เอกชนจี้เร่งเจรจามะกัน โวยไทยยับกีดกันนำเข้า

22 เม.ย. 2562 | 07:09 น.

ยูเอสทีอาร์ออกรายงานอัดไทยจำกัดนำเข้าสินค้าและบริการ กีดกันนำเข้าหมูเนื้อแดง ไก่งวง แถมใช้มาตรการคุมสินค้าบางรายการไม่โปร่งใส

 

สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้เผยแพร่ รายงานประเมินสถานการณ์การค้าประจำปี 2562 (2019 National Trade Estimate Report) ซึ่งเป็นการประเมินสถานการณ์การค้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าทั่วโลก รวมถึงไทยเป็นประจำทุกปี โดยในส่วนของไทย สหรัฐฯ ระบุว่า  ปี 2561 ไทยเป็นคู่ค้าสินค้าอันดับ 26 ของสหรัฐฯ ในตลาดโลก โดยสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทย 19,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.2% โดยสหรัฐฯ ส่งออกมาไทย 12,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 14.5% และนำเข้าจากไทย 31,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.4%

เอกชนจี้เร่งเจรจามะกัน โวยไทยยับกีดกันนำเข้า

ส่วนการค้าสินค้าบริการ ตัวเลขล่าสุดปี 2560 พบว่า สหรัฐฯ ส่งออกมาไทย 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้าจากไทย 3,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การลงทุนโดยตรง (FDI) ในปี 2560 สหรัฐฯ ลงทุนในตลาดหุ้นไทย 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 16.7% ส่วนใหญ่ลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ค้าส่ง บริการด้านเทคโนโลยี เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ เห็นว่านโยบายด้านต่างๆ ของไทย ยังจำกัดการเข้าสู่ตลาดของสินค้าและบริการของสหรัฐฯ โดยในส่วนการเก็บภาษีนำเข้า แม้ไทยเก็บภาษีสินค้าบางชนิดต่ำ แต่บางชนิดกลับเก็บสูงมาก เช่น สินค้าเกษตร ไทยผูกพันอัตราภาษีไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) เฉลี่ย 39.5% ของมูลค่านำเข้า ซึ่งในปี 2561 เก็บจริงเฉลี่ย 25.1% แต่ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เก็บที่ 30-50% ขณะที่บางสินค้ามีโควตาภาษี เช่น ข้าวโพด ภาษีในโควตา 20% แต่นอกโควตาสูงถึง 73% , ผลไม้สดอย่างลูกแพร์ เชอร์รี่ องุ่น เฉลี่ย 30-40% ยิ่งไปกว่านั้น การที่ไทยทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ ที่เป็นคู่แข่งของสหรัฐฯ อย่างออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ทำให้ไทยเก็บภาษีนำเข้าผลไม้สดจากประเทศเหล่านี้ในอัตราต่ำ ส่งผลให้สินค้าเกษตรของสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบ และเสียศักยภาพในการแข่งขัน

 

สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม ไทยผูกพันกับ WTO เฉลี่ย 25.6% แต่เก็บจริงต่ำมาก เฉลี่ย 7.2% แต่สินค้าบางรายการเก็บสูงมาก เช่น รถยนต์ 80% , มอเตอร์ไซค์ และเสื้อผ้า 60% , เหล้ากลั่น 54-60% เป็นต้น และยังใช้มาตรการกีดกันการค้า เช่น การนำเข้าสินค้าบางชนิดต้องมีใบอนุญาตนำเข้า อย่างวัตถุดิบหลายรายการ , ปิโตรเลียม , เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม, สิ่งทอ , ยา , สินค้าเกษตรหลายรายการ และต้องขออนุญาตจากหลายหน่วยงาน ขณะที่บางรายการ ไม่ต้องใช้ใบอนุญาตนำเข้า แต่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมพิเศษ และมีใบรับรอง

เอกชนจี้เร่งเจรจามะกัน โวยไทยยับกีดกันนำเข้า

ขณะเดียวกัน ไทยยังมีคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีอำนาจควบคุมราคาสินค้าและบริการ หรือกำหนดราคาเพดานสูงสุด เช่น น้ำตาล เนื้อหมู น้ำมันพืช น้ำมันเชื้อเพลิง ยา ถึงแม้จะมีการทบทวนรายการสินค้าและบริการทุกปี แต่การควบคุมราคาเป็นกลไกหนึ่งที่ไม่โปร่งใส เพราะในทางปฏิบัติ รัฐบาลไทยมีอิทธิพลกับตลาดในประเทศ

 

ทั้งนี้ ในรายงานยังระบุอีกว่า ไทยกีดกันด้านสุขอนามัย โดยเฉพาะการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ ที่ไทยยังไม่ยอมรับมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX) ที่ยอมให้มีสารเร่งเนื้อแดงแรคโตพามีนได้ในปริมาณที่กำหนด ส่งผลให้จนถึงขณะนี้ ไทยยังไม่ยอมนำเข้าเนื้อหมูสหรัฐฯ เช่นเดียวกับการนำเข้าไก่งวงที่จนถึงขณะนี้ไทยยังไม่ยอมนำเข้า ทั้งๆ ที่สหรัฐฯปลอดโรคไข้หวัดนกระบาดมานานหลายปีแล้ว

เอกชนจี้เร่งเจรจามะกัน โวยไทยยับกีดกันนำเข้า

นอกจากนี้ ไทยยังใช้มาตรการอุดหนุนต่างๆ ที่ไม่ได้แจ้งไว้กับ WTO เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุนบางมาตรการ การส่งเสริมการส่งออก รวมถึงการอุดหนุนสินค้าเกษตร เช่น มาตรการจำนำยุ้งฉาง ส่วนทรัพย์สินทางปัญญา สหรัฐฯ ยังกังวลกับการละเมิดซอฟต์แวร์ การขโมยสัญญาณเคเบิลทีวีและดาวเทียม การลักลอบแอบถ่ายหนังในโรงหนัง และการยังไม่มีผลบังคับใช้ของกฎหมายที่ป้องกันการละเมิดบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

 

พร้อมกันนี้ ไทยยังมีข้อจำกัดในภาคบริการ ทั้งบริการด้านกฎหมาย บริการด้านบัญชี บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ บริการด้านวิศวกรรม บริการด้านการขนส่ง บริการด้านการเงิน รวมถึงยังกีดกันด้านการลงทุนตามกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยเฉพาะในสาขา เช่น สื่อสาร ขนส่ง ทรัพยากรธรรมชาติ ค้าในประเทศ ค้าสินค้าเกษตร เป็นต้น อีกทั้งสหรัฐฯ กังวลถึงกระบวนการที่รัฐบาลไทยจะนำมาใช้ทบทวนกฎหมาย หรือกฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุน ที่ขาดความโปร่งใส เช่น กฎระเบียบการจัดซื้อยา ซึ่งสหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทย พัฒนากฎหมาย และกฎระเบียบใหม่ รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับยา ให้มีกระบวนการที่โปร่งใสมากขึ้น

เอกชนจี้เร่งเจรจามะกัน โวยไทยยับกีดกันนำเข้า

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า สหรัฐฯ ยังคงให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบาย และมาตรการต่างๆ ของไทย ที่คล้ายกับที่เคยให้ความเห็นมาแล้วทุกปี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะชี้แจงให้สหรัฐฯ เข้าใจถึงนโยบายต่างๆ ที่ไทยนำมาใช้ต่อไป

เอกชนจี้เร่งเจรจามะกัน โวยไทยยับกีดกันนำเข้า

ด้าน นายบัณฑูร  วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า “ไทยทำการค้าไม่เป็นธรรมกับเขาจริง ที่เขาว่ามาก็เป็นจริงทั้งหมด และไทยมีโอกาสถูกสหรัฐฯตอบโต้ทางการค้า เว้นแต่ไทยจะรีบเจรจาเหมือนเขาต้องการ”  พร้อมอธิบายว่า  ตั้งแต่อดีตมานั้น ด้วยเหตุผลที่ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา จึงต้องมีการได้เปรียบสหรัฐฯในการทำการค้าระหว่างกัน เป็นกติกาที่สหรัฐฯ ยอมรับได้มานานแล้ว  แต่ต่อมาเมื่อไทยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นเรื่อยๆ สถานะของไทยจึงเปลี่ยนไป ประกอบกับการที่ไทยไม่ได้ทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯ แต่ทำกับประเทศอื่น ๆ ทำให้สหรัฐฯเสียเปรียบในการส่งสินค้ามาไทย ทำให้ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯมากเป็นอันดับต้น ๆจึงเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ว่า สหรัฐฯต้องการเจรจากับไทยเพื่อลดการขาดดุลการค้า

เอกชนจี้เร่งเจรจามะกัน โวยไทยยับกีดกันนำเข้า