อู่ประกอบคึก ลุยบัสยุคใหม่ ไฮบริดยันมินิ

29 เม.ย. 2562 | 05:05 น.

อู่เชิดชัยจับมือฮีโน่ประกอบรถบัสไฮบริดชานตํ่าฝีมือคนไทย  อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีรับยุค 4.0 ค่าตัว 8 ล้านบาท จับตลาดในเมือง ด้านไทยรุ่ง-สกุลฎ์ซี ลุยมินิบัส ทดแทนรถตู้โดยสารกว่า 20,000 คัน

พัฒนาการของเทคโนโลยีและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำให้มีความต้องการใช้รถโดยสารสาธารณะรุ่นใหม่ ค่ายฮีโน่จับมืออู่เชิดชัยประกอบรถโดยสารรุ่นใหม่ไฮบริดแบบชานตํ่า ขณะที่ไทยรุ่ง-สกุลฎ์ซี ลุยมินิบัสมาทดแทนรถตู้โดยสารสาธารณะอย่างคึกคัก 

นายสุรวุฒิ เชิดชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชิดชัยคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับบริษัท ฮีโน่มอเตอร์สเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตและประกอบรถโดยสารปรับอากาศรุ่นใหม่ มีรูปลักษณ์ทันสมัย โดดเด่นด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยประหยัดพลังงาน ลดมลพิษ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมก้าวสู่ Smart City เจาะกลุ่มเป้าหมาย รถขนส่งผู้โดยสารในเมือง ทั้งในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ รวมถึงใช้รับส่งผู้โดยสารในสนามบิน

รถโดยสารฮีโน่ไฮบริดคันนี้ เป็นรถโดยสารปรับอากาศชานตํ่า ไม่มีบันได (Non step bus) มีความยาว 12 เมตร ห้องโดยสารกว้างขวาง สามารถปรับที่นั่งได้ตามความต้องการใช้งาน เครื่องยนต์ดีเซลรุ่นใหม่ ความจุ 5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 260 แรงม้า จับคู่กับมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ขนาดเหมาะสม เก็บประจุไฟฟ้าเพียงพอกับการใช้งาน มีความปลอดภัย เหมาะกับการใช้งานภูมิภาคร้อนอย่างประเทศไทย โดยระบบไฮบริดจะนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการออกตัว และสามารถประจุไฟฟ้ากลับเข้าแบตเตอรี่ได้โดยอัตโนมัติ ขณะลดความเร็ว ไม่จำเป็นต้องใช้สถานีประจุไฟฟ้า เมื่อจอดเครื่องยนต์จะดับชั่วขณะ ทำให้อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงตํ่า ประหยัดมากกว่าเครื่อง ยนต์ดีเซลทั่วไป 40-50% (ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจรและพฤติกรรมของคนขับ) และการปล่อยค่ามลพิษทางไอเสียน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับรถโดยสารเครื่องยนต์ดีเซล อู่ประกอบคึก  ลุยบัสยุคใหม่  ไฮบริดยันมินิ

รถโดยสารออกแบบตามหลัก Universal design ให้ความสะดวกสบายกับผู้โดยสารทุกเพศ ทุกวัย โดยพื้นรถโดยสารเป็นแบบชานตํ่า พร้อมระบบปรับความสูงของรถ ขณะจอดรับส่งผู้โดยสาร ขึ้นลงได้ง่ายสะดวกสบาย พร้อมติดตั้งทางลาดเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่เดินทางด้วยวีลแชร์ หรือกระเป๋าเดินทาง และมีพื้นที่ Free space สามารถจัดเป็นพื้นที่รองรับผู้โดยสารที่เดินทางด้วยวีลแชร์ หรือสามารถใช้เป็นที่ยืนสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางพร้อมสัมภาระขนาดใหญ่

นายสุรวุฒิ เชิดชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวอีกว่า การผลิตรถ Hybrid bus รุ่นนี้ มีต้นทุนประมาณ 8 ล้านบาท ใช้เวลาในการประกอบรถคันต้นแบบประมาณ 90 วัน เป็นเทคโนโลยีของบริษัทฮีโน่ฯ แต่ประกอบด้วยฝีมือคนไทยล้วนๆ ซึ่งทางบริษัท สามารถประกอบรถโดยสารได้เดือนละประมาณ 50 คัน ขณะนี้ทางบริษัทฮีโน่ฯ ได้มีคำสั่งให้ประกอบเพิ่มอีก 4 คัน อยู่ระหว่างดำเนินการ หากบริษัท หน่วยงาน หรือเอกชนใดต้องการ สามารถสั่งจองผ่านมาทางบริษัทฮีโน่ฯได้รถต้นแบบเป็นขนาด 34 ที่นั่ง สะดวกสบายแก่ผู้พิการในการขึ้นลง ประหยัดนํ้ามัน โดยรถจะสตาร์ตด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้าตั้งแต่ 0-300 เมตร จากนั้นจะเปลี่ยนไปใช้นํ้ามันซึ่งเป็นรถโดยสารสมัยใหม่ที่เหมาะกับยุคปัจจุบัน

นอกจากนี้การประกอบรถมินิบัสก็คึกคัก โดยทางบริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) เริ่มประกอบและขายมินิบัสช่วงปลายปี 2561 ในชื่อ “ทีอาร์ ทราเวลเลอร์” ที่ใช้แชสซีส์รถบรรทุกและเครื่องยนต์ดีเซลของอีซูซู ราคาเริ่มต้น 2.15 ล้านบาท

ตัวรถยาว 7 เมตร รองรับผู้โดยสารได้ 20 ที่นั่ง เครื่องยนต์ขนาด 5.2 ลิตร 150 แรงม้า ประกบเกียร์ธรรมดา 6 สปีด พร้อมติดตั้งกล้อง CCTV 4 จุด, ระบบ GPS พร้อมเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ตัวรถสามารถนำเข้าไปตรวจเช็กสภาพได้ที่ศูนย์บริการอีซูซุทั่วประเทศ

อีกหนึ่งแบรนด์ของคนไทย “สกุลฎ์ซี” ที่เปิดตัวมินิบัสรุ่นใหม่ช่วงปลายปีที่แล้วเช่นกัน และจะมีรถพร้อมส่งมอบช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ โดยรถพัฒนาบนแชสซีส์และเครื่องยนต์ของรถบรรทุกฮีโน่ ชูจุดเด่นกับตัวถังอะลูมิเนียม นํ้าหนักเบา ไม่เป็นสนิม ความยาว 7.1 เมตร จำนวนที่นั่งมาตรฐาน ม.2จ 19+1 และ 20+1 ที่นั่ง ขับเคลื่อนด้วยขุมพลังดีเซล 4.0 ลิตร 150 แรงม้า ประกบเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ราคา 2.3 ล้านบาท พร้อมการประกัน 5 ปี สามารถเข้าศูนย์ฮีโน่ได้ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ มินิบัสของสกุลฎ์ซีและไทยรุ่งฯ หวังเจาะกลุ่มผู้ให้บริการรถตู้สาธารณะจำนวนกว่า 20,000 คัน ที่ทยอยหมดอายุ หรือห้ามใช้งานเกิน 10 ปีตามกฎหมายของกรมขนส่งทางบก และต้องเปลี่ยนเป็นรถมินิบัสเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,465 วันที่ 28 เมษายน - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562