แบงก์ลุยไฟปล่อยกู้ ฟันกำไรดอกเบี้ยรายย่อยเสี่ยงหนี้เสีย

28 เม.ย. 2562 | 10:20 น.

แบงก์เดินหน้าปล่อยสินเชื่อรายย่อย หวังฟันกำไรดอกเบี้ย ท่ามกลางความเสี่ยงความสามารถชำระหนี้ตึงตัวดันยอดหนี้เสีย-เอสเอ็ม พุ่ง “ไทยพาณิชย์” เฝ้าระวังลูกค้ารายได้ตํ่ากว่า 15,000 บาท กลุ่มเสี่ยง

หนี้ครัวเรือนที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่แนวโน้มความสามารถการชำระหนี้ของประชาชนเริ่มลดลง สะท้อนจากตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลสินเชื่อส่วนบุคคลที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ยังคงเดินหน้าปล่อยสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้น เพราะสินเชื่อรายย่อยเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการมากกว่าสินเชื่อประเภทอื่น

 

SCBหนี้เสียเกิดใหม่ 12%

“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบพบว่า ไตรมาสแรกของปี 2562 ธนาคารไทยพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดสินเชื่อบุคคลโดยรวมของธนาคารเพิ่มจาก 9.17 แสนล้านบาทในไตรมาสแรกปี 2560 มาอยู่ที่ 9.88 แสนล้านบาทในไตรมาสแรกปี 2561 หรือเพิ่มขึ้น 7.1 แสนล้านบาท หรือ 7.7% ประกอบด้วย สินเชื่อเคหะ 6.54 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 3.5% จาก 6.32 แสนล้านบาท สินเชื่อเช่าซื้อ 2.13 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 13.9% จาก 1.87แสนล้านบาท สินเชื่ออื่นๆเพิ่ม 23.3% เป็น1.20 หมื่นล้านบาท จาก 9.80แสนล้านบาท แบงก์ลุยไฟปล่อยกู้  ฟันกำไรดอกเบี้ยรายย่อยเสี่ยงหนี้เสีย

อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากังวลคือหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสินเชื่อบุคคลมี
แนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเอ็นพีแอลเกิดใหม่ในไตรมาสแรกของปี 2562 สูงถึง 12.3% โดยธนาคารระบุว่าการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลเกิดใหม่หมวดเคหะมาจากกลุ่มลูกค้าที่ผู้กู้เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งมีภาระหนี้ค่อนข้างสูงแม้ว่าธนาคารจะเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ากลุ่มนี้ตั้งแต่ปี 2557 แล้วก็ตาม ขณะที่เอ็นพีแอลเกิดใหม่ของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อยู่ที่ 0.61% ทั้งนี้ไม่รวมเอ็นพีแอลที่มีการยึดรถได้ก่อนสิ้นเดือนของเดือนที่ลูกค้ากลายเป็นเอ็นพีแอล

 

ระวังกลุ่มรายได้ต่ำ

นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า แม้หนี้ครัวเรือนยังเป็นประเด็นที่ต้องระมัดระวังต่อการพิจารณาสินเชื่อ โดยภาพรวมไตรมาสแรกของปีนี้พอร์ตสินเชื่อของไทยพาณิชย์ยังขยายตัวได้ดี เห็นได้จากสินเชื่อที่อยู่อาศัยซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากมาตรการคุมอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน(แอลทีวี)ของธปท.ที่เร่งการตัดสินใจโอนกรรมสิทธิ์ของลูกค้าจำนวนมากทำให้พอร์ตนี้เติบโตเป็น 6.5 แสนล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นเกือบ 4.0% ขณะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)หมวดนี้กลับลดลงเป็น 2.87% แต่แนวโน้มผลจากการควบคุมแอลทีวีจะมีผลต่อยอดโอนปรับลดลงราว 10% สาเหตุหลักลูกค้าจะไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยในราคาที่ต้องการ

ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อนั้นไทยพาณิชย์เน้นทำตลาดสินเชื่อMy Car My Cash ทำให้เห็นการเติบโตได้ 14% เอ็นพีแอลลดลงเหลือ 1.7% จากเดิมอยู่ที่ 1.8% สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลเติบโต 30% และสินเชื่อบัตรเครดิตก็ยังขยายตัวได้ดีที่ 20%

“ภาพรวมสินเชื่อยังเติบโตได้ดีทุกหมวด แต่เอ็นพีแอลในหมวดสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.0% จาก 1.95% ซึ่งเราระมัดระวังเรื่องภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังไม่ลดลง แต่ไตรมาสแรกของปีนี้ยังไม่เห็นสัญญาณหรือผลกระทบจากเรื่องนี้ โดยที่เราเพิ่มความระมัดระวังพิเศษในกลุ่มรายได้ตั้งแต่ 8,000-15,000 บาท”

 

TMBหวั่นหนี้เสียรายย่อย

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี(TMB) ระบุ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ไตรมาสแรกของปี2562 ยังเห็นการเติบโตของสินเชื่อรายย่อย รวมทั้งเอ็นพีแอล และหนี้ที่กล่าวถึงเป็นกรณีพิเศษที่ค้างชำระตั้งแต่ 31 - 60 วัน หรือ เอสเอ็ม ยังคงขยายตัวเพิ่มอย่างเห็นได้ชัด โดยเอ็นพีแอลสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ปรับเพิ่มเนื่องจากมีการเร่งปล่อยสินเชื่อในกลุ่มคอนโดมิเนียมที่ไม่ตั้งอยู่ในทำเลทอง มีแนวโน้มเป็นเอ็นพีแอลสูง จึงต้องระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง แต่แนวโน้มภายหลังธปท.ออกมาตรการคุมแอลทีวีอาจจะเห็นแนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยทยอยปรับตัวลงอยู่ในระดับกลางๆ ตัวเลขสินเชื่อที่อยู่อาศัยเติบโตที่ประมาณ 5% ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อตลาดยังเติบโต แม้เอ็นพีแอลและเอสเอ็มยังปรับตัวสูงขึ้น อย่างเอ็นพีแอลสินเชื่อรถยนต์อยู่ในระดับ 1.7% แต่เอสเอ็มเพิ่ม 7.5% สะท้อนถึงความสามารถการใช้จ่ายหรือลดกำลังซื้อของครัวเรือนลดลง

“ตอนนี้ผู้ประกอบการมุ่งปล่อยสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์คํ้าประกันเพราะจะช่วยลดภาระกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ เพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกิจ และยอมรับว่าสินเชื่อรายย่อยยังเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้ให้กับผู้ให้บริการมากกว่าสินเชื่อประเภทอื่นถ้าสามารถบริหารจัดการพอร์ตและควบคุมระดับหนี้ได้”

 

ห่วงเงินชำระหนี้ตึงตัว

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มหนี้ครัวเรือนต่อสัดส่วนจีดีพียังคงทรงตัว โอกาสที่จะเห็นหนี้ครัวเรือนปรับลดลงยังค่อนข้างยาก เพราะส่วนหนึ่งของเงินให้กู้ยืมส่วนบุคคลประเภทต่างๆเป็นเป้าหมายหลักของธุรกิธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบการนอนแบงก์ เพราะถ้าผู้ประกอบการบริหารความเสี่ยงได้ดีก็จะเพิ่มผลตอบแทนและดอกเบี้ยรับค่อนข้างสูง หากเทียบกับการปล่อยกู้ธุรกิจเอสเอ็มอี ขณะที่ธุรกิจรายใหญ่สามารถระดมทุนได้เอง ดังนั้นจึงเหลือตลาดเช่าซื้อ สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่แนวโน้มความสามารถในการชำระหนี้เริ่มตึงตัว ทำให้ยากต่อการบริหารเงินหมุนเวียน

“การก่อหนี้เพิ่มโดยที่รายได้ไม่โต หากจำเป็นต้องใช้เงินกะทันหัน เช่น คนในครอบครัวป่วยหรือเปิดเทอมอาจทำให้ครัวเรือนที่มีหนี้เดือดร้อน จึงเป็นประเด็นที่แบงก์ชาติเป็นห่วงว่าถ้าจำเป็นต้องใช้เงินครัวเรือนจะยากต่อการบริหารเงินหมุนเวียนและบางครัวเรือนก็ไม่มีเงินออม จึงเป็นความท้าทายต่อประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ” 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,465 วันที่ 28 เมษายน - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562