TGรื้อระบบจัดหาเครื่องบิน, ยึดROAเพิ่มศักยภาพการจัดการทรัพย์สินดันรายได้เพิ่ม

24 เม.ย. 2562 | 02:50 น.

            ดีดีบินไทย เล็งรื้อระบบวิธีการจัดหาเครื่องบินครั้งใหญ่ โฟกัสผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ และการเพิ่มรายได้มาใช้ในการซื้อและปลดระวาง เพิ่มศักยภาพการจัดการทรัพย์สินภายใน ไม่จำเป็นต้องรอ 20 ปี

 

          นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อยู่ระหว่างรื้อระบบวิธีการจัดหาเครื่องบินของการบินไทยใหม่ครั้งใหญ่ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3-4 เดือนจากนี้ โดยจะนำความรู้ทางด้านการเงินที่มี มาใช้ในการปรับระบบให้เกิดการจัดหาเครื่องบินอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มศักยภาพในการจัดการทรัพย์สินภายในของบริษัทให้เกิดประโยชน์สูงสุด

TGรื้อระบบจัดหาเครื่องบิน, ยึดROAเพิ่มศักยภาพการจัดการทรัพย์สินดันรายได้เพิ่ม

สุเมธ ดำรงชัยธรรม

          การจัดหาเครื่องบินของการบินไทย จะต้องพิจารณาเรื่อง ROA (Return on Assets) หรือผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ และให้ความสำคัญกับการเพิ่มรายได้ของบริษัท ดังนั้นต่อไปเครื่องบินที่การบินไทยจะนำเข้ามาใหม่หรือจะนำออกไปจากฝูงบิน จะต้องพิจารณาเรื่องของประสิทธิภาพ รวดเร็ว เหมาะสมกับราคา และสถานการณ์ ซึ่งทุกอย่างเป็นทรัพย์สิน ถ้าจำเป็นต้องมีหรือนำออก ก็ต้องทำให้เร็ว ทำให้เหมือนเป็นเรื่องปกติ จะทำทุกปีก็ได้ ถ้าเห็นว่าเหมาะสม

          ส่วนจะเช่า หรือจะซื้อ หรือจะใช้วิธีใดก็ตาม เราต้องมีทุกวิธีในมือ ที่จะนำมาใช้เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในต้นทุนที่เหมาะสม และเวลาที่เหมาะ และไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องบินรุ่นใหม่เท่านั้น ซึ่งก็จะทำให้การบินไทยมีเครื่องบินที่มีศักยภาพเพื่อนำมาใช้งานได้อย่างสมํ่าเสมอ

        ไม่ใช่ต้องรอถึง 20 ปีแล้วค่อยปลดระวางเครื่องบิน ทำให้มีภาระทั้งเรื่องซ่อมบำรุง และต้นทุนนํ้ามัน หรือ ไม่ใช่ 5 ปีหรือ 8 ปีถึงจะซื้อเครื่องบินที ซื้อราคาก็แพง กว่าจะรับมอบเครื่องบินก็ใช้เวลานาน ก็จะเห็นบ่อยๆ ว่าดีดีที่อยู่ในช่วงสั่งซื้อเครื่องบิน ก็ไม่ได้มีโอกาสรับมอบเครื่องบิน แต่กลายเป็นดีดีคนต่อไปกลับมารับมอบเครื่องบินแทน ในโลกนี้ไม่มีสายการบินใดเขาทำกันแบบนี้ ซึ่งเราก็ควรปรับให้เป็นเหมือนที่สายการบินทั่วโลกเขาทำกัน

       สำหรับการจัดหาฝูงบินของการบินไทย หลังผ่านการเห็นชอบตามแผนจัดซื้อเครื่องบิน 38 ลำ วงเงิน 156,000 ล้านบาท ก็รอที่จะเข้าครม.พิจารณาต่อไป ซึ่งการบินไทยจะแบ่งการจัดหาเครื่องบินออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ 1.แผนจัดหาเครื่องบินในระยะแรก 25 ลำ และ 2. แผนจัดหาเครื่องบินระยะที่สอง 13 ลำ

        ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องบินลำตัวแคบ เพื่อนำมาใช้ทดแทนเครื่องบินเก่าที่จะปลดระวาง 31 ลำ และเป็นเครื่องบินลำใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในฝูงบินเพียง 7 ลำ การจัดซื้อเครื่องบินในเฟสแรก จะใช้เวลาราว 6 เดือนในการจัดหาเครื่องบิน หลังจากครม.อนุมัติแผนดังกล่าว ซึ่งการบินไทยจะเลือกเครื่องบินรุ่นที่เหมาะสม และจะทยอยรับมอบได้ในอีก 2 ปี การจัดหาฝูงบินใหม่ที่เกิดขึ้น จะทำให้การบินไทยมีภาพลักษณ์ด้านการบริการที่ดีขึ้น เพราะเป็น การแก้ปัญหาเรื่องของฝูงบินที่การบินไทยมีเครื่องบินเก่าไม่ทันสมัย ทำให้มีปัญหาในการปฏิบัติการบิน การหมุนเวียนเครื่องบินที่ไม่เหมาะสม ค่าซ่อมบำรุงที่เพิ่มสูง

 

  TGรื้อระบบจัดหาเครื่องบิน, ยึดROAเพิ่มศักยภาพการจัดการทรัพย์สินดันรายได้เพิ่ม

         อีกทั้งการบินไทยยังอยู่ระหว่างลดผลกระทบทางการเงินในเรื่องของความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงเรื่องของราคานํ้ามัน ทำให้การ บินไทยมีกำไรที่ชัดเจน ควบคู่ไปกับการเพิ่มรายได้จากการขาย โดยมีแผนจะเช่าเครื่องบินระยะสั้น 2-3 ลำ มาให้บริการเพิ่ม การเพิ่มรายได้จากบริการเกี่ยวเนื่อง เช่น ครัวการบิน การทำเรื่องของอี-คอมเมิร์ซ ระหว่างรอรายได้จากการลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) สนามบินอู่ตะเภาที่ต้องใช้เวลาอีกกว่า 2 ปี และการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน

TGรื้อระบบจัดหาเครื่องบิน, ยึดROAเพิ่มศักยภาพการจัดการทรัพย์สินดันรายได้เพิ่ม

รวมถึงการบินไทยเตรียมขออนุมัติผู้ถือหุ้นในเดือนเมษายน 2562 ที่จะอนุมัติตัดภาระขาดทุนสะสม ซึ่งจะไม่กระทบมูลค่าส่วนผู้ถือหุ้น โดยใช้สำรองตามกฎหมาย ซึ่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 การบินไทยมีขาดทุนสะสมอยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกันยังเน้นการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของเครื่องบิน เราจะไม่ได้มองแค่ฝูงบินของการบินไทยแต่ต้องรวมของไทยสมายล์ไปด้วย รวม 2 สายการบินมีเครื่องบินที่ใช้งานขณะนี้ได้ราว 90-93 ลำ เพื่อพิจารณาการปรับเน็ตเวิร์กเส้นทางการบินให้เกิดประสิทธิภาพด้วย นายสุเมธ กล่าวทิ้งท้าย

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า หลังจากการบินไทยได้ว่าจ้างบริษัท Accenture ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก มาตรวจสอบแผนของการบินไทยให้สอดคล้องเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจการบินในอนาคต โดยเน้นการวางแผนเรื่องเน็ตเวิร์กของการบินไทยในอีก 5-6 ปีข้างหน้านี้ เพื่อวางแผนการจัดซื้อฝูงบินใหม่ให้เหมาะสม รวมถึงแผนการขายเครื่องบินที่จะเกิดขึ้น ซึ่งที่ปรึกษามีคำแนะนำที่ดีในการปรับปรุงการทำงานของการบินไทยในหลายเรื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่การบินไทยไม่เคยทำมาก่อน ขณะที่สายการบินทั่วโลกก็ใช้กัน

เช่น การร่วมลงทุนกับสายการบินพันธมิตร ในการเปิดเส้นทางบินใหม่ๆ โดยที่การบินไทยไม่ต้องทำการบินเอง แต่ใช้วิธีการแชร์ค่าใช้จ่ายและแบ่งกำไรที่จะเกิดขึ้น หรือแม้แต่การขายเครื่องบิน ซึ่งสายการบินของต่างประเทศจะขายเครื่องบินก่อนจะปลดระวางเครื่องบิน แล้วเช่ากลับมา เพื่อทำให้ได้ราคาขายที่ดี ตรงข้ามกับการบินไทยที่จะขายเครื่องบินก็ต่อเมื่อมีการปลดระวาง ทำให้ขายยากและราคาไม่ดี ทำให้การบินไทยมีเครื่องบินที่ยังไม่สามารถขายได้กว่า 20 ลำและมีภาระด้อยค่าเครื่องบิน ซึ่งการบินไทยก็จะนำมาปรับวิธีการทำงานใหม่ 

โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3464 ระหว่างวันที่ 25 - 27 เมษายน 2562

TGรื้อระบบจัดหาเครื่องบิน, ยึดROAเพิ่มศักยภาพการจัดการทรัพย์สินดันรายได้เพิ่ม