กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี

23 มี.ค. 2559 | 08:00 น.
[caption id="attachment_40041" align="aligncenter" width="448"] จาตุรงค์230359_1 จาตุรงค์ จันทรังษ์[/caption]

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 23 มีนาคม 2559 ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยประเด็นที่คณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญในการตัดสินนโยบาย มีดังนี้

เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐ การท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นในบางกลุ่มธุรกิจ แต่ในภาพรวมมีสัญญาณอ่อนแรงลงหลังจากผลชั่วคราวของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงก่อนปีใหม่และการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตหมดลง ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้ายังหดตัวสูงและมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศ คู่ค้าหลัก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก และปัญหาความสามารถในการแข่งขันของไทย ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน และยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนไหว รวมทั้งทิศทางการด าเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่อาจแตกต่างกันมากขึ้น ส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน และในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลให้เงินบาทโน้มแข็งค่าขึ้นในบางช่วง ซึ่งอาจไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเท่าที่ควร

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงติดลบต่อเนื่อง ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงในช่วงปลายปี 2558 ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักผลของภาษีสรรพสามิตยาสูบและรถยนต์มีแนวโน้มชะลอลง สะท้อนแรงสนับสนุนด้านอุปสงค์ที่แผ่วลง ความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อจึงโน้มไปด้านลบเพิ่มขึ้น สำหรับความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินโดยรวมยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield)

ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าแม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม แต่เห็นว่านโยบายการเงินในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ผ่อนปรน และควรรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการด้านต่างๆ อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ