ผ่าแผน 20ปี ดิจิทัลไทยแลนด์ ปั้นมนุษย์ไอที

28 เม.ย. 2562 | 02:40 น.

เมื่อเร็วๆ นี้เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศพระราชโองการ เรื่อง นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ปี 2561-2580) จะเป็นแผนแม่บทหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ ระยะ 20 ปี ที่กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ปี 2561-2580) เป็นนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับแรกของประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 ซึ่งจะต้องนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวิสัยทัศน์ “ปฏิรูปประเทศไทยสู่ดิจิทัลไทยแลนด์”

นั่นหมายความว่ารัฐบาลต้องเดินตามแผนแม่บทเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สรุปแผนปฏิรูปประเทศไทยสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 6 ด้านดังต่อไปนี้

 

ปูพรมดิจิทัลทั่วประเทศ

เป้าหมายของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิ ภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ มีโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึงทุกหมู่บ้าน โดย 90% ของผู้ใช้ในเขตเทศบาลเมืองทุกจังหวัดและพื้นที่เศรษฐกิจ สามารถเข้าถึงบริการ อินเตอร์เน็ตความเร็วไม่ตํ่ากว่า 100 Mbps มีบริการอินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่ความเร็วสูง (Mobile Broadband) ที่สามารถเข้าถึง และพร้อมใช้แก่ประชาชน โดยครอบคลุมพื้นที่ทุกหมู่บ้าน ชุมชน และสถานที่ท่องเที่ยว และมีโครงข่ายแพร่สัญญาณภาพโทรทัศน์และกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิทัลครอบคลุมทั่วประเทศ

ผ่าแผน 20ปี ดิจิทัลไทยแลนด์ ปั้นมนุษย์ไอที

 

ขับเคลื่อนเทคโนโลยี

เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยเพิ่มขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

โดยสัดส่วนมูลค่าการผลิต สินค้าและบริการภายในประเทศของธุรกิจ SMEs เพิ่มขึ้นเป็น 50%

ธุรกิจ SMEs ไทย ทั้งในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถแข่งขันได้ทั้งในเวทีภูมิภาคและเวทีโลก โดยเพิ่มสัดส่วนของธุรกิจ SMEs และวิสาหกิจชุมชนในการขายสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น 20%

นอกจากนี้แล้วต้องเพิ่มสัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลต่อ GDP เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 25% และประเทศ ไทยเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมดิจิทัลของภูมิภาคติด 1 ใน 3 อันดับต้นของภูมิภาค (Top 3 Digital Industry Leader)

สร้างความเท่าเทียม

ประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มผู้อาศัยในพื้นที่ห่างไกล ผู้สูงอายุ และคนพิการสามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีศูนย์ดิจิทัลชุมชนมีบริการอุปกรณ์เชื่อมต่อ และ Free Wi-Fi ครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศ โดยสัดส่วนของกลุ่มผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่อายุเกิน 50 ปีเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 25% นอกจากนี้แล้ว ประชาชนทุกคนมีความตระหนักความรู้ความเข้าใจ ทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ และสร้างสรรค์ (Digital Literacy) และสามารถเข้าถึงการศึกษา สาธารณสุข และบริการสาธารณะ ผ่านระบบดิจิทัล

 

เปลี่ยนภาครัฐสู่รัฐบาลไฮเทค

ต้องปรับเปลี่ยนบริการภาครัฐตอบสนองประชาชน ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และแม่นยำ ลดการใช้สำเนาเอกสารในบริการของภาครัฐ (Smart Service), มีระบบอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ (Doing Business Platform) โดยมีการจัดทำระบบสนับสนุนการดำเนินธุรกิจในช่วงเริ่มต้น และต้องมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลภาครัฐ การจัดเก็บและบริหารฐานข้อมูลที่บูรณาการ ไม่ซํ้าซ้อน สามารถมีกฎหมาย e-Government ที่มีหลักการครอบคลุมถึงนโยบายและแผนยุทธศาสตร์รัฐบาลดิจิทัล มีบริการโครงสร้างพื้นฐานกลางภาครัฐ (Government Shared Infrastructure/Data Center) ผ่านบริการเครือข่ายภาครัฐ (GIN) บริการ G-Cloud และระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์กลาง เพื่อสื่อสารในภาครัฐ (MailGoThai)

ผ่าแผน 20ปี ดิจิทัลไทยแลนด์ ปั้นมนุษย์ไอที

 

พัฒนากำลังคน

บุคลากรในวิชาชีพด้านดิจิทัลมีคุณภาพและปริมาณเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่ขาดแคลน หรือมีความสำคัญต่อการสร้างนวัตกรรมดิจิทัล เกิดการจ้างงานแบบใหม่อาชีพใหม่ธุรกิจใหม่จากการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลจำนวน 20,000 งาน บุคลากรผู้ทำงานทุกสาขามีความรู้และทักษะด้านดิจิทัล

 

สร้างความเชื่อมั่น

ประชาชนและภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่ทำธุรกรรมเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องและมูลค่า e-Commerce เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 4% ต่อปี ต้องมีชุดกฎหมาย กฎระเบียบที่ทันสมัย เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โดยผลักดัน Data Protection Law และปรับแก้ไข Computer Crime Law ให้บังคับใช้ได้ เป็นต้น

ด้านนายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการด้านโทรคมนาคม และผู้บริหารโครงการฝ่ายพัฒนานวัตกรรมและผู้ประกอบการสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อเป็นแผนนโยบายซึ่งเห็นชอบและลงราชกิจจาฯ ย่อมหมายถึงทุกหน่วยงานของรัฐและผู้เกี่ยว ข้อง ย่อมต้องมีบทบาทในการ นำไปปฏิบัติและทำให้เป้าหมายต่างๆ ที่วางไว้เกิดเป็นผลลัพธ์ตามที่ประกาศเป็นนโยบายทั้งนี้ความสำคัญของนโยบายนี้คือการวางรากฐานระยะยาว 20 ปี ของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บริการ กำลังคน รวมไปถึงความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศ

และทั้งหมดคือยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ปฏิรูปประเทศไทยสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ 

 

รายงาน โดย ทีมข่าวไอที

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3465 ระหว่างวันที่ 28 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2562

ผ่าแผน 20ปี ดิจิทัลไทยแลนด์ ปั้นมนุษย์ไอที