กระตุ้นอสังหา พยุงเศรษฐกิจได้จริงหรือ  

25 เม.ย. 2562 | 07:47 น.

 

 

          จากสัญญาณเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตลดลง ทำให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ รัฐบาล คสช. เตรียมเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ซึ่งแน่นอนว่ามีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์รวมอยู่ด้วย เพราะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมากมาย ไม่ว่าวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า แรงงาน รวมถึงด้านการเงิน

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยธุรกิจอสังหาฯ มาแล้ว 3 ครั้ง

มีนาคม 2551 ยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กระทรวงการคลังเสนอปรับลดภาษีธุรกิจเฉพาะ จากเดิมที่กำหนดไว้อัตรา 3.3% เหลือ 0.1% ลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการโอนและการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ ทั้งบ้านเดี่ยวบ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์ ห้องชุด อาคารสำนักงานจาก 2% เหลือ 0.01%

กันยายน 2554  รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกนโยบายบ้านหลังแรก ที่ให้นำค่าใช้จ่ายจากการซื้อบ้านมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อบ้านไปคำนวณหักลดหย่อนภาษีได้ปีละ 100,000 บาท ในระยะยเวลา 5 ปี รวมเป็นเงิน 500,000 บาท

ตุลาคม 2558  รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข็นมาตรการ ลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจำนองจาก 1% มาอยู่ที่ 0.01% มีผลบังคับใช้ถึง 30 เมษายน 2559 ทั้งยังให้สิทธิผู้ที่ซื้อบ้านในราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ให้สามารถนำเอา 20% ของมูลค่าบ้านที่ซื้อไปหักภาษีบุคคลธรรมดาได้เป็นเวลา 5 ปี เพื่อช่วยเหลือคนที่มีรายได้น้อย ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559

ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่จะออกมาอีกรอบในเร็วๆนี้ สำหรับธุรกิจอสังหาฯ ก็คงจะคล้ายคลึงมาตรเดิมที่เคยใช้ นั่นคือ ลดภาษีค่าธรรมเนียมการโอน การจดจำนอง ซึ่งสามารถสั่งการหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการได้

ส่วนยากระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่จะออกฤทธิ์แรงหรือไม่ ก็ต้องรอดูยาชุดที่รองนายกฯสมคิด สั่งจ่ายมีส่วนประกอบอะไรบ้าง เพราะสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ หลังวันที่ 1 เมษายน 2562 ค่อนข้างซึมจากมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้ผู้กู้ซื้อบ้านได้สินเชื่อเพียง 80% ไม่ได้เต็ม 100% เช่นปีก่อนๆอีกแล้ว พร้อมกับต้องวางเงินดาวน์ 10% -20%-30% ขึ้นกับว่าเป็นหลังแรกหรือหลังที่ 2,3

กระตุ้นอสังหา พยุงเศรษฐกิจได้จริงหรือ  

ผลพวงจากความร้อนแรงในปี 2561 ซึ่งมีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่จำนวน 118,271 หน่วย มูลค่าโครงการรวม 538,767 ล้านบาท โดยจำนวนหน่วยเพิ่มขึ้นเกือบ 4% ขณะมูลค่าโครงการปรับเพิ่มถึง 10%  แบ่งเป็นบ้านจัดสรร จำนวน 45,063 หน่วย มูลค่าโครงการ  217,811 ล้านบาท และคอนโดมิเนียมจำนวน 73,208 หน่วย มูลค่าโครงการ 320,956 ล้านบาท ถือว่าร้อนแรงจริง เฉพาะอย่างยิ่งคอนโดมิเนียมทุบสถิติในรอบ 10 ปีทีเดียว

จากข้อมูลฝ่ายวิจัยคอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย คาดการณ์ภาพรวมอุปทานที่อยู่ที่สร้างเสร็จระหว่างการขายส่วนของตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล หลังวันที่ 1  เมษายน 2562 ในส่วนของบ้านจัดสรร มีอุปทานที่เหลือขาย 56,926 ยูนิต มูลค่าประมาณ 241,868 ล้านบาท จากทั้งหมด 107,996 ยูนิต มูลค่าประมาณ 420,683 ล้านบาท ส่วนคอนโดมิเนียม มีหน่วยเหลือขาย 45,730 ยูนิต มูลค่าประมาณ 133,074 ล้านบาท จากหน่วยที่อยู่ระหว่างการขาย 134,909 ยูนิต มูลค่าประมาณ 403,261 ล้านบาท รวมกันแล้วยังมีที่อยู่อาศัยที่เหลือขายอีกกว่า 100,000 ยูนิต

รวมกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ยังกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากต่อผู้ประกอบการ ในการระบายสต็อคคงค้างเหล่านี้ !!!

กระตุ้นอสังหา พยุงเศรษฐกิจได้จริงหรือ