EXIM BANK พัฒนาบริการหนุนเอสเอ็มอีส่งออก CLMV

02 พ.ค. 2562 | 06:13 น.

ธสน.เดินหน้าพัฒนาสินเชื่อครบวงจรส่งออกและนำเข้า  ระบุให้สิทธิพิเศษเอสเอ็มอีที่นำสินค้าไปขาย CLMV เชื่อเป้นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูง  ชี้ไทยมีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง  ขนบธรรมเนียมประเพณี  และความทนิยมในตัวสินค้า

                นายพิศิษฐ์  เสรีวิวัฒนา  กรรมการผู้จัดการ  ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) หรือ ธสน. เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยปี 2562 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แม้อาจจะชะลอลงจากปีก่อนซึ่งมีมูลค่ากว่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัว 6.7% ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการค้าและการเมืองระหว่างประเทศ ตลอดจนราคาน้ำมันและค่าเงินบาทยังผันผวนสูง แต่โอกาสในการส่งออกของไทยไปยังตลาดประเทศเกิดใหม่ รวมทั้ง CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ยังมีอยู่มา EXIM BANK พัฒนาบริการหนุนเอสเอ็มอีส่งออก CLMV EXIM BANK พัฒนาบริการหนุนเอสเอ็มอีส่งออก CLMV

ทั้งนี้  ธนาคารจึงได้พัฒนาบริการสินเชื่อระยะสั้นครบวงจรสำหรับใช้หมุนเวียนช่วงก่อนและหลังการส่งออก รวมถึงการนำเข้า พร้อมบริการประกันการส่งออกสำหรับเอสเอ็มอี (SMEs) ที่ต้องการเริ่มต้นหรือขยายการส่งออก โดยให้สิทธิพิเศษสำหรับผู้ที่ต้องการส่งออกไปยัง CLMV ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จำนวนประชากรและแรงงานในวัยทำงานที่มีอยู่มาก และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร โดยภูมิภาคนี้ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลกค่อนข้างน้อย

ขณะที่ผู้ประกอบการไทยที่ค้าขายใน CLMV มีความได้เปรียบกว่าคู่แข่งชาติอื่นด้านทำเลที่ตั้งของไทย ความคล้ายคลึงของขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรม และความนิยมในสินค้าไทย ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปยัง CLMV เติบโต 16.6% ในปี 2561 โดยสินค้าไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวดีได้แก่ 1.สินค้าทุน อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลการเกษตร  ,2.วัตถุดิบ อาทิ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และวัสดุก่อสร้าง  และ3.สินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ เครื่องดื่ม ผลไม้สด อาหารสำเร็จรูป เสื้อผ้า เครื่องสำอาง และเครื่องประดับ 

อย่างไรก็ตาม  จากการพบปะหารือกับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาด CLMV ปัญหาและอุปสรรคสำคัญของผู้ประกอบการไทย ได้แก่ การขาดเงินทุน การขาดข้อมูลความรู้และทักษะ อาทิ ความรู้ด้านกฎระเบียบและวิธีการส่งออก รวมทั้งทักษะด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ และการขาดคู่ค้า  ธนาคารจึงได้พัฒนาบริการเพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจัดให้มีบริการเงินทุนหมุนเวียน พร้อมประกันการส่งออกในรูปแบบที่ไม่ยุ่งยากสำหรับ SMEs ที่ต้องการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกไปยัง CLMV

นอกจากนี้  ธนาคารยังได้จัดอบรมหลักสูตรบ่มเพาะผู้ประกอบการไทยให้พร้อมเริ่มต้นหรือขยายการส่งออกได้ รวมทั้งกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ส่งออก SMEs ของไทยกับคู่ค้าประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มต้นจากเมียนมาในเดือนพฤษภาคม 2562 ทั้งนี้  โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของธนาคารที่มีเป้าหมายเชื่อมไทย เชื่อมโลก ด้วยการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

EXIM BANK พัฒนาบริการหนุนเอสเอ็มอีส่งออก CLMV

สำหรับบริการใหม่ของธนาคารด้านเงินทุนหมุนเวียนสำหรับ SMEs ที่ต้องการเริ่มต้นส่งออกไปยัง CLMV ได้แก่ สินเชื่อเอ็กซิมเชื่อม SMEs ไทยสู่ CLMV (EXIM CLMV SMEs Credit) ซึ่งเป็นสินเชื่อหมุนเวียนก่อนและหลังการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV วงเงินสูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย Prime Rate -1.75% ต่อปี หรือ 4.50% ต่อปี (จากอัตรา Prime Rate ปัจจุบัน 6.25% ต่อปี) และลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ต่อปีสำหรับลูกค้าประกันการส่งออกของ EXIM BANK ซึ่งจะได้รับทั้งเงินทุนหมุนเวียนและความคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ รวมถึงวงเงินสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Foreign Exchange Forward Contract) สูงสุดเท่ากับวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ ใช้หนังสือค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และบุคคลค้ำประกันได้ ระยะเวลาอนุมัติตั้งแต่บัดนี้ถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 

                นายพิศิษฐ์  กล่าวต่อไปอีกว่า  ธนาคารได้พัฒนาบริการ ประกันส่งออก SMEs Easy  เหมาะสำหรับผู้ที่มีแผนจะส่งออกหรือกำลังจะส่งออกในมูลค่าไม่สูงนักแต่ละครั้ง หรือกำลังจะไปเจรจาการค้าที่งานแสดงสินค้าในต่างประเทศ และต้องการความคุ้มครองความเสี่ยงจากการทำการค้ากับผู้ซื้อในต่างประเทศ บริการนี้ให้ความคุ้มครองกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมกลุ่มประเทศ CLMV ด้วย จุดเด่นบริการคือ สมัครง่าย ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก สามารถเลือกรูปแบบวงเงินคุ้มครองที่เหมาะสมกับมูลค่าส่งออกได้ วงเงินรับประกันสูงถึง 2 ล้านบาท โดยคุ้มครอง 85% ของมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น 

                “ผลการดำเนินงานในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2562 EXIM BANK มีเงินให้สินเชื่อคงค้าง 106,342 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,653 ล้านบาท หรือ 18.57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 35,394 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 70,948 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 46,735 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs เท่ากับ 25,834 ล้านบาท และ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 มีเงินให้สินเชื่อคงค้างแก่ SMEs เท่ากับ 40,978 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,529 ล้านบาท หรือ 12.42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในไตรมาสแรกปี 2562 EXIM BANK มีกำไรสุทธิ 334 ล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs Ratio) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ 4.26% โดยมี NPLs จำนวน 4,534 ล้านบาทและเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 9,631 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,285 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 5,293 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองหนี้พึงกัน 181.97% ทำให้ EXIM BANK ยังคงดำรงฐานะการเงินที่มั่นคง”

                นายพิศิษฐ์  กล่าวอีกว่า การให้บริการประกันการส่งออกนั้น  ธนาคารมุ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินจากคู่ค้าในต่างประเทศ และช่วยเพิ่มความมั่นใจและความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย ทั้งในตลาดการค้าเดิมและตลาดใหม่ ในไตรมาส 1 ปี 2562 โดยธนาคารมีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและประกันความเสี่ยงการลงทุนเท่ากับ 25,775 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,670 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยเป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs จำนวน 6,939 ล้านบาท หรือ 26.92% ของปริมาณธุรกิจสะสมรวมในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม  ปัจจุบันธนาคารมีวงเงินที่ให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 84,111 ล้านบาท และมีเงินให้สินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 จำนวน 40,771 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อคงค้างให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่ขยายฐานการค้าและการลงทุนไป CLMV จำนวน 29,372 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,512 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารมีสำนักงานผู้แทนในกรุงย่างกุ้ง เวียงจันทน์ และกรุงพนมเปญ ทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนภายใต้ทีมประเทศไทย สร้างโอกาสการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการวางแผนและดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการใน CLM และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ และอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดสำนักงานผู้แทนธนาคารในเวียดนามต่อไป