"เทรดวอร์"ยื้อ ส่งออก มี.ค.วูบ !! ฉุด Q1 ยังติดลบ 1.6%

22 เม.ย. 2562 | 05:32 น.

พาณิชย์ชี้ความกังวลต่อสงครามการค้า และราคาน้ำมัน ฉุดตัวเลขส่งออกเดือนมีนาคมยังหดตัว 4.9%  ส่งผลให้การส่งออกไตรมาสแรกติดลบ1.6 % ชี้ทั้งปีส่งออกไทยยังมีโอกาสขยายตัวในกรอบ 3-6%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยถึง มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยเดือนเดือนมีนาคม 2562 กลับมาหดตัวที่ 4.9 % โดยมีมูลค่ากรส่งออก 21,440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามแนวโน้มการค้าโลก ซึ่งมาจากประเด็นข้อพิพาททางการค้าที่ยังยืดเยื้อแม้ว่าเริ่มมีสัญญาณความชุดเจนมาขึ้น รวมถึงปัจจัยภายนอก  เช่น แนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นหลังซาอุดิอาราเบียประกาศเพิ่มกำลังการผลิต ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าในสหรัฐฯ และการเมืองในยุโรป ความเสี่ยงในตลาดสินเชื่อของจีนจากการผิดนัดชำระหนี้ของเอกชน และความตึงเครียดของสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน นอกจากนี้ราคาส่งออกยังถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ขยายตัวในระดับต่ำ

"เทรดวอร์"ยื้อ ส่งออก มี.ค.วูบ !! ฉุด Q1 ยังติดลบ 1.6%

ส่วนปัจจัยบวกที่สนับสนุนต่อการส่งออกในเดือนมีนาคม 2562 เช่น บรรยากาศสงครามการค้าเริ่มลดความตึงเครียดลง ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนลง ภาพลักษณ์ของสินค้าที่สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค รวมถึงมาตรการส่งเสริมการค้าเชิงรุกเจาะตลาดรายพื้นที่ในหลายมณฑล/รัฐ ของจีนและอินเดีย อย่างไรก็ดี ยังคงต้องเฝ้าระวัง ปัจจัยเสี่ยงภายนอก อาทิ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายการค้าและการมีผลใช้บังคับใช้ของ FTAในประเทศต่าง ๆ ที่อาจกระทบต่อความสามารถในการส่งออกของไทย

“อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกในเดือนมีนาคมยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ และมีแนวโน้มสูงขึ้นจากต้นปี 2562 โดยมีสินค้าหลายรายการสำคัญยังขยายตัวได้ดี  เช่น สินค้ากลุ่มอาหาร รถยนต์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง ส่งผลให้การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2562 การส่งออกหดตัวเล็กน้อยที่ 1.6%  ส่วนการนำเข้าเดือนมีนาคมมีมูลค่า 19,436 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เดือนมีนาคมคมไทยยังเกินดุลการค้า2,005ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ "เทรดวอร์"ยื้อ ส่งออก มี.ค.วูบ !! ฉุด Q1 ยังติดลบ 1.6%

 ส่วนแนวโน้มการส่งออกไตรมาส 2 คาดว่าจะกลับมาเป็นบวกได้อีกครั้ง ภายใต้มูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนจะต้องเกิน 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการส่งออกทั้งปีที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายเติบโต 8%  คาดว่าจะทำได้ค่อนข้างยาก แต่หากให้ได้ตามเป้าหมายการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนจะต้องมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหากยังคงรักษาระดับมูลค่าการส่งออกต่อเดือนได้ 21,000-22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็มีโอกาสที่จะขยายตัวได้ในกรอบ 3-6 %

ทั้งนี้การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยในเดือนมีนาคมกลับมากลับมาขยายตัวที่ 3.2% (YoY) สินค้าเกษตรสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 30% (ขยายตัวระดับสูงในตลาดจีน และตลาดอื่นๆ อาทิ เวียดนาม ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย) ไก่สด แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัว14.2% (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้) ยางพารา กลับมาขยายตัวในรอบ 16 เดือนที่ 6.5% (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และอินเดีย) ทูน่ากระป๋อง ขยายตัว 6.4% (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ลิเบีย ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)

 

ส่วนสินค้าเกษตรสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย หดตัว 23.0% (หดตัวในตลาดไต้หวัน กัมพูชา ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเมียนมา แต่ยังขยายตัวอินโดนีเซีย และเกาหลีใต้) ข้าว หดตัวที่ 7.7% (หดตัวในตลาดจีน และแคเมอรูน แต่ขยายตัวได้ดีในตลาดเบนิน สหรัฐฯ และอังโกลา) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวที่ 9.4% (หดตัวในตลาดจีน ไต้หวัน และมาเลเซีย แต่ยังขยายตัวได้ดีในญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย) รวมไตรมาสแรกของปี 2562 สินค้าเกษตรหดตัว 0.2%

ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนมีนาคมหดตัวที่ 6.0% (YoY) สินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 5.6% (ขยายตัวระดับสูงในตลาดเวียดนาม และตลาดอื่นๆ อาทิ สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัว 20.7% (ขยายตัวในตลาดสหราชอาณาจักร สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และเมียนมา) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 14.8% (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เวียดนาม ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้) เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 20.6% (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อินเดีย ฮ่องกง เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 20% (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย และจีน แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดญี่ปุ่น และเวียดนาม) สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัว 11.3% (หดตัวในตลาดจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย แต่ยังขยายตัวในตลาดมาเลเซีย กัมพูชา และญี่ปุ่น) แผงวงจรไฟฟ้า หดตัว 21.7% (หดตัวในตลาดฮ่องกง ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และจีน แต่ยังขยายตัวในมาเลเซีย) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล หดตัว 19.5% (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย และอินเดีย แต่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ และเยอรมนี) รวมไตรมาสแรกของปี 2562 มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวที่ 1.5%

 

ส่วนภาพรวมการส่งออกรายตลาดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562ตลาดส่วนใหญ่ยังหดตัว ส่วนมากยังได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีการนำเข้าของสหรัฐฯ และจีน ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงต่อสินค้าที่ถูกปรับขึ้นภาษี และผลกระทบทางอ้อมผ่านเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอลงและบรรยากาศการค้าที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกของโลกและไทยได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

โดยในส่วนของตลาดสหรัฐอเมริกา ไตรมาสแรกของปี 2562 ขยายตัว 32.2%,  ตลาดญี่ปุ่น หดตัว 1.6% ,ตลาดสหภาพยุโรป(15) หดตัว 6.5% ,ตลาดอาเซียน(5)  หดตัว 7.5% ,ตลาด CLMV ขยายตัว 0.2% ,ตลาดจีน หดตัว 9.2% ,ตลาดเอเชียใต้ หดตัว 3.8% , ตลาดอินเดีย ขยายตัว 2.1%, ตลาดทวีปออสเตรเลีย หดตัว 11.6%, ตลาดตะวันออกกลาง (15) หดตัว 7% , ตลาดรัสเซีย และกลุ่มประเทศ CIS  หดตัว 8.0%  และตลาดลาตินอเมริกา หดตัว 3.4%

 

กระทรวงพาณิชย์ เชื่อว่าแผนกิจกรรมส่งเสริมการค้าตลอดทั้งปีจะช่วยให้การส่งออกขยายตัวได้ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2562 นี้ โดยกระทรวงฯ ยังเร่งจัดกิจกรรมกระตุ้นการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการขายในรูปแบบออนไลน์บนเว็บไซต์ Thaitrade.com และการเชื่อมต่อ e-Marketplace ชั้นนำ เดินหน้าผลักดันกิจกรรมเจาะตลาดศักยภาพเป็นรายมณฑล/รัฐ ในตลาดจีนและอินเดีย และการจัดคณะผู้แทนเพื่อขยายการส่งออกในตลาดใหม่ อาทิ ตลาดแอฟริกา ลาตินอเมริกา และยุโรปตะวันออก”