กัลฟ์-ปตท.ฉลุยแหลมฉบัง ยื่นค่าสัมปทาน1.2หมื่นล้าน

01 พ.ค. 2562 | 05:07 น.
“จีพีซี” สอบผ่านข้อเสนอด้านเทคนิค ลอยลำเป็นเอกชนรายเดียวเข้าชิงแหลมฉบังเฟส 3 ด้านคณะกรรมการคัดเลือกฯ เดินหน้าพิจารณาซอง 4 เผยยื่นค่าตอบแทน 1.2 หมื่นล้านบาท สหภาพฯ จ่อเคลื่อนไหว ชี้รัฐเสียประโยชน์
กัลฟ์-ปตท.ฉลุยแหลมฉบัง ยื่นค่าสัมปทาน1.2หมื่นล้าน
 
เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า วานนี้ (30 เม.ย.) คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ท่าเรือ F ได้มีการประชุมผลการพิจารณาซอง 3 ข้อเสนอด้านเทคนิค ของกลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ผลปรากฎว่าการพิจารณาผ่านเกณฑ์กำหนด ทำให้กลุ่มจีพีซี เป็นเอกชนที่จะได้เข้าสู่ขั้นตอนเปิดซอง 4 ด้านผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่ง กทท.จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และยังคงกำหนดเปิดซองข้อเสนอของเอกชนให้แล้วเสร็จ เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน พ.ค.นี้
 
ทั้งนี้ กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ประกอบด้วย บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (บริษัทลูกของกลุ่ม ปตท.) บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และ China Harbour Engineering Company Limited จากประเทศจีน
“คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการฯ เริ่มเปิดซอง 3 ข้อเสนอด้านเทคนิค ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา ใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 7 วันแล้วเสร็จ ตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนพิจารณาซอง 4 ด้านการเงิน ซึ่งเมื่อเปิดข้อเสนอนี้แล้ว คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการฯ จะต้องคุยกันอีกทีว่าจะเปิดซอง 5 ข้อเสนแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการต่อหรือไม่ หรือจะประกาศผลการประมูลเลย ดังนั้นตอนนี้ยังตอบไม่ได้ คงต้องไปดูเงื่อนไขกำหนดในเอกสารเสนอโครงการ (RFP) ให้รอบคอบก่อน” เรือโทกลมศักดิ์ กล่าว
กัลฟ์-ปตท.ฉลุยแหลมฉบัง ยื่นค่าสัมปทาน1.2หมื่นล้าน

ส่วนหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอในซอง 4 กำหนดไว้ว่าผู้ที่ยื่นข้อเสนอที่เสนอผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุด จะเป็นผู้ผ่านการพิจารณาและเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจาต่อไป ส่วนการประเมินซอง 5 ข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการนั้น จะไม่ถูกนำมาใช้ในการประเมินผู้ยื่นข้อเสนอ โดยเอกสารซอง 5 จะถูกเปิดก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจา และผูกพันผู้ผ่านการพิจารณา
 
รายงานข่าวจาก กทท.ระบุว่า คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ได้เปิดซอง 4 ผลตอบแทนทางการเงินแล้ว หลังจากที่มีการประกาศผลซอง 4 ข้อเสนอทางเทคนิค ซึ่งปรากฎว่าข้อเสนอของกลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี เสนอผลตอนแทนทางการเงินให้รัฐ 12,000 ล้านบาท ในขณะที่ข้อเสนอผลตอบแทนทางการเงินของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีที่ถูกตัดสิทธิ์ไปแล้วอยู่ที่ 24,000 ล้านบาท
 
ทั้งนี้ ผลตอบแทนรัฐของทั้ง 2 กลุ่ม มีส่วนต่างกันถึง 12,000 ล้านบาท และทำให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการท่าเรือแห่งประเทศไทย (สร.กทท.) เตรียมที่จะเคลื่อนไหวเพราะการตัดสิทธิกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีด้วยประเด็นเพียงเล็กน้อยทำให้ภาครัฐเสียประโยชน์ที่จะได้จากการให้สัมปทานพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3
กัลฟ์-ปตท.ฉลุยแหลมฉบัง ยื่นค่าสัมปทาน1.2หมื่นล้าน
สำหรับ กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ประกอบด้วย บริษัทนทลิน จำกัด ,บริษัทแอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด ,บริษัทพีเอชเอส ออแกนิค ฮีลลิ่ง จำกัด ,บริษัทพริมา มารีน จำกัด (มหาชน) และบริษัทไชน่า เรลเวย์ คอนสตรักชั่น คอร์ปอเรชั่น จากประเทศจีน โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่งตัดสิทธิกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีออกจากการประมูล และขอศาลปกครองกลางคุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้ศาลปกครองกลางได้ไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนที่ กทท.จะดำเนินการประมูลต่อ
 
นอกจากนี้ กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีได้ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีนายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน รับข้อร้องเรียนการพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นพีซีร้องเรียนว่า ได้ยื่นเอกสารในซองที่ 2 (คุณสมบัติผู้ประมูล) ให้ กทท.พิจารณาและถูกตัดสิทธิ์การเป็นผู้ร่วมประมูลเพราะยื่นเอกสารไม่ครบทำให้ไม่ผ่านคุณสมบัติ รวมทั้ง ไม่ได้รับความไม่เป็นธรรมอันเนื่องจากการพิจารณาข้อเสนอร่วมลงทุนของ กทท.ในกระบวนการประมูล เพราะไม่ปฏิบัติตามกฏหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฏหมายของ กทท.และคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ที่อาจส่งผลต่อความโปร่งใส โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ผู้ที่ชนะการประมูลจะได้สิทธิ์ออกแบบ ก่อสร้าง ให้บริการ และซ่อมบำรุงรักษาโครงการ ประกอบไปด้วย ท่าเทียบเรือ F1 และ F2 เป็นระยะเวลา 35 ปี ในช่วง 2 ปีแรกเอกชนจะได้รับสิทธิ์พัฒนา บนพื้นที่ 1,000 เมตร และภายใน 6 ปี จะต้องพัฒนาบริหารจัดการพื้นที่ให้ครบทั้ง 2,000 เมตร เพื่อรองรับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่รองรับตู้สินค้าได้ 4 ล้านตู้ต่อปี และอาจจะขยายการรองรับตู้สินค้าให้ได้ถึง 5-6 ล้านตู้ เพื่อเพิ่มความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าในท่าเรือแหลมฉบังจาก 11.1 ล้านทีอียูต่อปี เป็น 18.1 ล้านอีทียูต่อปี