พาณิชย์แนะใช้สิทธิ FTA เจาะตลาดเกาหลี หลังสินค้า 12,000 รายการภาษี 0%

25 เม.ย. 2562 | 08:09 น.

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกาหลีได้ยกเลิกภาษีนำเข้าแก่สินค้าไทย โดยเก็บในอัตรา 0% มีสินค้ากว่า 90% ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมดเกือบ 12,000 รายการ ครอบคลุมสินค้าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประมง(กุ้ง ปลาหมึกแช่เย็น แช่แข็ง ปรุงแต่ง) ผลไม้ (ฝรั่ง มะม่วง มังคุด) ยางธรรมชาติ ยางรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยควรจะใช้โอกาสจากความได้เปรียบจากการที่สินค้าไทยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าขยายตลาดส่งออกสินค้าไปยังเกาหลีเพิ่มมากขึ้น

แม้เกาหลีจะไม่ใช่ตลาดส่งออกหลักอันดับต้นๆ ของไทย เช่น อาเซียน จีน หรือสหรัฐฯ แต่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรละเลยหรือมองข้ามตลาดเกาหลี เนื่องจากเกาหลีมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง มีเสถียรภาพและกำลังซื้อสูง และยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารเพื่อการบริโภคสูง จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทยที่จะขยายตลาดส่งออกเข้าสู่เกาหลีโดยใช้สิทธิพิเศษที่ได้รับภายใต้ FTA เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี หรือ AKFTA ในปี 2561 มีมูลค่า 3,045 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 20.02% โดยมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ที่ 87.19% ของการได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งหมด โดยสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำตาลจากอ้อย แผ่นไม้อัดพาร์ติเคิลบอร์ด น้ำมันปิโตรเลียม ยางธรรมชาติ และเครื่องปรับอากาศแบบติดผนัง ซึ่งการใช้สิทธิยังไม่เต็มจำนวนที่ได้รับ และบางสินค้ายังมีการใช้สิทธิน้อย

นายอดุลย์กล่าวว่า การขอรับสิทธิในการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้าเมื่อส่งออกสินค้าไปเกาหลี ผู้ประกอบการจะต้องแสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี หรือ Form AK ต่อศุลกากรเกาหลี เพื่อยืนยันว่าสินค้าส่งออกดังกล่าวมีคุณสมบัติถิ่นกำเนิดสินค้าไทยตามเงื่อนไขถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลง AKFTA โดยสามารถขอรับหนังสือรับรอง Form AK ได้ที่กรมฯ

สำหรับสินค้าที่ถือว่าเข้าข่ายสินค้าที่มีคุณสมบัติถิ่นกำเนิดสินค้าไทย คือ สินค้าที่ผลิตขึ้นหรือได้มาทั้งหมดภายในประเทศไทย (WO) หรือสินค้าที่มีการแปรสภาพอย่างเพียงพอในประเทศไทย โดยหลักเกณฑ์ที่ใช้สำหรับพิจารณาว่าสินค้ามีการแปรสภาพอย่างเพียงพอในประเทศไทยหรือไม่นั้น ประกอบด้วย 1.มีสัดส่วนวัตถุดิบภายในภูมิภาคไม่น้อยกว่า 40% ของมูลค่าราคา FOB หรือ 2.กระบวนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศส่งผลให้วัตถุดิบนำเข้าเกิดการเปลี่ยนพิกัดศุลกากรในระดับ 4 หลัก ทั้งนี้ หากรายการสินค้าใดปรากฏในตารางกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า  สินค้านั้นจะถือว่ามีการแปรสภาพอย่างเพียงพอในประเทศไทยก็ต่อเมื่อสินค้านั้นเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้เป็นการเฉพาะในแต่ละรายการสินค้า