กรอ.เร่งรับมือกำจัดซากโซลาร์เซลล์ คาดปีหน้ามีปริมาณถึง 5.5 แสนตัน

29 เม.ย. 2562 | 10:47 น.

กรอ.เตรียมรับมือกำจัดซากโซลาร์ลาร์เซลล์ จากการส่งเสริมใช้พลังงานทดแทน คาดปี 63 มีปริมาณถึง 5.5 แสนตัน ที่ต้องกำจัด และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จากแผนพีดีพีที่รับซื้อไฟฟ้า 1 หมื่นเมกะวัตต์ ใน 20 ปีข้างหน้า

 

นายทองชัย  ชวลิตพิเชฐ  อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.)  กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรอ.เตรียมออกทีโออาร์เพื่อว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา มาศึกษาถึงแนวทางที่เหมาะสมในการกำจัดซากโซลาร์เซลล์ ที่คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต จากนโยบายของรัฐในส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน10 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการศึกษา 1ปี

นายทองชัย  ชวลิตพิเชฐ

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งในรูปแบบการติดตั้งบนพื้นดินหรือโซลาร์ฟาร์มและการติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย อาคารและโรงงาน หรือโวลาร์รูฟท็อป มาอย่างต่อเนื่อง และแผนพีดีพี ฉบับใหม่ของประเทศ( 2561-2580) กำหนดให้มีการใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานแสงาอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าไว้ถึง 1 หมื่นเมกะวัตต์ โดยพบว่าปัจจุบันมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สะสมแล้วจำนวนกว่า 3 พันเมกะวัตต์ มีผู้ประกอบการกว่า 7.2 พันราย ทั้งที่เป็นโซลาร์ฟาร์มกว่า 2.4 พันเมกะวัตต์ จำนวนกว่า 340 ราย ขณะที่โซลาร์รูฟท็อป มีการติดตั้งกว่า 200 เมกะวัตต์ มีจำนวนผู้ติดตั้งกว่า 6.5 พันราย เป็นต้น   

 

นอกจากนี้ ยังมีการนำไปใช้กับสินค้าหลายหลายประเภท เช่น โคมไฟโซลาร์เซลล์  น้ำพุโซลาร์เซลล์  จากการส่งเสริมการใช้โซลาร์เซลล์รูปแบบต่าง ๆ จึงคาดการณ์ว่าในปี 2563 จะมีปริมาณซากแผงโซลาร์เซลล์สะสมที่ต้องกำจัด ประมาณ 550,000 ตัน หรือประมาณ 18 ล้านแผง

 

กรอ.เร่งรับมือกำจัดซากโซลาร์เซลล์ คาดปีหน้ามีปริมาณถึง 5.5 แสนตัน

“ปกติอายุการใช้งานของแผงโซลาเซลล์ โดยเฉลี่ยประมาณ 20 ปี  แต่แผงโซลาเซลล์ที่มีคุณภาพไม่ดี อาจจะมีอายุประมาณ 5 – 10 ปี  ดังนั้น คาดว่าซากแผงโซลาเซลล์จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงานได้มีการหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางการจัดการซากแผงโซลาเซลล์ที่จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นนี้โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน” 

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีการลงทุนสร้างโรงงานกำจัดซากโซลาร์เซลล์โดยเฉพาะ  มีแต่เพียงการลงทุนสร้างโรงงานรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์เพียง 1โรงเท่านั้น ที่จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยเป็นการนำแผงเก่าที่หมดอายุการใช้งานมาเปลี่ยนแผ่นเซลล์เพื่อนำกลับไปใช้ใหม่  ส่วนแผ่นเซลล์ที่หมดอายุก็ใช้วิธีส่งคืนผู้ผลิตต่างประเทศ  หรือนำมาบดย่อยซากโซลาเซลล์และฝังกลบในหลุมฝังกลบอุตสาหกรรม (Secure Landfill)

 

สำหรับการจัดการซากโซลาเซลล์ในปัจจุบัน มีหลายวิธี ได้แก่ การส่งคืนผู้ผลิตต่างประเทศซึ่งต้องมีการดำเนินการตามอนุสัญญาบาเซิล  การบดย่อยซากโซลาเซลล์และฝังกลบในหลุมฝังกลบอุตสาหกรรม (Secure Landfill)  นอกจากนี้ กรอ. ได้อนุญาตให้มีการตั้งโรงงานรีไซเคิลซากโซลาเซลล์ 1 โรงงาน จังหวัดฉะเชิงเทรา  ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการก่อสร้างโรงงาน

กรอ.เร่งรับมือกำจัดซากโซลาร์เซลล์ คาดปีหน้ามีปริมาณถึง 5.5 แสนตัน

อย่างไรก็ตาม มีผู้ประกอบการหลายรายได้ให้ความสนใจในการตั้งโรงงานรีไซเคิลซากโซลาเซลล์  แต่เนื่องจากยังมีจำนวนของซากแผงโซลาเซลล์ไม่มากนัก  จึงยังติดตามสถานการณ์อยู่  และคาดว่าอีก 5 – 10 ปีขึ้นหน้าเมื่อมีจำนวนซากมากขึ้น จะมีโรงงานประเภทนี้มากขึ้น

กรอ.เร่งรับมือกำจัดซากโซลาร์เซลล์ คาดปีหน้ามีปริมาณถึง 5.5 แสนตัน