การระดมเงินทุน เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ

01 พ.ค. 2562 | 04:00 น.

องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 22 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันคุ้มครองโลก” (International Mother Earth Day) โดยในปีนี้เครือข่ายวันคุ้มครองโลก (Earth Day Network) ซึ่งมีสมาชิกกว่า 100 ประเทศ ได้จัดกิจกรรมขึ้นภายใต้แนวคิดเรื่องการปกป้องสายพันธุ์ (protect our species) เพื่อกระตุ้นให้ประชากรโลกตระหนักถึงปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ (biodiversity) ที่เข้าขั้นวิกฤติ ถึงกับมีการกล่าวว่า โลกของเรากำลังเข้าสู่ยุค “การสูญพันธุ์หมู่” (mass extinction) ครั้งที่ 66 ซึ่งครั้งสุดท้ายที่เกิดการสูญเสียความหลากหลาย ทางชีวภาพในระดับนี้เกิดขึ้นเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้วและเป็นเหตุให้ไดโนเสาร์ต้องสูญพันธุ์ไป

อย่างไรก็ตาม การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในระดับ “การสูญพันธุ์หมู่” ครั้งนี้ แตกต่างจาก 5 ครั้งที่ผ่านมา เพราะความเสียหายครั้งนี้เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์โดยตรง จึงเป็นที่มาของการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ในประเด็นนี้ผ่านการทำกิจกรรมในวันคุ้มครองโลกในปีนี้

ในประเทศไทยเอง ความหลากหลายทางชีวภาพถูกแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงการใช้สอยที่ดิน การขยายตัวของเมือง และการขยายตัวของประชากรคุกคาม ส่งผลให้ระบบนิเวศที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยเดิมของพืชและสัตว์นานาชนิดเสื่อม โทรมลงจนส่งผลกระทบต่อพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์จำนวนมาก

นอกจากนี้ แรงกดดันสำคัญอีกประการหนึ่งเกิดจากข้อจำกัดของเงินทุนที่ใช้ในการสนับสนุนโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่จำเป็นในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศต่างๆ ให้มีความสมบูรณ์เพียงพอต่อการคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ

การระดมเงินทุน  เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ

ซึ่งจากการประเมินโดยโครงการริเริ่มการลงทุนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Finance Initiative หรือ BIOFIN) ในประเทศไทย พบว่าหากเปรียบเทียบจำนวนงบประมาณที่จำเป็นจะต้องใช้ในการบรรลุเป้าหมายทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพในระดับประเทศในปี 2564 กับงบประ มาณที่ไทยจัดสรรให้แก่งานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จะพบว่ายังคงขาดเงินอยู่ 31,978 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้สูงเกือบ 3 เท่าของเงินงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ณ ปัจจุบัน

ขอทำความเข้าใจกับผู้อ่านสักนิดว่า ความหลากหลายทางชีวภาพนั้นมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศในทุกยุคทุกสมัยจวบจนถึงทุกวันนี้ ยกตัว อย่างเช่น ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สินค้าไทยที่ได้รับความนิยมจากต่างชาติส่วนมาก เป็นสินค้าที่มาจากความหลากหลายทางชีวภาพในบ้านเรา เช่น ไม้กฤษณา ไม้จันทน์ ไม้สัก นอแรด งาช้าง รังนกรวมถึงข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นข้าวที่มีถิ่นกำเนิดในไทย

การระดมเงินทุน  เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ

ในช่วงต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศหลังสงคราม โลกครั้งที่ 2 อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และในปัจจุบันความหลากหลายทางชีวภาพก็ยังคงสร้างรายได้ให้แก่ประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำ ผ่านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ทางตรงและทางอ้อม ให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก

นอกจากเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศแล้ว ความหลากหลายทางชีวภาพยังเป็น แหล่งคํ้าจุนชีวิตความเป็นอยู่ของ คนที่อยู่ใกล้ชิดกับทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ แหล่งนํ้า และทะเล และยังเป็นแหล่งที่ให้บริการทางระบบนิเวศต่างๆ แก่มนุษย์อีกด้วย ซึ่งประโยชน์เหล่านี้คิดเป็นมูลค่ามหาศาล

จากความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพต่อเศรษฐกิจของประเทศ และปัญหาภัยคุกคามที่เกิดจากการขาดแคลนทุนในการดำเนินงานให้บรรลุเป้าประสงค์ของประเทศนั้น โครงการ BIOFIN จึงได้จัดให้มีการศึกษาเพื่อหาแนวทางการระดมเงินทุนที่ตอบโจทย์ของประเทศ และได้จัดการประชุมร่วมระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ โดยให้ผู้เข้าร่วมประชุมร่วมกันคัดเลือกเครื่องมือการระดมทุน (finance solutions) ที่เห็นว่าน่าจะนำมาใช้ในประเทศไทยได้

ซึ่งแนวทางการระดมทุนเหล่านี้มีทั้งการเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ใช้ประโยชน์ การสร้างกอง ทุนเพื่อการอนุรักษ์ การกำหนดมาตรฐานความยั่งยืน  การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการลงทุนในธุรกิจที่สร้างประโยชน์ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity impact investing) เป็นต้น

การระดมทุนเหล่านี้ มุ่งหวังที่จะนำเงินทุนมาจากภาคประชาชนและภาคเอกชน เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้ให้งบประมาณด้านความหลากหลายทางชีวภาพหลักของประเทศ โดยในปัจจุบัน ทางโครงการ BIOFIN มีแผนการที่จะนำเครื่องมือเหล่านี้ไปทดลองใช้ในลักษณะโครงการนำร่องเพื่อศึกษาเครื่องมือเหล่านี้ให้ละเอียดยิ่ง ขึ้นต่อไป 

เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.ขนิษฐา แต้มบุญเลิศชัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3466 ระหว่างวันที่ 2 - 4 พฤษภาคม 2562

การระดมเงินทุน  เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ