ตั้งเป้าปั้น"เมืองอัจฉริยะ"100พื้นที่ใน76จังหวัดภายใน2565

25 เม.ย. 2562 | 10:39 น.
 
บอร์ดเมืองอัจฉริยะ รับทราบแผนขับเคลื่อน 3 ขั้น ตั้งเป้าให้บริการเมืองอัจฉริยะ 100พื้นที่ทุกจังหวัดภายใน 2565 พร้อมขยายความร่วมมือสู่เพื่อนสมาชิกกลุ่มอาเซียน
 
ตั้งเป้าปั้น"เมืองอัจฉริยะ"100พื้นที่ใน76จังหวัดภายใน2565
วันนี้ (25 เม.ย.2562) เมื่อเวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ครั้งที่ 2/2562 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
 
 
ที่ประชุมรับทราบการจัดทำรายงานผลการดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ปี 2561 ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญ โดยถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน ในปี 2561 ที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่  การแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยมีพล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รวมทั้งมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจ สังคม และโทรคมนาคม เป็นกรรมการ  การกำหนดนิยามเมืองอัจฉริยะประเทศไทย โดยประเภทของเมืองอัจฉริยะ มี 2 ประเภท คือ เมืองเดิม และเมืองใหม่ ซึ่งลักษณะของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ มี 7 ด้าน ประกอบด้วย (1) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) (2) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) (3) ขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) (4) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) (5) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) (6) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) และ (7) การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)
 
 
รวมทั้ง การจัดทำแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทย โดยกำหนดเป้าหมายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ได้แก่ ปีที่ 1 พ.ศ. 2561 พัฒนาเมืองอัจฉริยะ 10 พื้นที่ใน 7 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ขอนแก่น เชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร ปีที่ 2 (พ.ศ. 2562 – 2563) พัฒนาเมืองอัจฉริยะ 30 พื้นที่ ใน 24 จังหวัด อาทิ  เชียงราย พิษณุโลก น่าน อุบลราชธานี อุดรธานี หนองคาย นครพนม มุกดาหาร กระบี่ พังงา สงขลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล นครศรีธรรมราช และระนอง และปีที่ 3 – 5 (พ.ศ. 2563 – 2565) ขยายเมืองอัจฉริยะผ่านการรับสมัครเมืองอัจฉริยะ และคาดว่าจะครอบคลุมการให้บริการเมืองอัจฉริยะ และระบบ City Data Platform 100 พื้นที่ใน 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ตลอดจนการกำหนดเกณฑ์การประเมินเมืองอัจฉริยะและรับสมัครเมืองเพื่อเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะประเทศไทย และการออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนในเมืองอัจฉริยะผ่านกลไกสิทธิประโยชน์ทางภาษี ไปจนถึงการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะสู่อาเซียน 
 
 
พร้อมกันนี้ที่ประชุมรับทราบการดำเนินงานของสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย (Smart City Thailand Office) ซึ่งเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะได้มีมติเห็นชอบในหลักการในการจัดตั้งสำนักงานเมืองอัจฉริยะฯ ขึ้น ณ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) อาคารลาดพร้าว โดยขณะนี้สำนักงานฯ ได้มีการจัดทำเว็บไซต์ เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูล และการเปิดรับข้อเสนอที่ www.smartcitythailand.or.th/  รวมทั้งได้จัดทำคู่มือการจัดทำแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย และใช้เป็นแนวทางในการจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการพิจารณาการเป็นเมืองอัจฉริยะ อีกทั้งมีแผนการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อเผยแพร่และสร้างความเข้าใจเรื่องการขอรับการพิจารณาประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City Thailand Roadshow) โดยการประชาสัมพันธ์ภายใต้กิจกรรม “สมาร์ทซิตี้ไทยแลนด์โรดโชว์” พร้อมเผยแพร่แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ทั้งภายในประเทศ และในภูมิภาคอาเซียนด้วย
 

 

นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการพิจารณาการเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานข้อริเริ่มความร่วมมือด้านเมืองอัจฉริยะในกรอบอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network: ASCN) และปฏิทินกรอบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย 1) การจัดงาน ASEAN Smart Cities Network (ASCN) Workshop ระหว่างวันที่ 6 – 7 มิถุนายน 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา จัดร่วมกับงาน ASEAN sustainable energy week เพื่อนเสนอแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ตาม ASCN Framework ข้อ sustainable Environment  และ 2) ASEAN Smart Cities Network C&E 2019 “Advancing Partnership for Sustainability” ระหว่างวันที่ 22 – 24 สิงหาคม 2562 เพื่อดำเนินการประชุม ASCN Annual Meeting และหารือความคืบหน้าตามแผนปฏิบัติการของแต่ละเมือง ริเริ่มโครงการใหม่ที่สามารถดำเนินการร่วมกับบริษัทผู้ให้บริการ แนวทางพัฒนาเมืองจากภาคเอกชนที่มีความเป็นไปได้ และสำรวจโอกาสใหม่ ๆ ที่จะนำภาคีภายนอกอาเซียนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนี้ ผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุม ASCN ทั้ง 2 ครั้ง จะนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ต่อไป พร้อมทั้งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) เอกสารที่สมาชิก ASCN จะพิจารณาให้การรับรอง จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ASCN Terms of Reference และ ASCN Monitoring and Evaluation

ตั้งเป้าปั้น"เมืองอัจฉริยะ"100พื้นที่ใน76จังหวัดภายใน2565