จัดสรรผลประโยชน์ดิวตี้ฟรีอย่างเป็นธรรม

21 เม.ย. 2562 | 12:08 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3463 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 21-24 เม.ย.2562

 

จัดสรรผลประโยชน์

ดิวตี้ฟรีอย่างเป็นธรรม

 

          ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 18 เมษายน มีมติเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการ เสนอ โดยไม่กำหนดให้กิจการร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ เป็นกิจการที่เข้าเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 หรือพ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่ ส่งผลให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. สามารถเดินหน้าเปิดประมูลโครงการดิวตี้ฟรีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ต่อไป

          นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ PPP ให้เหตุผลว่าธุรกิจดิวตี้ฟรีถือว่าไม่มีความจำเป็นที่ท่าอากาศยานจะต้องมี เพราะแม้ว่าไม่มีดิวตี้ฟรีก็ไม่กระทบต่อกิจการท่าอากาศยาน พร้อมยอมรับว่าการพิจารณากิจการดิวตี้ฟรี ถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน เนื่องจากได้เปิดประมูลไปแล้ว หากไม่รีบออกประกาศอาจสร้างความเสียหายในภายหลัง

          ขณะนี้มีเอกชนให้ความสนใจซื้อซองประมูลดิวตี้ฟรี ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 5 ราย ได้แก่ 1. บจก. สรรพสินค้าเซ็นทรัล 2. บจก. คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี 3. บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล 4. บมจ. การบินกรุงเทพ และ 5. บมจ. รอยัลออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย) โดยทอท.มีกำหนดเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 22 พฤษภาคม 2562

          การที่กิจการดิวตี้ฟรีไม่ต้องดำเนินการตามขั้นตอน พ.ร.บ. ร่วมทุนฉบับใหม่ แม้ว่าจะทำให้ ทอท.สามารถเปิดประมูลโครงการดิวตี้ฟรีได้เร็วขึ้น แต่ ทอท.ควรนำข้อกำหนดต่างๆ ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่มาปรับใช้ เพื่อให้การเปิดประมูลดิวตี้ฟรีครั้งนี้ สอดคล้องกับแผนแม่บทด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด้านสังคมของประเทศ รวมทั้งจะต้องมีการจัดสรรความเสี่ยงและผลประโยชน์ตอบแทนระหว่าง ทอท.กับเอกชนที่ชนะการประมูลอย่างเป็นธรรมมีความคุ้มค่าในการดําเนินโครงการ

          ที่สำคัญทอท.ควรจัดตั้งคณะกรรมการที่มีผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงานเข้ามากำกับดูแลในทุกขั้นตอน ทั้งก่อนและหลังการประมูล โดยเฉพาะการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแลการปฏิบัติตามสัญญาอย่างเคร่งครัด และควรมีการเปิดเผยผลการดำเนินงานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ในทุกกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง