โยนฟืนเข้ากองฟาง กระตุ้นเศรษฐกิจ

27 เม.ย. 2562 | 06:00 น.

กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กระทรวงการคลังโยนหินถามทางออกมา โดยเฉพาะการขอ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น หรือที่เรียกสั้นๆ ว่างบฉุกเฉิน 15,000 ล้านบาท มาใช้สำหรับส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ด้วยการแจกเงินให้ประชาชน 10 ล้านคนไปใช้ซื้อสินค้าคนละ 1,500 บาท และดูเหมือนว่ามาตรการนี้จะสร้างความอึดอัดใจให้กับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก รัฐมนตรี เป็นอย่างมาก

สะท้อนจากคำให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ระบุว่า “ที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะมีมาตรการต่างๆ ออกมาช่วงนี้นั้น ขอบอกว่ายังเป็นเพียงการศึกษาและปรึกษาหารือกัน ของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพียงแต่วันนี้ข่าวออกมาก่อน โดยเฉพาะในเรื่องของการท่องเที่ยวเมืองรอง สื่ออย่ามาถาม มันยังไม่มีข้อสรุปอะไรออกมาเลย บางทีเป็นเรื่องแค่การหารือกันเพื่อหาข้อสรุปให้ได้ ยืนยันว่ายังไม่ได้ข้อยุติ เพราะมีหลายอย่างเกี่ยวข้องไม่ใช่ให้เงินแล้วจบ ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่เกี่ยวข้องเช่นเรื่องของภาษี ซึ่งคณะกรรมการกำลังพิจารณาอยู่ ขอร้องทุกคนอย่าเพิ่งตื่นตระหนก”

โยนฟืนเข้ากองฟาง  กระตุ้นเศรษฐกิจ

แม้พล.อ.ประยุทธ์ พยายามชี้แจงว่ารัฐบาลมีความจำเป็นต้องหามาตรการเพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายภายในประเทศให้ได้มากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เพราะถ้ามีปัญหา ผลกระทบจะตกไปอยู่ที่ประชาชน รัฐบาลจึงต้องหามาตรการที่เหมาะสม แต่ต้องระมัดระวังในข้อกฎหมายทุกประการ โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณ รัฐบาลนี้ระมัดระวังอย่างเต็มที่ ทำงานทุกอย่างด้วยความรอบคอบ เพื่อไม่ให้เป็นภาระรัฐบาลต่อๆ ไป เหมือนกับที่ปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้นมาก่อนรัฐบาลนี้

ถึงตรงนี้คงพอจะเห็นภาพแล้วว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้นายกฯ อึดอัดกับข้อเสนอของกระทรวงการคลังที่ออกมาโยนหินถามทาง เพราะเป็นกังวลเรื่องข้อกฎหมายการใช้จ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะงบฉุกเฉินที่กระทรวงการคลังขอใช้ตามกฎหมายกำหนด ให้เป็นอำนาจการอนุมัติของนายกฯ ซึ่งในปีงบประมาณ 2562 มีวงเงิน 99,000 ล้านบาท แม้ว่ายังมีงบเหลืออยู่ แต่ต้องไม่ลืมว่างบก้อนนี้เป็นงบที่ตั้งสำรองไว้สำหรับแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วน

ยิ่งเมื่อพลิกระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2560 ที่กำหนดหลักกเกณฑ์การขอใช้งบฉุกเฉิน เพื่อให้การใช้จ่ายงบมีประสิทธิภาพ โปร่งใส คุ้มค่า เป็นประโยชน์ต่อการ บริหารราชการแผ่นดิน และรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ พบว่าการขอรับจัดสรรงบก้อนนี้มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายงบที่เข้าหลักเกณฑ์ 1 ใน 5 ด้าน ประกอบด้วย

โยนฟืนเข้ากองฟาง  กระตุ้นเศรษฐกิจ

1. เป็นรายจ่ายที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว แต่มีจำนวนไม่เพียงพอและมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันโดยเร็ว

2. เป็นรายจ่ายที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่น ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณแต่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันโดยเร็ว หากไม่ดำเนินการจะเกิดความเสียหายแก่ทางราชการ

3. เป็นรายจ่ายที่ต้องจ่ายตามกฎหมายหรือข้อผูกพันกับรัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ หรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ

4. เป็นรายจ่ายที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพัน และได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีแล้ว

5. เป็นรายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อป้องกันหรือแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติสาธารณะ หรือเพื่อช่วยบรรเทาความเสียหายตามหลักมนุษยธรรม

ถ้าดูจากหลักเกณฑ์ทั้ง 5 ข้อ มีอยู่ 2 ข้อที่เปิดช่องให้กระทรวงการคลังสามารถดึงงบฉุกเฉินที่อยู่ในมือนายกฯมาใช้พยุงเศรษฐกิจ คือ ข้อ 2 และข้อ 4 และแน่นอนว่าเหตุผลที่กระ ทรวงการคลังจะเป็นข้ออ้างคงหนีไม่พ้น การอาศัยตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคที่มีสัญญาณการเติบโตที่ชะลอตัวลง ในไตรมาสที่ 1 ที่คาดว่าจะขยายตัวระดับ 3% บวกลบเล็กน้อย หากไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในระยะยาว แต่งบประมาณรายจ่ายปี 2562 ที่กระทรวงต่างๆ ได้รับมีอยู่อย่างจำกัด อีกทั้งงบประมาณส่วนใหญ่ก็มีภาระผูกพันเกือบหมดแล้ว จึงจำเป็นต้องดึงงบฉุกเฉินที่อยู่ในมือนายกฯมาใช้

สอดรับกับคำให้สัมภาษณ์ของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้ระบุว่า เศรษฐกิจไตรมาส 1-2 ของปีนี้มีสัญญาณชะลอตัว เพราะเศรษฐกิจโลกไม่ดี และมีความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ จนกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน ทำให้รัฐบาลต้องหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อออกมาตรการด้านการบริโภค การท่องเที่ยว ภาคอสังหาริมทรัพย์ มาช่วยพยุงเศรษฐกิจ ก่อนที่เปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหาร

อย่างไรก็ตามถ้าดูจากแนวคิดของกระทรวงการคลังที่มีเป้าหมายอัดฉีดงบฉุกเฉินเข้ากระเป๋าประชาชน 10 ล้านคน คนละ 1,500 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ต้องยอมรับว่าผลระยะสั้นของมาตรการจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนได้ในระดับหนึ่ง แต่คงเป็นแบบไฟไหม้ฟาง คือไม่ได้ก่อให้เกิดความยั่งยืนในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นมาตรการที่มุ่งหวังกระตุ้นการบริโภคและการใช้จ่ายของประชาชน ในทางกลับกันก็ยิ่งจะทำให้งบฉุกเฉินที่เปรียบเสมือนไม้ฟื้น สำหรับแก้ปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ยิ่งร่อยหรอลง

การออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจครั้งนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการประเมินอย่างรอบคอบ เพื่อให้งบฉุกเฉินที่มีอยู่เพียงพอที่จะนำไปใช้สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่กำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และปัญหานํ้าท่วมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะต้องไม่ลืมว่ายังมีเวลาเหลืออีก 6 เดือนจึงจะสิ้นสุดปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลต้องไม่ให้มาตรการพยุงเศรษฐกิจที่ออกมาเป็นเหมือนการโยนไม้ฟื้นเข้ากองฟาง ที่ทำให้เกิดไฟลุกวูบ โหมไหม้อย่างรุนแรง เพียงชั่ววูบ สุดท้ายเมื่อหมดเชื้อฟางกลับเหลือแต่เถ้าถ่านที่พร้อมปลิวไปกับกระแสลม 

ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3465 ระหว่างวันที่ 28 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2562

โยนฟืนเข้ากองฟาง  กระตุ้นเศรษฐกิจ