ปรับเกณฑ์ภาษีดอกฝากไม่แสดงตนถือว่ายินยอมส่งข้อมูล

24 เม.ย. 2562 | 07:05 น.

กรมสรรพากร ยอมผ่อนเกณฑ์ เก็บภาษีรายได้ดอกเบี้ยออมทรัพย์ 15% ไม่มาแสดงตนต่อธนาคาร ภายใน 15 พ.ค. ถือว่ายินยอมส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร มั่นใจกระทบคนหลักหมื่น แต่ไม่รวมทั้งหมด ยันไม่เลื่อนบังคับใช้แน่ จ่อแก้ไขประกาศให้ทันสัปดาห์หน้า

จากประกาศกรมสรรพากร (ฉบับที่ 344) ลงวันที่ 4 เมษายน 2562 ที่เปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากดอกเบี้ยเงินฝากบัญชีออมทรัพย์ จากเดิมผู้ฝากเงินมีหน้าที่แจ้งให้ธนาคารทราบเมื่อได้รับดอกเบี้ยทุกบัญชีรวมกันเกิน 20,000 บาท เพื่อให้ธนาคารหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% นำส่งกรมสรรพากร เป็นผู้ฝากเงินแจ้งต่อธนาคารว่า ยินยอมให้ธนาคารนำส่ง ข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากต่อกรมสรรพากร จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อประชาชนทั่วไป ที่แม้ไม่เข้าข่ายต้องเสียภาษี แต่หากไม่มาเซ็นยินยอมจะถูกธนาคารหักภาษีไว้ทันทีเมื่อมีการจ่ายดอกเบี้ยนับตั้งแต่บาทแรก และขอคืนได้ในภายหลัง

ทั้งนี้ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2562 พบว่าเงินฝากออกทรัพย์ที่มียอดน้อยกว่า 5 หมื่นบาท มี 76 ล้านบัญชี คิดเป็น 89% ของบัญชีออมทรัพย์ทั้งหมด  มียอดเงินฝากรวม 6 พันบาท ได้รับดอกเบี้ย 30 บาท โดยคำนวณดอกเบี้ยที่ 0.5% ต่อปี จะเสียภาษี 5 บาท ขณะที่บัญชีที่มีเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาท มี 5 แสนบัญชี คิดเป็น 0.6% มีเงินฝากรวม 3 ล้านบาท จะได้รับดอกเบี้ย 15,000 บาทและจะถูกหักภาษี 2,250 บาท    

จากประเด็นร้อนดังกล่าว กรมสรรพากรได้หารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อหารือรายละเอียดในทางปฏิบัติ เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนจำนวนมาก โดยนายปิ่นสาย สุรัสวดี ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากรเปิดเผยว่า การส่งข้อมูลของธนาคารติดกฎหมายบางฉบับที่ผู้เสียภาษีจะต้องยินยอมก่อน แต่หลังจากการประชุมได้เลือกวิธีที่ยืดหยุ่นที่สุดคือ ให้รูปแบบหนังสือเซ็นยินยอม(Consent)เขียนกลับข้าง  คือคนที่ไม่ต้องการให้ส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรจะต้องแสดงตัวต่อธนาคาร แต่หาก ไม่แสดงตัว จะถือว่ายินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูล ซึ่งกรมสรรพากรจะแก้ไขปรับปรุงประกาศภายในสัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้า เพื่อให้ ทันกรอบเวลากำหนดที่ให้ Consent ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2562

“การทำ Consent กลับข้าง น่าจะเป็นทางออกที่ยืดหยุ่น  จะไม่ กระทบผู้ฝากเงินที่มีรายได้จากดอก เบี้ยไม่เกิน 2 หมื่นบาทที่มีอยู่ 99% ส่วนคนที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีมีเพียง หลักหมื่นเท่านั้น ซึ่งประกาศนี้จะทำให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพและเป็นระบบมากขึ้น โดยปัจจุบันเก็บภาษีีจากรายได้ดอกเบี้ยไม่ถึง 1,000 ล้านบาทต่อปี” 

นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการ สมาคมธนาคารไทย (TBA) กล่าวว่า สมาคมได้หารือเพิ่มเติมกับกรม สรรพากร เป็นเรื่องการทำ Consent ที่จะต้องทำในเวลาอันสั้น เมื่อเทียบ กับจำนวนฐานลูกค้าเงินฝากของระบบทีี่มีมากกว่า 80 ล้านบัญชี จะไม่สามารถทำได้ครอบคลุมทั้งหมด โดยกรมสรรพากรจะนำแนวทางต่างๆ ไปพิจารณาเป็นการภายในและตัดสินใจอีกครั้ง 

แหล่งข่าวจากคณะทำงานระบุว่า ที่เสนอไปมี 2-3 แนวทางคือ 1.ทำตามประกาศฉบับ 344  แต่ให้มี Consent กลาง ได้หรือไม่ 2.ไม่มี Consent เลย เพราะปีหน้าจะมีพ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลเข้ามา ลูกค้าต้องกลับมา Consent ใหม่  และ 3.การ Consent แยกตาม กลุ่มลูกค้า ลูกค้าที่มีรายได้ดอก เบี้ยไม่ถึงเกณฑ์ ก็ไม่ต้อง Consent จะช่วยลดผลกระทบได้ 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,464 วันที่ 25-27 เมษายน 2562

                            ปรับเกณฑ์ภาษีดอกฝากไม่แสดงตนถือว่ายินยอมส่งข้อมูล