"ลัมโบร์กินี"ดันเป้ารายได้"ชาริช"ทะลุ2,000ล้านบาท

24 เม.ย. 2562 | 08:20 น.

ชาริช โฮลดิ้ง ประกาศเป้าหมายปี 62 ฟันรายได้ 2 พันล้านบาท หลังลูกค้าซูเปอร์คาร์แห่จองแบรนด์ลัมโบร์กินี มั่นใจสิ้นปีทำยอดขายกว่า 40 คัน ด้านแผนนำเข้ารถเก๋งบีวายดี คาดว่าต้องชะลอออกไป เพราะรอความพร้อมจากจีน

นายอภิชาติ ลีนุตพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชาริช โฮลดิ้ง จำกัด ผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของแบรนด์ ลัมโบร์กินี, ดูคาติ,รอยัล เอนฟิลด์, นิว (NIU) รถสกูตเตอร์ไฟฟ้า 100%, ไอโรบอต หุ่นยนต์ดูดฝุ่น, บีวายดี รถยนต์ไฟฟ้าและโรงงานผลิตแบตเตอรี่, RevoZport และ Unplugged Performance สำนักแต่งรถเทสลาแห่งเดียวในประเทศไทย เปิดเผยว่าเป้าหมายรายได้ของปี 2562 คาดว่าจะทำได้กว่า 2,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่ทำได้ 1,250 ล้านบาท

สำหรับเป้าหมายที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการตอบรับที่ดีของแบรนด์ลัมโบร์กินีภายใต้การบริหารงานของบริษัทเรนาสโซ มอเตอร์ จำกัด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้เปิดตัวรถรุ่นใหม่ออกสู่ตลาดล่าสุดคือ ฮูราแคน อีโว ที่ได้โควตาจำนวน 18 คัน โดยบริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายของลัมโบร์กินีในปีนี้ 40 คัน แบ่งออกเป็นในกลุ่มเครื่องยนต์ วี 8 จำนวน 40%, วี 10 จำนวน 40% และ วี 12 จำนวน 20 %

"ลัมโบร์กินี"ดันเป้ารายได้"ชาริช"ทะลุ2,000ล้านบาท

“ช่วงแรกของการทำตลาดลัมโบร์กินี เราไม่เน้นขาย แต่จะเน้นบริการหลังการขายเป็นหลัก ปัจจุบันมีรถจากผู้นำเข้าอิสระมาเข้ารับบริการจากเราประมาณ 40% ซึ่งเราไม่มีการเก็บค่าฟีหรือค่าธรรมเนียมแรกเข้า แต่ความแตกต่างระหว่างรถที่ซื้อกับเราแล้วนำมาเข้ารับบริการหลังการขายจะได้ส่วนลดค่าแรงค่าอะไหล่ที่มากกว่ารถของผู้นำเข้าอิสระ”

นายอภิชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนงานด้านโปรดักต์ของลัมโบร์กินี จะเปิดตัวเร็วขึ้น ดังจะเห็นจากรุ่นฮูราแคน อีโว ที่เพิ่งเปิดในตลาดโลกไม่นาน หลังจากนั้นก็นำมาเปิดในไทย ขณะที่กลยุทธ์ส่วนอื่นๆได้จัดตั้งคลับอย่างเป็นทางการของลัมโบร์กินี ที่มีสมาชิกประมาณ 90 คัน โดยจะจัดกิจกรรมทุกเดือน ส่วนจำนวนประชากรลัมโบร์กินีในประเทศ ไทยนั้นเบื้องต้นประเมินว่าอยู่ที่ 250 -300 คัน

“ภาพรวมของตลาดซูเปอร์คาร์ที่มีราคาตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไปในปีนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับว่าค่ายไหนมีรถรุ่นใหม่เข้ามา และทำตลาดได้ดี โดยคาดว่าตัวเลขการขายรวมของกลุ่มนี้จะอยู่ที่ 150 คัน”

ขณะที่แผนงานเกี่ยวกับแบรนด์อื่นๆอาจจะมีการปรับตัว ได้แก่ รอยัล เอนฟิลด์ จากเดิมที่เป็นผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ จะปรับเป็นดีลเลอร์ เนื่องจากบริษัทแม่เข้ามาลงทุนพร้อมทั้งเตรียมประกอบรถในประเทศไทย

“การปรับเป็นดีลเลอร์ของรอยัล เอนฟิลด์ เป็นไปตามข้อตกลงที่ได้ทำตั้งแต่แรกกับบริษัทแม่ ซึ่งหลังจากนี้เราปรับเป็นเมกะดีลเลอร์ ปัจจุบันเรามีโชว์รูมและศูนย์บริการสาขาวิภาวดีฯ, ทองหล่อ ,เชียงใหม่ และคาดว่าจะขยายเพิ่มอีก 1 แห่ง”

ส่วนการดำเนินงานบีวายดี อยู่ในระหว่างการส่งมอบ รถบีวายดี รุ่นอี 6 ให้กับบริษัทอีวี โซไซตี้ จำกัด หรือแท็กซี่วีไอพี รวมไปถึงการมองหาพันธมิตรใหม่ๆอาทิโรงแรม ,บริษัทรถเช่า,บริษัทขนส่ง ขณะที่การรุกเจาะตลาดแมสนั้นยังต้องสร้างการรับรู้,ความเข้าใจเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงราคาจำหน่ายที่สูง เพราะราคาแบตเตอรี่ยังแพง ซึ่งจากเหตุผลดังกล่าวทำให้แผนการเปิดตัวรถยนต์นั่งรุ่นต่างๆต้องชะลอตัวออกไป

“รถยนต์นั่งที่ทำตลาดเป็นปลั๊ก -อิน ไฮบริด และยังไม่มีพวงมาลัยขวา ดังนั้นแผนงานทุกอย่างจึงล่าช้าออกไป เช่นเดียวกับรถมินิบัส ก็มีราคาที่สูง ทำให้การตอบรับของแบรนด์นี้ยังทรงตัวอยู่ ซึ่งเรามองว่าต้องรอดูจังหวะและเวลาที่เหมาะสมอีกทีสำหรับ
แบรนด์บีวายดี”

ด้านการตอบรับของแบรนด์อื่นๆอย่าง ชุดแต่งเทสลา มีกลุ่มลูกค้าเข้ามาสั่งประมาณ 10 คัน 

 

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,464 วันที่ 25-27 เมษายน 2562

                            "ลัมโบร์กินี"ดันเป้ารายได้"ชาริช"ทะลุ2,000ล้านบาท