โป๊ะแตก... 5 โบรกเกอร์ ผู้ผิดกฎการทุบหุ้นไทย!!

30 เม.ย. 2562 | 09:17 น.

คอลัมน์มารยาตลาดหุ้น ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3466 หน้า 17 ระหว่างวันที่ 2-4 เม.ย.2562 โดย...คุณนายเผือก

 

 

โป๊ะแตก...

5 โบรกเกอร์

ผู้ผิดกฎการทุบหุ้นไทย!!

 

 

          เป็นเรื่องร้องเรียนมาหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่เมื่อกลางปี 2561 เมื่อหุ้นไทยมักถูก “ทุบ” หรือภาษาสากลที่เรียกว่าถูก “ชอร์ต (Short)” เสมอ ที่ดัชนีทำท่าจะขึ้น

          “การชอร์ตหุ้น” (Short Sell) ในด้านการลงทุน เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ “ขายแพง” เพื่อซื้อกลับในราคาที่ถูกกว่า และกินกำไรส่วนต่าง

          สำหรับประเทศไทย “การชอร์ตหุ้น” ที่ถูกกฎหมายทำได้เพียง 2 วิธี คือ

          - คุณต้องมีหุ้นนั้นๆ เอง เช่น เดิมคุณมีหุ้น KBANK อยู่ในพอร์ต และคุณคิดว่าหุ้นจะลง แต่คุณยังอยากถือหุ้น KBANK อยู่ คุณสามารถขายก่อนและซื้อกลับได้ตามปกติ เช่น ขายที่ราคา 190 บาท และซื้อกลับที่ราคา 180 บาท เป็นต้น

          - “Covered Short” หรือการที่คุณไปยืมหุ้นกับโบรกเกอร์มาเพื่อขาย โดยจะมีการทำสัญญากันแบบเป็นกิจจะลักษณะที่ชัดเจน เพื่อให้โบรกเกอร์มั่นใจว่าคุณจะต้องนำส่งมอบหุ้นที่ยืมไปขายให้กลับมาครบตามตกลงกันไว้โดยกรณีนี้โบรกเกอร์อาจไปยืมหุ้นมาจากนักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนทั่วไปอีกขาหนึ่ง

          อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามักมีโบรกเกอร์บางแห่งที่เอื้อให้นักลงทุนสถาบันต่างชาติรายใหญ่บางราย ทำการชอร์ตหุ้น หรือขายหุ้น ทั้งๆ ที่ไม่มีหุ้นนั้นอยู่ในครอบครองจริง หรือที่เราเรียกว่า “Naked Short”

          “Naked Short” ในหลายประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) ถือเป็นสิ่งที่ “ผิดกฎหมาย”

 เพราะมันคือ การทำ Short Sell ที่ผู้ขายไม่ได้มีการยืมหุ้นมาไว้ก่อนในวันที่สั่งขายหุ้น ทำให้ในวันส่งมอบอาจมีความเสี่ยงที่ผู้ขายไม่สามารถส่งมอบหุ้นให้กับผู้ซื้อได้ (เรียกว่า “fail-to-deliver”)

          แปลง่ายๆ คือ “Naked Short” เปิดโอกาสให้กองทุนต่างชาติเข้าทำการสั่งขายหุ้นได้อย่างบ้าคลั่ง (ทุบหุ้น) ทั้งที่คุณไม่มีหุ้นอยู่จริง และนี่คือสิ่งที่น่ากังวลมาก เพราะตลาดหุ้นไทยมีความเปราะบางสูง และหากมีกองทุนต่างชาติรุมเข้าทุบหุ้นไทย ดัชนีก็อาจถึงขั้นพังย่อยยับ!!

          เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สะท้อนถึงความหละหลวมของระบบ Trading หุ้น ของโบรกเกอร์เมืองไทย และบ่งบอกถึงความสะเพร่าในการตรวจสอบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ควรสามารถตรวจจับหรือล็อกระบบได้ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ

         สรุป “ดร.ภากร ปีตธวัชชัย” ผู้จัดการ ตลท. หลงยุค ไม่ได้อยู่ในโลก 4.0 หรือไร?

         น่าขำสิ้นดี ที่ ตลท. เอาแต่เน้นนโยบายเชิญชวนคนมาซื้อขายหุ้น เชิญชวนบริษัทมาเข้าตลาด และเน้นจะขยายผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุน แต่การตรวจสอบระบบพื้นฐานยังทำอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้!!

         อย่าไปบอกใครนะเจ้าคะว่าเคยอยู่ธนาคารไทยพาณิชย์มา เพราะเป็นที่รู้กันว่า ธนาคารไทยพาณิชย์เขาลํ้าหน้าด้านระบบดิจิทัลที่สุดในประเทศ!!

         โดยล่าสุดฝ่ายวินัยและคดี ตลท. ได้ดำเนินการทางวินัยกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) หรือ “CLSA” บล.ฟินันเซีย ไซรัสฯ (FSS) บล.เอเชียเวลท์ฯ (ASW) บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)ฯ และ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)ฯ (MBKET)

         ทั้ง 5 โบรกเกอร์นี้มีการขายหลักทรัพย์โดยไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครอง (Naked Short) และนี่ถือเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 17 (1) ของข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับสมาชิก และข้อ 39 (1) ของข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง การซื้อขายการชำระราคาและการส่งมอบหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

          จริงๆ ความผิดเหล่านี้ การกระทำพวกนี้ ไม่จำเป็นต้องไปไล่ตรวจจับ แค่พัฒนาระบบควบคุมเพื่อ “ป้องกัน” การทำ “Naked Short” ก็น่าจะจบแล้วไม่ใช่หรือเจ้าคะ??? ... งงจริงๆ