บขส.จับตารถร่วมเลิกกิจการ หลัง “สยามเฟิร์ส” เบนเข็มลุยโลจิสติกส์

26 เม.ย. 2562 | 08:57 น.
บขส.จับตารถร่วมเลิกกิจการ หลัง “สยามเฟิร์ส” เบนเข็มลุยโลจิสติกส์


บขส.ยันพร้อมให้บริการแทน “สยามเฟิร์ส” หลังผู้บริหารเข้าหารือหาแนวทางเลิกกิจการให้บริการผู้โดยสารเพื่อหันไปรุกโลจิสติกส์พร้อมเดินหน้าเปิดหาเอกชนรายอื่นสัมปทานแทน จับตารายย่อยขอคืนสัมปทานเหตุแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว 

นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” กรณีที่บริษัทสยามเฟิร์สทัวร์ จำกัด เข้าหารือเพื่อขอเลิกกิจการให้บริการผู้โดยสารในเส้นทางสายเหนือที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน หลังจากแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหวและจะยังให้บริการด้านธุรกิจโลจิสติกส์ขนส่งพัสดุแทนว่า ในเบื้องต้นได้ให้คำแนะนำตามกระบวนการพร้อมกับให้เข้าหารือร่วมกับกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) ต่อไป 

“เป็นการเข้ามาหารืออย่างไม่เป็นทางการ โดยไม่ได้ยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการแต่อย่างใดเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพร้อมกับขอรับคำแนะนำจากบขส.กรณีที่บริษัทขอเลิกกิจการเหตุผลเกิดจากทีมงานผู้บริหารของบริษัทมีอยู่เพียงไม่กี่คน อีกทั้งผลตอบแทนด้านการให้บริการผู้โดยสารไม่คุ้มค่า และการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่รับขนส่งพัสดุภัณฑ์ยังมีรายได้ดีกว่า เดินรถให้บริการผู้โดยสารรายได้หดหายไปอย่างมาก ประกอบกับผู้โดยสารใช้บริการน้อยลงจึงมาขอรับคำปรึกษาถึงกระบวนการต่างๆหากจะต้องเลิกกิจการ” 

โดยบขส. ได้ให้คำแนะนำว่าหากเทียบกับช่วงที่ผ่านมาคือขายสัมปทานให้เอกชนรายอื่น หากไม่มีก็ต้องมาทำเรื่องเพื่อขอบอกเลิกสัญญา หลังจากนั้นบขส.จึงจะเริ่มประกาศเชิญชวนเอกชนรายอื่นมาเดินรถในเส้นทางนี้ แต่หากดำเนินการแล่วไม่มีเอกชนรายใดสนใจให้บริการก็จะต้องแจ้งกรมการขนส่งทางบก 

ทั้งนี้เมื่อแจ้งกรมการขนส่งทางบกไปแล้วและกรมบอกว่าเลิกเส้นทางดังกล่าวไม่ได้ก็จะต้องให้บขส.จัดรถให้บริการแทนไปก่อนจนกว่าจะหาผู้รับสัมปทานรายใหม่เข้าไปดำเนินการ โดยจะเร่งประกาศเมื่อได้รับแจ้งเอกสารอย่างเป็นทางการจากบริษัท สยามเฟิร์สทัวร์ จำกัด ต่อไป 

“ปัจจุบันเส้นทางสายเหนือมีรถให้บริการอยู่หลายเส้นทางหากประชาชนเดือดร้อนภาครัฐจะต้องหารถมาวิ่งให้บริการก็จะต้องมอบให้บขส.ไปสิ่งให้บริการซึ่งเป็นแนวทางให้คำแนะนำกับผู้บริหารของบริษัทรับไปพิจารณา ยืนยันว่าเส้นทางนี้ไม่ได้ขาดทุนแต่กำไรน้อยลงเท่านั้น เพียงแต่บริษัทมีต้นทุนค่าใช้จ่ายจำนวนมากกว่า ทั้งเรื่องเงินเดือนและค่าใช้จ่ายอื่น เบื้องต้นมี 4 เส้นทางรถจำนวน 23 คันที่ให้บริการในปัจจุบันขณะนี้รอการรับแจ้งเป็นหนังสืออย่างเป็นทางการจากบริษัทเพื่อจะดำเนินการอย่างอื่นต่อไป” 

ทั้งนี้ในหลักการขอให้มีผู้เดินทางเท่านั้นบขส.พร้อมจัดรถรองรับได้ทันที แต่หากมีอัตราบรรทุกไม่ถึง 50% ก็จะประสบภาวะขาดทุนอย่างแน่นอน ต้องเกิน 60-70% จึงจะคุ้มต่อการลงทุน ประการสำคัญกิจการดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดกำไรจำนวนมาก มีการแข่งขันสูงในปัจจุบัน จึงน่าจับตาว่าจะมีรายอื่นประสบภาวะดังกล่าวนี้เพิ่มอีกหรือไม่ เนื่องจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีรายย่อยที่มีรถ 2-3 คันหรือรถตู้ที่ครบอายุ 10 ปีขอแจ้งขายกิจการเนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนนั่นเอง