงามและวิจิตรศิลป์ของสถาปัตยกรรมไทยแต่โบราณครั้งเริ่มก่อตั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ อาทิ หมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง และอื่นๆที่น่าสนใจ ดังนี้

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีการสร้างสถาปัตยกรรมชั่วคราวอย่างพระมณฑปกระยาสนานซึ่งใช้สีขาวและสีทองมีความหมายพิเศษในแง่ของการชำระพระวรกาย โดยมณฑปพระกระยาสนานเป็นสถานที่สรงพระมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สร้างขึ้นที่ชาลกลางแจ้งระหว่างพระที่นั่งไพศาลทักษิณกับพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ซึ่งมีลักษณะเป็นมณฑปหุ้มผ้าขาวแต่งด้วยเครื่องทองคำ ผูกพระวิสูตรที่มุมเสาทั้ง ๔ เพดานมณฑปดาดผ้าขาว มีสหัสธาราสำหรับไขน้ำพระมุรธาภิเษกจากบนเพดานให้โปรยลงยังที่สรง ภายในมณฑปตั้งตั่งอุทุมพรหุ้มผ้าขาวบนถาดทองรองน้ำสรง

ความงดงามทางด้านสถาปัตยกรรม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562

ถัดจากสถาปัตยกรรมภายนอกคือสถาปัตยกรรมภายในอย่าง หมู่พระมหามณเฑียร ซึ่งตั้งอยู่ในพระมหาราชวังหรือกลุ่มพระที่นั่งหลังคาทรงจั่วสร้างเชื่อมพระที่นั่งประธาน ๓ หลังประกอบด้วย พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย สร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ ๑ เพื่อใช้เป็นที่ประทับและออกว่าราชการ โดยตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา ได้ถูกใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

แต่ละพระที่นั่งนอกจากตั้งชื่อให้คล้องจ้องอย่างดงามยังมีความหมายที่สื่อถึงนัยยะต่างๆ เช่น พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน หมายถึง ที่ประทับของพระมหาจักรพรรดิราชเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ หมายถึง ผู้ยิ่งใหญ่ทางใต้ ซึ่งพระที่นั่งองค์นี้อยู่ทางทิศใต้ของพระที่นั่งของพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย โดยหากที่เทียบดูจากคติความเชื่อเกี่ยวกับไตรภูมิโลกสัณฐานจะพบว่าทิศใต้เป็นทิศที่สำคัญ เนื่องจากทิศใต้ของเขาพระสุเมรุเป็นที่ตั้งของชมพูทวีป ซึ่งมีความสำคัญที่สุดของเพราะเป็นทวีปที่เกิดของพระพุทธเจ้าและพระจักรพรรดิราช ดังนั้นพระที่นั่งแห่งนี้จึงความสำคัญต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สำรับพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย คือ ที่ออกว่าราชการของพระมหากษัตริย์เพื่อให้ข้าราชการเข้าเฝ้าฯ

ความงดงามทางด้านสถาปัตยกรรม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562

อย่างไรก็ดีภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณมีจิตรกรรมฝาผนังเหนือช่องพระบัญชรและช่องพระทวารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องพระอินทร์และสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคติความเชื่อประการหนึ่งที่ว่าพระมหากษัตริย์เปรียบประดุงดังองค์อมรินทร์ ผนังระหว่างช่องพระบัญชรเขียนภาพเทพเจ้าที่สำคัญในศาสนาพราหมณ์ เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระแม่โพสพ พระพลเทพ เป็นต้น ซึ่งสะท้อนคติความเชื่อเรื่องสมมติเทพและความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร

ความงดงามทางด้านสถาปัตยกรรม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562

ภายในพระที่นั่งยังประดิษฐานสิ่งสำคัญหลายประการ โดยตอนกลางของพระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็นที่ประดิษฐานพระวิมานพระสยามเทวาธิราชด้านตะวันออกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ กางกั้นด้วยพระบวรเศวตฉัตรหรือฉัตรขาว ๗ ชั้น ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระที่นั่งสำหรับพระมหากษัตริย์ประทับเพื่อทรงรับน้ำอภิเษกจากพระมหาราชครูและมุขอำมาตย์ผู้ใหญ่ทั้งแปดทิศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทรงรับการถวายพระราชอำนาจในการปกครองแผ่นดินจากทั่วทั้งแปดทิศ

ความงดงามทางด้านสถาปัตยกรรม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562

ส่วนด้านตะวันตกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณประดิษฐานพระที่นั่งภัทรบิฐ ซึ่งมีความหมายว่าเป็นที่ประทับอันเป็นมงคลของพระมหากษัตริย์ มีพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรหรือฉัตรสีขาว ๙ ชั้นกางกั้นเหนือพระที่นั่ง พระที่นั่งภัทรบิฐเป็นพระราชบัลลังก์ที่พระมหากษัตริย์ประทับเพื่อทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายพระสุพรรณบัฏ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ พระแสงอัษฎาวุธ และเครื่องบรมราชูปโภคในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอันเป็นเครื่องแสดงว่าทรงรับเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรสยามโดยสมบูรณ์